ในปี 2017 เมือง Bangalore ซึ่งเป็นเมืองที่มีชื่อเสียงด้านอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ (Silicon Valley of India) ได้ถูกลบหายไปจากแผนที่โลก มิใช่เพราะถูกถล่มด้วยสึนามิ ใต้ฝุ่น หรือระเบิดปรมาณู แต่เพราะชื่อ Bangalore เป็นชื่อที่ชาวอังกฤษตั้งเมื่อครั้งที่อังกฤษเข้ายึดครองอินเดีย และได้เปลี่ยนชื่อ Bengaluru ซึ่งในภาษาท้องถิ่น แปลว่า เมืองถั่วต้ม เป็น Bangalore ครั้นเมื่ออินเดียได้รับเอกราชในปี 1947 ขาวอินเดียจึงเรียกร้องให้กลับไปใช้ชื่อเดิม ดังนั้น เมือง Bangalore จึงกลายเป็น Bengaluru เหมือนเดิม ด้านชื่อ Bombay ก็ถูกเปลี่ยนไปเป็น Mumbai และ Madras ก็เปลี่ยนเป็น Chennai เพื่อคงไว้ซึ่งความเป็นชาติที่มีมานานก่อนถูกยึดครอง ไม่เพียงแต่ชาวอินเดียเท่านั้นที่ได้หวนกลับไปใช้ชื่อเมืองเดิม ชาวพม่าก็ได้เปลี่ยนชื่อ จาก Burma เป็น Myanmar และเปลี่ยนชื่อเมือง Rangoon เป็น Yangon ด้วย
ด้านประเทศแอฟริกาใต้ เมื่อประเทศได้รับเอกราชในปี 2002 ก็ได้เปลี่ยนชื่อเมือง Pietersburg เป็น Polokwane ซึ่งแปลว่า สถานที่ปลอดภัย และได้พิจารณาเปลี่ยนชื่อเมืองหลวง Pretoria เป็น Tshwane ตามชื่อของหัวหน้าเผ่าก่อนยุคอาณานิคม แต่ถูกพวกชาวผิวขาวที่เหยียดผิวต่อต้าน ด้านประเทศอิรัก หลังจากที่ Saddam Hussein ถูกกำจัดโดยการประหารชีวิต ผู้คนได้พยายามลบล้างหลักฐานต่างๆ ที่จอมเผด็จการได้ทำไว้ จึงเปลี่ยนชื่อเมือง Saddam City เป็น Sadr City ซึ่งเป็นชื่อของผู้นำศาสนานิกาย Shi-ite ที่มีนาม ว่า Muqtada al Sadr และถูก Saddam สังหารอย่างเลือดเย็น
ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีความคล่องตัวสูงและเชิดชูการมีเสรีภาพมากที่สุดชาติหนึ่งของโลก ก็มีเหตุผลในการเปลี่ยนชื่อเมือง Halfway ในรัฐ Oregon ซึ่งมีประชากร 337 คนในปี 1999 เป็นชื่อ Half.com เป็นเวลานาน 1 ปี เพราะชาวเมืองได้รับเงินบริจาคจากบริษัทคอมพิวเตอร์มูลค่า 100,000 เหรียญ กับ PC 20 เครื่อง ให้ชาวเมืองใช้ ด้านเมือง Clark ในรัฐ Taxas ก็ได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น DISH เพราะเครือข่ายทีวี ชื่อ DISH ได้ยินยอมให้ชาวเมืองได้ใช้บริการของบริษัทเป็นเวลา 10 ปี โดยไม่คิดค่าบริการ
ในวงการวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะสาขาชีววิทยา ซึ่งเป็นวิทยาการที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมาก ไม่ว่าจะเป็น เรื่องพืช สัตว์ เชื้อโรค ก็มีความจำเป็นต้องตั้งชื่อบ่อยเช่นกัน และเมื่อใครๆ ก็ต้องการจะมีชื่ออย่างเป็น อมตะนิรันดร์กาล หรือบางครั้งก็ต้องการแสดงออกซึ่งความรักต่อคู่ชีวิต จึงตั้งชื่อของสัตว์สปีชีส์ใหม่ หรือพืชชนิดใหม่ให้เป็นชื่อของคนรัก ความต้องการลักษณะนี้ทำให้ที่ประเทศเยอรมนีมีหน่วยงาน NGO หน่วยหนึ่ง ชื่อ BIOPAT ซึ่งได้ตระหนักว่า โลกมีสิ่งมีชีวิตประมาณ 90% ที่ยังไม่มีชื่อ และเมื่อนักชีววิทยาค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ประมาณ 30,000 ชนิดทุกปี ดังนั้นหน่วยงานจึงประกาศจะขายชื่อให้แก่คนที่มอบเงินให้หน่วยงาน เพื่อให้ตัวเองมีชื่อวิทยาศาสตร์ ด้วยเหตุนี้เราจึงมีหอยทากทะเลสายพันธุ์ borisbeckeri ตามชื่อของนักเทนนิสเยอรมัน แชมป์วิมเบิลดัน ชื่อ Boris Becker หลังจากที่ผู้พบหอยซึ่งคลั่งไคล้ Becker ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ธรรมชาติของหอยในวารสารวิชาการแล้ว ชื่อหอยใหม่ก็ได้เป็นที่ยอมรับในวงวิชาการนานาชาติในทันที
ในเวลาต่อมา BIOPAT ได้กำหนดว่าการจะใช้ชื่อละติน เป็นชื่อของสิ่งมีชีวิตใหม่ ผู้ต้องการชื่อต้องเสียเงินประมาณ 100,000 บาท/ชื่อ โดยเงินครึ่งหนึ่งจะมอบให้แก่สถาบันที่กำลังวิจัยสิ่งมีชีวิตใหม่นั้น และอีกครึ่งหนึ่งจะมอบให้แก่องค์กรที่พยายามปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ เมื่อเหตุและผลเป็นเช่นนี้ วงการอนุกรมวิธานวิทยา (taxonomy) จึงมีชื่อของคนสำคัญเป็นชื่อของแมลงเต่าทองสายพันธุ์ Agra schwarzeneggeri ตามชื่อของอดีตชายงามจักรวาล Arnold Schwarzernegger และมีชื่อสกุล (genus) ของหนอนตัวแบน ว่า Obama เป็นต้น
เพราะชื่อและนามสกุล (ในสมัยนี้) มีความแปลกประหลาดพอประมาณ ดังนั้นความยุ่งยากในการอ่านและเขียนชื่อของสิ่งมีชีวิตจึงเกิดตามมา เพราะในบางกรณี ชื่อและสกุลเขียนและอ่านยากมาก ดังในกรณีพืชสปีชีส์ Rhodostemonodaphne crenatirupulan เพราะคนเขียนชื่อนี้และเข้าใจความหมายได้อย่างถูกต้อง ต้องมีความสามารถและความรู้ภาษาศาสตร์ ชีววิทยา และปรัชญา พอสมควร กระนั้นความว้าวุ่นก็ยังอาจจะเกิดจากความผิดพลาดในการตั้งชื่อด้วย เพราะในบางครั้ง การตั้งชื่อของสัตว์ นักวิจัยในอดีตใช้ข้อมูลผิดและไม่สมบูรณ์ ทำให้พื้นฐานและหลักการที่ใช้ในการตั้งชื่อจึงผิดตาม ดังนั้นนักอนุกรมวิธานวิทยาต้องมีการเก็บรวบรวมข้อมูลทุกชนิดอย่างเป็นระบบ โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อให้นักวิชาการคนอื่นๆ สามารถตรวจสอบได้ ยิ่งเมื่อโลกกำลังประสบปัญหาโลกร้อน และการคุกคามจากภัยธรรมชาติ จนทำให้สิ่งมีชีวิตจำนวนมากต้องสูญพันธุ์ ก่อนที่นักชีววิทยาจะรู้ว่า มันเคยมีชีวิตอยู่บนโลก การตั้งชื่อสิ่งมีชีวิตที่ได้สูญพันธุ์ไปแล้ว จึงมีความน่าตื่นเต้นเหมือนการตั้งชื่อใหม่ของคนที่เสียชีวิตไปแล้ว หรือแม้แต่การตั้งชื่อสัตว์ในจินตนาการ เช่น อสูรกาย Loch Ness หรือแม้แต่พญานาคก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะสามารถเติมเต็มความรู้ด้านวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตได้
เมื่อความว้าวุ่นต่างๆ เกิดจากการพยายามตั้งชื่อทางชีววิทยา โดยได้ใช้ข้อมูลที่ยังไม่สมบูรณ์ ดังนั้นทุกคนจึงเห็นพ้องกันว่า วงการวิชาการสมควรร่วมมือกันและฟังความคิดเห็นจากคนในวงการอื่นๆ ด้วย เพื่อให้ความคิดของ Carl von Linne ซึ่งได้คิดการตั้งชื่อขึ้น เมื่อ 262 ปีก่อน ว่าให้ใช้ชื่อ 2 คำ โดยคำแรกแสดง genus และคำที่สองบอก species และให้เขียนเป็นภาษาละติน บรรลุถึงความสมบูรณ์แบบ เพราะในบางครั้งนักชีววิทยา นักนิเทศวิทยา และนักอนุรักษ์ อาจจะมีความรู้สึกไม่มั่นใจว่า ตนกำลังศึกษาสิ่งมีชีวิตอะไรที่ใหม่ และสมควรจะมีชื่อใหม่ว่าอะไร และจะอนุรักษ์มันหรือไม่ เพราะสิ่งมีชีวิตนั้นๆ อาจจะมีอยู่อย่างดาษดื่นแล้ว ดังนั้น จึงเป็นเรื่อไม่น่าประหลาดใจที่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติต่างๆ ในโลกมีสิ่งมีชีวิตหลายชนิดที่ยังมีชื่อผิดพลาด ยิ่งเมื่อผู้พบสัตว์สปีชีส์ใหม่มีสิทธิ์ตั้งชื่อด้วย ความนิยมส่วนตัวก็ยิ่งทำให้หลักการตั้งชื่อในบางครั้งไม่ศักดิ์สิทธิ์ เช่น ในปี 1933 ได้มีการตั้งชื่อของด้วง สปีชีส์ใหม่ว่า Anophthalmus hitleri ในเวลาต่อมาได้มีคนตั้งชื่อด้วงสปีชีส์เดียวกันนี้ โดยใช้ชื่อของประธานาธิบดี Bush ซึ่งก็คงทำให้ Bush ไม่รู้สึกยินดีนักที่มี “เพื่อน” ชื่อ Hitler แม้ในบางครั้ง ความขัดแย้งทางการเมืองและส่วนตัว ระหว่างนักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานในสองประเทศก็ได้สร้างความวุ่นวายเวลาตั้งชื่อ เช่นในปี 2005 นักอนุกรมวิธานวิทยาชาวตุรกี กับชาว Kurd ได้สร้างปัญหาการตั้งชื่อสัตว์ท้องถิ่นชนิดเดียวกัน และต่างคนต่างตั้งชื่อในภาษาของตน จึงได้พยายามชัดขวางไม่ให้ Zoobank ยอมรับชื่อที่เพื่อนอีกชาติพันธุ์หนึ่งตั้ง (Zoobank เป็นชื่อขององค์กร International Commisson on Zoological Nomenclature, ICZN) ซึ่งตั้งอยู่ที่ Natural History Museum ในกรุง London)
เวลานักอนุกรมวิธานวิทยาปัจจุบันต้องการจะศึกษาสิ่งมีชีวิตบางชนิด ไม่ว่าสิ่งนั้นจะอยู่สถานที่ใดในโลก เขาอาจจะขอยืมภาพหรือ clip จาก Zoobank มาดูได้ (แทนที่จะต้องเดินทางไปดูด้วยตา) โดย Zoobank จะทำงานร่วมกับองค์กรที่มีจุดประสงค์เดียวกันทั้งในอเมริกาและฝรั่งเศส นี่จึงเป็นความร่วมมือระหว่างนักชีววิทยาในศตวรรษที่ 21 ซึ่งได้พัฒนามาจากการทำงานของนักชีววิทยาในคริสตวรรษที่ 18 เพื่อให้เรารู้ว่า การวิจัยด้านอนุกรมวิธานวิทยาเป็นวิทยาการที่มีอนาคต และถ้ามีการตั้งชื่ออะไรอะไรผิดพลาด คนที่เกี่ยวข้องต้องแก้ไข นั่นหมายถึง ถ้าตั้งชื่อผิดก็ต้องตั้งชื่อใหม่ด้วย
วงการเคมีก็มีปัญหาในการตั้งชื่อธาตุ (แต่น้อยกว่านักชีววิทยาหลายเท่า) เช่นในปี 1961 ห้องปฏิบัติการของอเมริกาและรัสเซีย ต่างก็อ้างเป็นผู้สังเคราะห์ธาตุที่ 104 ได้เป็นครั้งแรก และนักวิจัยฝ่ายอเมริกาได้เสนอให้ตั้งชื่อว่า rutherfordium ตามชื่อของ E. Rutherford ผู้สามารถแยกอะตอมได้เป็นคนแรก ส่วนทางรัสเซียก็ได้เสนอให้เรียกชื่อว่า kurchatovium ซึ่งเป็นหัวหน้าโครงการผลิตระเบิดปรมาณูของรัสเซีย แต่ในที่สุดธาตุที่ 104 ก็ได้ชื่อเป็น rutherfordium (Rf) เพราะข้อมูลของธาตุนี้ที่อเมริกาพบ มีความสมบูรณ์กว่าและถูกต้องกว่า และในกรณีธาตุที่ 106 ซึ่งรู้จักกันในนาม seaborgium ตามชื่อของ Glenn Seaborg ผู้ได้สังเคราะห์ธาตุประดิษฐ์เป็นจำนวนมาก ในเบื้องต้นสมาคมเคมีไม่ยอมรับ เพราะตามหลักการเดิม ชื่อธาตุจะต้องตั้งตามชื่อของคนที่เสียชีวิตไปแล้วเท่านั้น แต่ในที่สุด International Union of Pure and Applied Chemistry (IUPAC) ก็ยินยอม และให้ห้องปฏิบัติการรัสเซียได้ตั้งชื่อธาตุที่ 105 ว่า dubnium ตามชื่อเมือง Dubna ในรัสเซีย ซึ่งมีห้องปฏิบัติการที่พบธาตุใหม่นี้
วงการดาราศาสตร์ก็มีปัญหาพอสมควรในการตั้งชื่อดาว และกาแล็กซี่ที่ใหม่า แต่ไม่ถึงขนาดเอาเป็นเอาตายเท่านักชีววิทยา หลักการที่ International Astronomical Union (IAU) ยึดถือ คือ ต้องไม่ใช่ชื่อนักการเมือง หรือแม่ทัพใดๆ จนกว่าบุคคลนั้นได้เสียชีวิตไปนานกว่า 1 ศตวรรษแล้ว นอกจากนี้ชื่อที่ตั้งใหม่จะต้องเป็นคำสุภาพ และมีอักษรไม่เกิน 16 ตัว อีกทั้งไม่เป็นชื่อของสัตว์เลี้ยง หรือชื่อเล่นของใครด้วย
สำหรับในกรณีการตั้งชื่อดาวเคราะห์น้อย คนที่เห็นดาวเคาระห์น้อยเป็นคนแรกยังไม่สามารถเสนอชื่อได้ในทันที จนกว่านักดาราศาสตร์จะได้คำนวณวิถีโคจรของดาวเคราะห์น้อยได้แยกออกจากวิถีโคจรของดาวเคราะห์น้อยอื่นๆ ทั้งหมด จากนั้นคนที่เห็นเป็นคนแรกจึงได้สิทธิ์เสนอชื่อ
สำหรับการตั้งชื่อกลุ่มดาวต่างๆ ในท้องฟ้านั้น ก็มีประเด็นที่น่าสนใจว่า นักดาราศาสตร์ในสมัยโบราณได้เคยตั้งชื่อไว้มากมาย เช่น กลุ่มดาวแพะทะเล (Capricornus) กลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำ (Aquarius) กลุ่มดาวปลา (Pisces) กลุ่มดาวแกะ (Aries) กลุ่มดาววัว (Taurus) กลุ่มดาวคนคู่ (Gemini) กลุ่มดาวปู (Cancer) กลุ่มดาวสิงโต (Leo) กลุ่มดาวหญิงสาว (Virgo) กลุ่มดาวคันชั่ง (Libra) กลุ่มดาวแมงป่อง (Scorpius) และกลุ่มดาวคนยิงธนู (Sagittarius) ซึ่งเป็นชื่อที่ได้มาจากจินตนาการ และได้ผนวกหลักการทางโหราศาสตร์เข้าไป ตลอดเวลาที่ผ่านมานักดาราศาสตร์ปัจจุบันได้ตั้งชื่อกลุ่มดาว ทั้งในฟ้าซีกเหนือและใต้เพิ่มเติมรวมทั้งสิ้น 88 กลุ่ม ซึ่งกลุ่มดาวเหล่านี้ได้อยู่แยกกันอยู่โดยไม่ซ้อนทับกัน
ประวัติดาราศาสตร์ได้กล่าวถึงนักดูดาวในอดีตว่าได้ใช้จินตนาการประกอบการในการตั้งชื่อกลุ่มดาวมาเป็นเวลาร่วม 6,000 ปี คือตั้งแต่เมื่อ 3,900 ปีก่อนคริสตกาล โดยชาว Akkadian (ตั้งถิ่นฐานอยู่ในอิรักปัจจุบัน) ได้กล่าวถึงจักรราศี (zodiac) ทางโหราศาสตร์ว่าเป็นรอยไถบนสวรรค์ (furrow of heaven)
จนกระทั่งถึงยุคกรีก กวี Homer ซึ่งได้เรียบเรียงนวนิยาย ชื่อ Iliad และ Odyssey เมื่อ 780 ปีก่อนคริสตกาล ได้กล่าวถึง กลุ่มดาวหมีใหญ่ ( Ursa Major ) กับกลุ่มดาวนายพราน ( Orion ) นั่นแสดงว่า นักเดินเรือในสมัยนั้นได้ใช้กลุ่มดาวเป็นเข็มทิศช่วยในการเดินทางแล้ว
ลุถึงเมื่อ 350 ปีก่อนคริสกาล ปราชญ์กรีก ได้กล่าวถึงวิถีโคจรของดวงอาทิตย์ว่าโคจรผ่านกลุ่มดาวต่างๆ เป็นวงกลม ซึ่งเรียกว่า zodiakos kyklos ซึ่งแปลว่าวงกลมที่มีสัตว์หลายชนิด ( แพะ แกะ ปู สิงโต แมวป่า ฯลฯ) จนถึงเมื่อประมาณ 150 ปีก่อนคริสตกาลปราชญ์กรีกชื่อ Claudius Ptolemy ได้กล่าวถึงกลุ่มดาวบนท้องฟ้าว่ามีทั้งหมด 48 กลุ่ม โดยแต่ละกลุ่มประกอบด้วยดาวที่เรียงอยู่เป็น “ภาพ”ต่างๆ
ด้านนักดาราศาสตร์จีนก็สนใจการตั้งชื่อกลุ่มดาวเช่นกัน นับตั้งแต่สมัยราชวงศ์ Shang (เมื่อ 1600 -1050 ปีก่อนคริสตกาล) นักดาราศาสตร์จีนได้ตั้งชื่อกลุ่มดาวต่างๆ แล้วจารึกลงบนกระดองเต่า โดยได้แบ่งจักรราศี ออกเป็น สี่ส่วน คือ ส่วนเสือ ส่วนนก ส่วนมังกร และส่วนเต่า และใน ค.ศ. 1090 นักดาราศาสตร์ชาวจีน ชื่อ Su Song ได้จัดทำแผนที่กลุ่มดาวเป็นเอกสารชื่อ Xinyi xiangfayoo ซึ่งเป็นแผนที่กลุ่มดาวที่มีอายุมากที่สุดในโลก
ในช่วงปี 1595- 7 (ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา) นักเดินเรือชาวเนเธอร์แลนด์ ชื่อ Frederick de Houtman และ Pieter Dirksz Keyser ได้ตั้งชื่อกลุ่มดาว 11 กลุ่มในท้องฟ้าซีกใต้ เช่น Apus (กลุ่มดาวนกการเวก) Chamaeleon (กลุ่มดาวกิ้งก่าคามิเลียน) Dorado (กลุ่มดาวปลากระโทงแทง Grus (กลุ่มดาวนกกระเรียน) Hydrus (กลุ่มดาวไฮดรา) Indus (กลุ่มดาวอินเดียนแดง) Musca (กลุ่มดาวแมลงวัน) Pavo (กลุ่มดาวนกยูง) Phoenix (กลุ่มดาวนกฟีนิกซ์) Tucana (กลุ่มดาวนกทูแคน) และ Volans (กลุมดาวปลาบิน)
ลุถึงปี 1603 นักทำแผนที่ดาวชาวเยอรมันชื่อ Johannes Bayer เป็นบุคคลคนแรกที่ได้กำหนดให้ตั้งชื่อดาวที่สุกใสที่สุดในกลุ่มดาวหนึ่ง ๆ เป็นภาษากรีก ซึ่งได้ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติมาจนถึงวันนี้ เช่นดาว Rigel ในกลุ่มดาว Orion และ Sirius ในกลุ่มดาว Canis Major เป็นต้น
ในปี 1922 นักดาราศาสตร์ชาวอเมริกันชื่อ Henry Norris Russell ได้กำหนดให้ใช้อักษรย่อ 3 ตัว แทนที่กลุ่มดาว เช่น ชื่อ Andromeda (กลุ่มดาวแอนดรอเมดา) ใช้ชื่อย่อว่า And และกลุ่มดาว Boötes (กลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์) ให้ใช้ชื่อย่อว่า Boo เป็นต้น
คงเป็นที่สังเกตว่าชื่อส่วนใหญ่ที่ใช้เรียกกลุ่มดาว เป็นชื่อที่ได้มาจากตำนานกรีก โรมันและตะวันออกกลาง ซึ่งปรากฎในเอกสารที่บันทึก โดยนักดาราศาสตร์ ชื่อ Ptolemy ในคริสตศตวรรษที่ 2 และได้อ้างถึงผลงานของกวี Aratus ซึ่งได้เขียนเกี่ยวกับกลุ่มดาว 46 กลุ่ม ว่า เป็นชื่อของเทพเจ้าสัตว์ และอุปกรณ์เครื่องใช้ เช่น Andromeda เป็นชื่อของกลุ่มดาว ซึ่งตั้งตามชื่อของ Andromeda ผู้เป็นพระธิดาในพระราชินี Cassiopeia กับ กษัตริย์ Cepheus และนางทรงถูกล่ามโซ่ให้อสูร Cetus กิน แต่นางทรงรอดชีวิตได้เพราะเทพ Perseus มาช่วย และชื่อของบุคคลเหล่านี้ ต่างก็เป็นชื่อของกลุ่มดาวในฟ้าซีกเหนือทั้งสิ้น
ส่วนชื่อกลุ่มดาว Apus (กลุ่มดาวนกการเวกหรือในภาษาอังกฤษ เป็น Bird of Paradise) ก็เป็นชื่อของนกในเทพนิยายกรีก ซึ่งเล่ากันว่าไม่มีเท้า สำหรับจะเดินบนดิน ดังนั้นจึงต้องบินตลอดเวลา โดยชื่อของกลุ่มดาวนี้ นักดาราศาสตร์ชาวดัชท์ ชื่อ Petrus Plancius ได้ตั้งขึ้นเมื่อคริสตศตวรรษที่ 16 ส่วนชื่อ Aquarius ซึ่งเป็นกลุ่มดาวคนแบกน้ำ ก็มีความเชื่อมโยงกับ Ganymede ซึ่งเป็นเทพที่ทรงนำน้ำขึ้นไปถวายเหล่าเทพเจ้า บนยอดเขา Olympus
สำหรับชื่อกลุ่มดาว Ursa Major (กลุ่มดาวหมีใหญ่) ก็อาจจะเป็นชื่อกลุ่มดาวที่มีมานานที่สุด เพราะคนโบราณที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ใน Siberia และ Alaska เมื่อ 12,000 ปีก่อน ได้กล่าวถึงกลุ่มดาวนี้ว่า ประกอบด้วยดาวที่สุกใส 7 ดวง การใช้หมีเป็นชื่อเรียกกลุ่มดาวแสดงว่า ชาวเอสกิโม และชาว Inuit คงได้เห็นหมีออกจากถ้ำมาหากินบ่อยในแถบขั่วโลก
ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งของการตั้งชื่อของกลุ่มดาวคือ ชื่อทั้งหมดอาจแบ่งหยาบๆ แบ่งออกได้ 3 กลุ่ม คือ กลุ่มของสิ่งที่อยู่ในอากาศ กลุ่มของสิ่งที่อยู่บนดิน และกลุ่มของสิ่งที่อยู่ใต้ดินและในน้ำ ตามความเชื่อของชาว Sumerian และ Akkadian ในอาณาจักร Mesopotamia เมื่อ 4,000 ปีก่อน ซึ่งมีเทพเจ้า 3 องค์ คือ Enlil Ea และ Anu
โดยเทพ Enlil ประทับอยู่ในสวรรค์ เทพ Anu สถิตอยู่บนโลก และเทพ Ea ทรงประทับในนรก โดยให้เทพทั้งสามทรงควบคุมกลุ่มดาวที่มีชื่อสอดคล้องกับพื้นที่ ๆ กลุ่มดาวอยู่ ทั้งๆที่ชื่อของกลุ่มดาว อาจไม่เหมือนกับรูปทรงของสิ่งนั้นเลย แต่การมีชื่อของเทพเจ้าประจำกลุ่มดาวก็อาจทำให้จิตใจของคนที่เห็นกลุ่มดาวมีความรู้สึกที่ดี ที่มีเทพเจ้ากำลังคุ้มครอง
ปัจจุบันเรายังไม่รู้แน่ชัดเกี่ยวกับที่มาของชื่อกลุ่มดาวต่าง ๆ และยังไม่รู้เหตุผลว่า เหตุใดกลุ่มดาวจำนวนไม่น้อยจึงประกอบด้วยดาวที่สุกใส 7 ดวง หรือคงเพราะคนโบราณชอบเลข 7 และเหตุใดกลุ่มดาว Argo และ Eridanus จึงมีขนาดใหญ่กว่ากลุ่มดาวอื่นๆ
เหล่านี้ คือ ปริศนาที่นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีในอนาคตจะต้องตอบด้วยการหาหลักฐาน เพิ่มเติมจากผนังถ้ำหรืออักษรลิ่ม
อ่านเพิ่มเติมจาก The Art of Naming โดย Michael Ohl ซึ่งแปลโดย Elisabeth Lauffer และจัดพิมพ์โดย MIT Press ปี 2018
สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" จาก "ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน" ได้ทุกวันศุกร์