มหาวิบัติภัยที่สามารถทำให้มนุษย์ล้มตายเป็นจำนวนมาก มีหลายรูปแบบ เช่น โรคระบาด อุกกาบาตชนโลก แผ่นดินไหว ฯลฯ ซึ่งภัยเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้โดยที่เราในบางครั้งไม่รู้ตัว หรือไม่ทันระวังตัว แต่เราก็มีจินตนาการและความรู้มากพอที่จะรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นได้ นับตั้งแต่ที่โลกถือกำเนิดเมื่อ 4,600 ล้านปีก่อน โลกได้ถูกมหาภัยตามธรรมชาติคุกคามหลายต่อหลายครั้ง และในบางครั้งโฉมหน้าของโลกก็ได้เปลี่ยนไปอย่างมโหฬาร เช่น บางภัยได้ทำให้บางอารยธรรมล่มสลาย ทำให้สิ่งมีชีวิตหลายชนิดต้องสูญพันธุ์ และหลายชนิดบังเกิดใหม่ สภาพทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของผู้คนถูกกระทบกระเทือน จนต้องปรับตัวอย่างขนานใหญ่และกำหนดบรรทัดฐานใหม่ เป็นต้น
โดยทั่วไปอุบัติภัยอาจจะมาจากนอกโลก เช่น โลกถูกอุกกาบาต ดาวเคราะห์น้อย และดาวหางพุ่งชน หรือถูกถล่มด้วยพายุสุริยะจากดวงอาทิตย์ หรือได้รับรังสีแกมมาอย่างรุนแรงจากการระเบิดของดาวฤกษ์ที่อยู่ในกาแล็กซีทางช้างเผือก ภัยอันตรายเหล่านี้ได้เคยทำให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ไปแล้ว เมื่อ 65 ล้านปีก่อน และอาจทำให้มนุษย์ชาติสูญพันธ์ได้เช่นกัน ถ้าโลกถูกดาวเคราะห์น้อยที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางยาวตั้งแต่ 10 กิโลเมตรขึ้นไปพุ่งชน แม้ภัยลักษณะนี้จะไม่เกิดบ่อย แต่ก็มีสิทธิ์จะเกิด และเราสามารถป้องกันได้(บ้าง) โดยการรู้ตัวล่วงหน้า และอาศัยวิทยาการด้านฟิสิกส์ กับเทคโนโลยีทางทหาร
สำหรับอุบัติภัยที่เกิดบนโลก ได้แก่ การระบาดของโรคซึ่งได้คร่าชีวิตมนุษย์ไปหลายล้านคน ในบางช่วงเวลาและบางสถานที่ เช่น กาฬโรค วัณโรค ไข้ทรพิษ มาลาเรีย ไข้หวัดใหญ่ HIV และปัจจุบันคือโรค COVID-19 ซึ่งมีต้นกำเนิดจากเมือง Wuhan ในประเทศจีน และยังไม่มีคำทำนายใดที่ระบุได้ว่า การระบาดจะยุติเมื่อใด ณ ที่ใด เพราะไวรัสสายพันธุ์นี้ แพร่พันธุ์ได้ง่าย และอาการของคนที่ติดเชื้อก็มีทั้งที่ไม่รู้ตัวเลย จนกระทั่งถึงกลุ่มที่มีอาการหนัก การระบาดจึงเกิดง่าย อีกทั้งไวรัสก็มีการกลายพันธุ์ได้ง่ายด้วย การสร้างวัคซีนจึงเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะต้องใช้เวลาและเงินมหาศาล โรคระบาดชนิดนี้จึงแตกต่างจากโรคระบาดชนิดอื่นๆที่เคยเกิดในอดีต จึงมีผลทำให้การเสียชีวิตเกิดขึ้นมาก เพราะเราตั้งรับการโจมตีไม่ทัน
มหาภัยอีกรูปแบบหนึ่งเป็นกลุ่มที่มาจากใต้โลก ได้แก่ภัยแผ่นดินไหว ทั้งที่เกิดบนบกและใต้ทะเล กับภัยภูเขาไฟระเบิด ทั้งที่อยู่บนบกและใต้ทะเล เพราะเวลาภูเขาไฟระเบิด เถ้าถ่าน ลาวา ฝุ่นเขม่า แก็สพิษ ปริมาณหมื่นแสนล้านลูกบาศก์เมตรได้ถูกพ่นสู่บรรยากาศไปบดบังแสงอาทิตย์ ทำให้สภาพดินฟ้าอากาศของโลกเปลี่ยนแปลงจนมีผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตทุกชนิด เพราะเกิดปรากฏการณ์โลกร้อน แม้ความรู้เรื่องวิทยาศาสตร์ของภูเขาไฟจะถือกำเนิดมานานร่วม 2,000 ปีแล้วก็ตาม คือ ตั้งแต่ ค.ศ.79 ที่ Pliny ผู้เยาว์ได้บันทึกเหตุการณ์การระเบิดของภูเขาไฟ Visuvius ที่ได้ถล่มเมือง Pompeii และกลบฝังคนในเมืองทั้งเป็น แต่นักวิทยาศาสตร์ปัจจุบันก็ยังไม่สามารถทำนาย หรือ พยากรณ์เวลาระเบิดได้อย่างแม่นยำว่าภูเขาไฟต่างๆ ที่โลกมี จะระเบิดเมื่อใด รุนแรงเพียงใดและจะมีผลกระทบต่อสังคมเพียงใด เพราะเทคโนโลยีที่ใช้ในการศึกษาเรื่องนี้ยังไม่สูงมาก คือ ใช้ดาวเทียม GPS ( Global Positioning System) ดูการขยับเลื่อนของแผ่นดินในบริเวณภูเขาไฟ ใช้วิธีวางตัวรับ (sensor) ณ ตำแหน่งต่างๆ ในบริเวณที่มีการสั่นไหว เพื่อศึกษาการเคลื่อนที่ขึ้น – ลง และไปมา ซ้าย – ขวา ของแผ่นดิน รวมถึงการตรวจจับแก๊สที่เล็ดรอดออกมา ก็พอจะบอกให้เรารู้ว่า แผ่นดินจะไหวเมื่อไร ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณเตือนภัยล่วงหน้าได้ แต่การจะห้ามแผ่นดินไม่ให้สั่นไหวและภูเขาไฟไม่ให้ระเบิดนั้น นักวิทยาศาสตร์ยังทำไม่ได้ และก็ไม่มีวันทำได้
โลกเรามีพื้นดินที่เป็นทวีป 30% และมีพื้นน้ำที่เป็นมหาสมุทรประมาณ 70% โดยพื้นดินและพื้นน้ำทั้งหมดตั้งอยู่บนเปลือกทวีปที่เคลื่อนที่ได้ และเวลาเปลือกทวีป (ซึ่งมีหลายแผ่น) เคลื่อนที่ขึ้น ลง ซ้าย ขวา การชนกัน ทั้งแบบตรงๆ หรือแบบเฉียงๆ จะทำให้เกิดพลังงานศักย์ยืดหยุ่น สะสมในเปลือกทวีป ซึ่งจะถูกปลดปล่อยออกมา เวลาเปลือกทวีปแตก ทำให้เกิดปรากฏการณ์แผ่นดินไหว
แต่ในบางครั้งการเลื่อนตัวของเปลือกทวีปเข้าปะทะอีกเปลือกหนึ่ง มันอาจมุดตัวลงไปซ่อนอยู่ใต้เปลือกทวีปนั้น แล้วการเคลื่อนตัว แม้จะช้าระดับ 5 เมตร / ปี ก็สามารถสะสมพลังงานศักย์ยืดหยุ่นได้มาก จนถึงระดับหนึ่ง แผ่นทวีปก็จะโค้งจนแตก แล้วปลดปล่อยพลังงานออกมา ซึ่งถ้าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นบนบก เราจะเห็นปรากฏการณ์แผ่นดินไหว แต่ถ้าเกิดใต้ทะเล เราจะเห็น ปรากฏการณ์ สึนามิ (tsunami)
สึนามิ เป็นภัยธรรมชาติชนิดหนึ่งที่เกิดในทะเลหรือมหาสมุทร เวลาภูเขาไฟใต้ทะเลระเบิด หรือแผ่นดินใต้ทะเลเคลื่อนที่อย่างรุนแรงจะทำให้เกิดคลื่นยักษ์ที่เคลื่อนที่เข้าสู่ฝั่งด้วยความเร็วสูง (ตามปรกติความเร็วของคลื่นน้ำจะแปรตามรากที่สองของความลึก นั่นคือ ในน้ำลึก คลื่นจะมีความเร็วสูง แต่ในน้ำตื้น คลื่นจะมีความเร็วต่ำ) ดังนั้น เมื่อคลื่นใกล้จะถึงฝั่ง ขณะหน้าคลื่นมีความเร็วน้อยลงๆ แต่หลังคลื่นก็ยังมีความเร็วสูงอยู่ ดังนั้น หลังคลื่นจะเคลื่อนที่ขึ้นทับหน้าคลื่น ทำให้เกิดกำแพงน้ำที่สูงมากพุ่งเข้าทำลายบ้านเรือนและชีวิตผู้คนที่อาศัยอยู่ริมฝั่งจนราบเรียบ
คำว่า สึนามิ มาจาก การสนธิคำ tsu ที่แปลว่า ท่าเรือ และคำ nami ที่แปลว่า คลื่น ดังนั้น สึนามิ จึงเป็น คลื่นท่าเรือ ที่สามารถพบได้ตามสถานที่ต่างๆ ทั่วโลก แต่มักพบบ่อยที่ญี่ปุ่น เพราะญี่ปุ่นตั้งอยู่บนเปลือกทวีป Pacific ที่เคลื่อนที่บ่อย
ชาวโลกที่ไม่ใช่คนญี่ปุ่นได้เห็นภาพ สึนามิ เป็นครั้งแรกเมื่อ 190 ปี ก่อน ในภาพพิมพ์ที่วาดโดย Katsushika Hokusai ชื่อ Under the Wave of Kanagawa ซึ่งแสดง คลื่นสึนามิในทะเลใกล้ภูเขาไฟ Fuji เป็นคลื่นที่กำลังคุกคามชีวิตของลูกเรือชาวประมงในเรือลำเล็ก
แม้ชื่อจะเป็นภาษาญี่ปุ่น แต่คนทั้งโลกก็รู้จักภัยนี้ดีพอประมาณ เพราะในอดีต เมื่อปี 1737 ที่แหลม Lopatka ใน Siberia มีรายงานการถูกสึนามิ สูง 14 เมตรถล่ม
ปี 1883 ภูเขาไฟ Krakatoa ในอินโดนีเซีย ได้ระเบิด ทำให้เกิดคลื่นสึนามิ ถล่มเกาะ Java และ Sumatra มีคนเสียชีวิต 68,000 คน
ปี 1896 ที่ Sunriku ในญี่ปุ่น ได้เกิดสึนามิที่สูง 23 เมตร ทำให้มีผู้เสียชีวิต 27,100 คน
ปี 1946 สึนามิที่ถล่มเกาะ Hawaii เป็นคลื่นสูง 15 เมตร มีคนตาย 173 คน
ปี 1960 ที่เมือง Agadir ใน Morocco มีคนเสียชีวิตด้วยคลื่นสึนามิ 10,000 คน
ปี 1994 ที่ชวาตะวันออก ได้เเกิดคลื่นสึนามิสูง 15 เมตร และมีคนเสียชีวิต 200 คน
และเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม ค.ศ. 2004 ขณะเวลา 8 โมงเช้า (เวลากรุงเทพฯ) Oceanic plate ซึ่งเป็นเปลือกทวีปที่อยู่ใต้ทะเล Bay of Bengal ได้เลื่อนตัวเข้าซ้อนใต้เปลือกทวีป Continental Crust ซึ่งเป็นที่ตั้งของเกาะ Sumatra ความเครียดที่เกิดขึ้นในเปลือกทวีปได้ทำให้มันแตกเป็นรอยเลื่อน (fault) และปลดปล่อยพลังงานศักย์ออกสู่ทะเลโดยรอบ
อีก 8 นาทีต่อมา สถานีตรวจรับคลื่นสึนามิ Pacific Tsunami Warning Center (PTWC) ที่ฮาวาย และออสเตรเลียได้รับสัญญาณว่าเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวใต้น้ำในบริเวณใกล้เกาะสุมาตรา แต่เจ้าหน้าที่ของ PTWC ไม่คิดว่าจะเกิดคลื่นสึนามิ จึงไม่ได้รายงานให้ผู้รับผิดชอบในประเทศต่างๆ ที่อยู่รายรอบมหาสมุทร Pacific ตระเตรียมหนีภัยอะไรเลย
30 นาทีต่อมา คลื่นเดินทางถึงเกาะสุมาตราและฝั่งตะวันตกของประเทศไทย ด้านทะเล Andaman
2 ชั่วโมงต่อมา ประเทศศรีลังกาได้รับสัญญาณจากดาวเทียม GPS ซึ่งได้บันทึกความสูงของคลื่น แต่นักวิทยาศาสตร์กลับไม่ได้รับรายงานข้อมูลใดๆ จนอีกหลายชั่วโมงต่อมา
ต่อมาอีก 3.30 ชั่วโมง คลื่นสึนามิ ได้เดินทางถึงหมู่เกาะ Maldives
อีก 4.25 ชั่วโมง ต่อมา นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Harvard ได้รายงานความรุนแรงของเหตุการณ์แผ่นดินไหวใต้ทะเลว่าอยู่ที่ระดับ 8.9 จากการศึกษารูปร่าง และความถี่ของสัญญาณที่ห้องปฏิบัติการได้รับ
อีก 7.15 ชั่วโมงต่อมา คลื่นเดินทางถึง เกาะMadagascar
อีก 8 ชั่วโมงต่อมา คลื่นเดินทางเข้ามหาสมุทร Pacific และมุ่งหน้าสู่ฝั่งตะวันตกของประเทศ Mexico โดยมีความสูง 2.6 เมตร
ในที่สุด การวัดระดับความรุนแรงของแผ่นดินไหวพบว่า อยู่ที่ระดับ 9.15 ทำให้ผู้คนใน 14 ประเทศที่อยู่รอบมหาสมุทรอินเดีย และบางประเทศใกล้มหาสมุทร Pacific เสียชีวิต 230,000 คน บ้านเรือนจำนวนมากพังทลาย การคมนาคมในพื้นที่ถูกตัดขาด และระบบสาธารณสุขเสียหาย จนต้องมีการแก้ไขและปรับปรุงเป็นเวลานานหลายเดือน
ความเสียทั้งหมดเกิดมาจากหลายสาเหตุ เช่น ไม่มีระบบการเตือนภัยล่วงหน้าที่ดี และไว้ใจได้ เพราะเวลาสึนามิอุบัติ แม้ความเร็วของคลื่นจะมากถึง 200 เมตร / วินาที และความยาวคลื่นจะมากถึง 10,000 เมตร แต่ความสูงของคลื่นมีค่าประมาณ 1 เมตรเท่านั้นเอง ซึ่งน้อยจนทำให้ไม่แตกต่างจากความสูงของคลื่นทั่วไปในทะเล ดังนั้น ดาวเทียม GPS จึงไม่สามารถแยกคลื่นสึนามิที่เกิดในทะเลลึกจากคลื่นทั่วไปได้ แต่เมื่อคลื่นเข้าใกล้ฝั่ง ความเร็วได้ลดลงจนเหลือประมาณ 10 เมตร / วินาที แต่พลังงานจลน์ของคลื่นไม่เปลี่ยนแปลง ดังนั้น เมื่อความเร็วลดลง มวลน้ำก็มากขึ้น จึงทำให้เกิดกำแพงน้ำที่มีมวลมหาศาลพุ่งเข้าทำลายสรรพสิ่งทุกอย่างที่ขวางหน้า
นอกจากเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบจะไม่สามารถเตือนภัยล่วงหน้าได้แล้ว การสื่อสารถึงประชาชนในยามเกิดภัยก็เป็นเรื่องที่ไม่ได้ดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพมาก เช่น ทางการไม่ได้บอกวิธีหนีภัย เส้นทางหนีภัย หรือแม้แต่จะให้แผนที่แสดงบริเวณที่ปลอดภัยให้ผู้คนหนีไปพำนักชั่วคราว
ดังนั้นในการป้องกันภัยสึนามิ การติดตั้งระบบการเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพจึงเป็นเรื่องจำเป็นในลำดับต้นๆ และต้องใช้อุปกรณ์ตรวจจับการเคลื่อนตัวของเปลือกทวีปใต้ทะเล ทั้งขึ้น – ลง ทั้ง ซ้าย – ขวา ใน 3 มิติ
พูดง่ายๆ คือ หน่วยงานที่รับผิดชอบต้องมีการสำรวจการเคลื่อนตัวของผืนแผ่นดินใต้ทะเล โดยการจัดวางเครื่องตรวจจับที่ตำแหน่งต่างๆ ใต้ทะเล และให้อุปกรณ์เหล่านี้ทำงานประสานกันเป็นเครือข่าย โดยประเทศที่อยู่ล้อมรอบทะเลทำหน้าที่เป็นศูนย์รับข้อมูล และนี่ก็คือ โครงการ Sea – floor Geodesy ที่ประเทศญี่ปุ่น ชิลี อเมริกา ไต้หวัน เม็กซิโก แคนาดา ได้ร่วมมือกันสังเกตดูปรากฏการณ์แผ่นดินไหวใต้ทะเล ซึ่งจะทำให้เกิดคลื่นสึนามิได้อย่างตลอดเวลา
ในส่วนของอุปกรณ์ตรวจรับคลื่นสึนามิ ซึ่งป็นผลกระทบโดยตรงจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวนั้น ได้มีการติดตั้งเครื่องตรวจรับ (sensor) ที่ใช้ผลึกควอทซ์ ซึ่งเป็นวัสดุประเภท piezoelectric ที่เวลาถูกแรงภายนอกอัด จะมีประจุไฟฟ้าเกิดขึ้น ดังนั้น ถ้าแรงอัดเปลี่ยน ปริมาณประจุที่เกิดก็จะเปลี่ยน ควอทซ์เป็นสารที่มีเสถียรภาพสูงมากและมีความทนทาน ดังนั้นจึงเป็นที่นิยมใช้ทำเป็นอุปกรณ์วัดที่มีความแม่นยำสูง และใช้สังเกตเหตุการณ์แผ่นดินไหว รวมถึงค้นหาน้ำมันและแก๊สใต้ทะเล โดยการนำอุปกรณ์นี้ไปวางใต้ทะเลที่ระยะห่างต่าง ๆ จากฝั่ง เผื่อเวลาแผ่นดินใต้น้ำเคลื่อนที่ ซึ่งจะทำให้ความลึกของน้ำเปลี่ยนแปลง ความดันน้ำก็จะเปลี่ยนตาม และปริมาณประจุไฟฟ้าที่เกิดขึ้นก็จะถูกบันทึกในอุปกรณ์ การเปลี่ยนแปลงประจุตามเวลาจะทำให้เกิดกระแสไฟฟ้า ซึ่งอุปกรณ์จะสามารถบันทึกได้อย่างละเอียด และนี่เป็นอุปกรณ์ที่ถูกนำไปวางนอกฝั่งมหาสมุทร Pacific ทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือนอกรัฐ Oregon ของอเมริกา
อุปกรณ์ quartz sensor เหล่านี้สามารถวัดความเร็วของคลื่นแผ่นดินไหว ความดันน้ำทะเลที่เปลี่ยนแปลง และอุณหภูมิของน้ำได้ และถ้ามีการจัดวางอุปกรณ์ให้อยู่ห่างกันทุก 2 – 3 กิโลเมตร การเคลื่อนที่ของเปลือกทวีปในแนวราบ ณ เวลาต่าง ๆ ก็สามารถจะวัดได้เช่นกัน
ในส่วนของการคำนวณความรุนแรงของคลื่นสึนามิเป็นปัญหาโลกแตก เพราะนักวิทยาศาสตร์ด้านอุทกพลศาสตร์ยังไม่มีแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ที่สามารถพยากรณ์ได้อย่างแม่นยำ ทั้งๆ ที่รู้สมการการเคลื่อนที่ของคลื่น ภายใต้ความดันที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และมีค่ามาก รู้สัมประสิทธิ์ความหนืดของน้ำทะเล รู้สภาพภูมิศาสตร์ของท้องทะเล ก็ยังไม่สามารถใช้สมการ Navier – Stokes คำนวณได้แบบแม่นตรง จึงต้องใช้คอมพิวเตอร์ช่วย และเมื่อเงื่อนไขตั้งต้นเป็นค่าโดยประมาณคำทำนายจึงเป็นค่าโดยประมาณเท่านั้นเอง
ดังนั้นการพยากรณ์ความเสียหายที่จะเกิดขึ้น จึงเป็นเรื่องที่พยากรณ์ยากมาก เพราะคลื่นสึนามิจะเปลี่ยนทิศทางการเคลื่อนที่ตามลักษณะของสิ่งก่อสร้างที่กีดขวาง อันเป็นการเคลื่อนที่แบบปั่นป่วน (turbulence) ที่นักอุทกศาสตร์ยังไม่มีความรู้มาก เหมือนดังที่ W.Heisenberg (นักฟิสิกส์รางวัลโนเบลปี 1932) ได้เคยกล่าวว่า ถ้ามีโอกาสพบพระเจ้า เขาก็จะถามพระเจ้า 2 คำถาม ว่า เหตุใดพระองค์จึงทรงบันดาลให้มีทฤษฏีสัมพัทธภาพ และเหตุใดธรรมชาติจึงต้องมีปรากฏการณ์ปั่นป่วนด้วย แล้ว Heisenberg ก็ตอบเองว่า สำหรับคำถามแรก เขาคิดว่าพระเจ้าทรงมีคำตอบแล้ว แต่สำหรับคำถามหลัง เขาไม่คิดว่า พระเจ้าทรงมีคำตอบ ดังนั้น การศึกษาผลกระทบทางกายภาพที่เกิดขึ้นบนฝั่งจึงเป็นเรื่องที่เรายังไม่สามารถจะพยากรณ์ได้อย่างแม่นยำ เพราะตัวแปรที่สำคัญอีกหนึ่งตัวแปรคือพฤติกรรมของมนุษย์ ในยามเผชิญภัยพิบัติที่คุกคามชีวิต ซึ่งขึ้นกับเวลาและสภาพของจิตใจ
โครงการ GEOMAR Helmholtz Centre of Ocean Research ซึ่งเป็นเครือข่ายนานาชาติที่ตั้งอยู่ที่เมือง Kiel ในประเทศเยอรมนี ได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลญี่ปุ่น ชิลี ไต้หวัน วาง sensor ที่ท้องทะเล และใช้ดาวเทียม GPS กับ ทุ่นลอยในทะเลเก็บข้อมูลความเร็วและทิศของคลื่นเป็นการให้สัญญาณกับแผ่นดินไหวใต้ทะเลในลักษณะ ShakeAlert เพื่อให้ทุกคนหนีทัน
ด้านอเมริกาก็มีหอสังเกตการณ์ The Ocean Observations Initiative Cabled Array รับสัญญาณจากเครื่องวัดตลอดระยะทาง 900 กิโลเมตร นอกฝั่งของรัฐ Oregon ส่วนแคนาดาก็มีเครือข่าย Ocean Network Canada วางนอกฝั่งของประเทศเช่นกัน
สำหรับญี่ปุ่นซี่มักถูกคลื่นสึนามิทำลายรุนแรงที่สุดก็มีหอสังเกตการณ์ DONET – 2 ใกล้เมือง Osaka และ Kobe ที่ได้วางสายเครื่องตรวจวัดตลอดระยะทาง 100 กิโลเมตร นอกฝั่งทะเลและใช้เงินอีก 12,000 ล้านบาท ในโครงการ S- NET วางเครื่องตรวจภัยนอกฝั่งเกาะ Hokkaido เป็นการตอบสนองต่อกับแผ่นดินไหวและสึนามิ ปี 2011 ที่ Tohoku ซึ่งได้ฆ่าคนไป 16,000 คน และทำลายเตาปฏิกรณ์ ปรมาณู Fukushima จนประเทศมีวิกฤตการณ์ด้านพลังงานเป็นเวลานาน
ประเทศไทยเราเคยประสบภัยสึนามิเพียงครั้งเดียวเมื่อปี 2004 และไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอีกเมื่อใด ซึ่งถ้ามาอีกเราก็ยังไม่ได้เตรียมอะไรมาก ดังนั้น ก็เตรียมใจให้ดี และถ้ามาจริงก็จะมาทาง Sumatra กับ ฟิลิปปินส์ เพราะการสร้างระบบเตือนภัยล่วงหน้า ต้องลงทุนมาก ดังนั้น เราคงไม่มีโอกาสจะมีระบบนี้ ดังนั้นการป้องกันภัยที่ดี คือ การมีความรู้พื้นฐานของสึนามิ และการมีความรู้เกี่ยวกับเส้นทางปลอดภัยและที่ๆ ปลอดภัยในการหนี
อ่านเพิ่มเติมจาก Living with Risk : A Global Review of Disaster Reduction Initialives (Inleinational Shaggy for Disaster Reduction,2014)
สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" จาก "ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน" ได้ทุกวันศุกร์