ปักกิ่ง, 2 มิ.ย. (ซินหัว) — เมื่อไม่นานนี้ วารสารไซเอนทิฟิค รีพอร์ตส (Scientific Reports) เผยแพร่ผลการศึกษาที่ระบุว่าคณะนักวิทยาศาสตร์ของจีนได้นำเสนอวิธีการใหม่ในการปกป้องโลกจากการพุ่งชนของดาวเคราะห์น้อย
ปัจจุบันมีดาวเคราะห์น้อยโคจรอยู่ใกล้โลกมากกว่า 18,000 ดวง ซึ่งราว 800 ดวง มีขนาดใหญ่กว่า 1 กิโลเมตร และหากหนึ่งในดาวเคราะห์น้อยเหล่านี้พุ่งชนโลก ย่อมนำไปสู่มหันตภัยครั้งใหญ่หลวงต่อมนุษยชาติ
เทคโนโลยีปกป้องโลกอย่างระเบิดนิวเคลียร์ พลังงานจลน์ (kinetic impact) การยิงเลเซอร์ การฉุดดึงด้วยลำไอออน (ion beam) และการฉุดลากด้วยแรงโน้มถ่วง (gravitational drag) ถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อลดความเสี่ยงของภัยพิบัติรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้
คณะผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์วิทยาศาสตร์อวกาศแห่งชาติจีน (NSSC) สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (CAS) ได้เสนอแนวคิดการพุ่งชนเพื่อเบี่ยงทิศทาง (kinetic impact) เพิ่มเติมด้วย “หินอวกาศ” เพื่อผลักดันดาวเคราะห์น้อยออกจากวงโคจรที่พาดผ่านโลก
ยานอวกาศไร้มนุษย์จะถูกส่งขึ้นสู่อวกาศเพื่อรวบรวมหินอวกาศมากกว่า 100 ตัน ซึ่งจะถูกใช้พุ่งชนดาวเคราะห์น้อยที่อาจเป็นภัยคุกคามโลก โดยทีมนักวิจัยได้จำลองวิธีดังกล่าวและพบว่ามีประสิทธิภาพในการเบี่ยงเบนทิศทางของดาวเคราะห์น้อยมากกว่าวิธีดั้งเดิม
หลี่หมิงเถา นักวิจัยจากศูนย์ฯ กล่าวว่าเทคนิคใหม่ก้าวข้ามข้อจำกัดของวิธีดั้งเดิม ที่จะยิงยานอวกาศ “หัวพุ่งชน” (impactor) จากพื้นโลกขึ้นไปกระแทกดาวเคราะห์น้อย ช่วยให้การปกป้องโลกจากดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่มีประสิทธิผลเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ