xs
xsm
sm
md
lg

ตั้งแล็บเทคโนโลยี DNA หนุนผลผลิตและส่งออกเกษตร

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อว. สวทช. จับมือ ม.เกษตรฯ ตั้งแล็บ DNA Technology หนุนผลผลิตและส่งออกเกษตรกรให้มีมาตรฐาน
พร้อมสร้างบัณฑิตวิจัย เสริมความเข้มแข็งด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดพิธีลงนามความร่วมมือ “โครงการพิเศษการจัดตั้งห้องปฏิบัติการ DNA Technology และโครงการพัฒนาบัณฑิตวิจัยคุณภาพสูงด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2563 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งในการวิจัย พัฒนา และสร้างนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

พิธีลงนามดังกล่าว มี ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดร.สมวงษ์ ตระกูลรุ่ง ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ดร.ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และ รองศาสตราจารย์ ดร.ศรปราชญ์ ธไนศวรรยางกูร รองอธิการบดีฝ่ายวางแผน และ รักษาการแทนรองอธิการบดี ฝ่ายวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมลงนาม

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สวทช. มุ่งเน้นการวิจัยและสร้างนวัตกรรมในสาขาที่มีความเชี่ยวชาญและพัฒนาขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีเพื่อตอบโจทย์ของประเทศ การลงนามความร่วมมือในการจัดตั้งโครงการพิเศษ “ห้องปฏิบัติการ DNA Technology” นี้ ได้มอบหมายให้ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ดำเนินงานร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อให้ความร่วมมือด้านห้องปฏิบัติการ DNA Technology เป็นไปอย่างต่อเนื่อง และเกิดการพัฒนาและนำเทคโนโลยีชีวภาพช่วยภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งในภาคการผลิตและการส่งออก

“ห้องปฏิบัติการดังกล่าวให้บริการด้านเทคโนโลยีชีวภาพที่มีความถูกต้อง แม่นยำ และเป็นมาตรฐานสากล ด้วยความพร้อมด้านเครื่องมือวิทยาศาสตร์และบุคลากรเฉพาะทาง และเป็นแบบอย่างของการพัฒนาธุรกิจทางเทคโนโลยีชีวภาพให้กับประเทศอย่างมั่นคง รวมถึงการสร้างบุคลากรด้านเทคโนโลยีชีวภาพ และเครือข่ายทางวิชาการและการวิจัยทั้งภาครัฐ และเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในการพัฒนาขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีชีวภาพของประเทศให้ก้าวหน้าทัดเทียมนานาประเทศต่อไป”

นอกเหนือจากนี้ยังได้ร่วมมือกันในการพัฒนาบัณฑิตวิจัยคุณภาพสูงด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีในระดับปริญญาเอก เพื่อพัฒนาบัณฑิตวิจัยคุณภาพสูงระดับดุษฎีบัณฑิตแบบมุ่งเน้นการทำวิจัยเข้มข้นเป็นหลักร่วมกันเป็นระยะเวลา 5 ปี (นับตั้งแต่วันที่ลงนาม ไปจนถึงปี 2568) งบประมาณรวมกว่า 40 ล้านบาท โดยสนับสนุนทุนการศึกษาให้แก่นิสิตจำนวน 3 รุ่นๆ ละ 10 ทุน รวมจำนวน 30 ทุน จากการร่วมสนับสนุนปัจจัยด้านทรัพยากรบุคคล งบประมาณ โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ รวมถึงเครือข่ายความร่วมมือวิจัยที่มีร่วมกับสถาบันการศึกษาสถาบันวิจัยต่างประเทศ โดยมุ่งเน้นให้นิสิตได้มีส่วนร่วมและเน้นการเพิ่มประสบการณ์วิจัย

“ถือเป็นนวัตกรรมด้านการศึกษาและวิจัยของประเทศ ที่สนับสนุนการทำงานวิจัยแบบบูรณาการของบุคลากรวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญสูงของทั้งสองสถาบันในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษาดุษฎีนิพนธ์ ในการดำเนินการวิจัยและร่วมกันพัฒนานิสิตระดับปริญญาเอก ให้มีศักยภาพการวิจัยที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นโอกาสที่นิสิตได้มีประสบการณ์ทำงานวิจัยร่วมกับนักวิจัยอาชีพของ สวทช. พร้อมใช้เครื่องมือและอุปกรณ์จากห้องปฏิบัติการวิจัยที่ทันสมัยอันดับต้นๆ ของประเทศไทย รวมถึงจะร่วมกันจัดหาเครือข่ายความร่วมมือวิจัยจากสถาบันการศึกษา หน่วยงานวิจัยชั้นนำในต่างประเทศ เพื่อให้นิสิตได้เปิดโลกทัศน์ด้านการวิจัยในต่างประเทศ ได้สร้างเครือข่าย แลกเปลี่ยนข้อมูล ต่อยอด และถ่ายทอดผลงานวิจัยและเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น เพื่อการนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์และสร้างมูลค่าเพิ่มในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่อไป”

ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า นับตั้งแต่ สวทช.ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2534 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ร่วมมือกับ สวทช. ในการวิจัยและพัฒนา ทั้งทางตรงและทางอ้อมมาอย่างต่อเนื่อง ตลอดระยะเวลา 28 ปีที่ผ่านมาของ สวทช. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ สวทช. ได้ร่วมกันผลิตผลงานวิจัย สร้างนวัตกรรม พัฒนาทรัพยากรบุคคลให้กับประเทศ ให้การบริการด้านต่างๆ แก่สังคม

“เราร่วมกันสร้างความเข้มแข็งด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กับประเทศ อย่างเป็นที่ประจักษ์ ซึ่งความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีชีวภาพ เป็นหนึ่งในหลายสาขาวิชาการที่ สวทช. ได้สนับสนุนให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมมือกันสร้างให้เป็นหน่วยงานต้นแบบการวิจัยเฉพาะทางร่วมกัน 2 สถาบัน ทั้งในการจัดตั้ง “ห้องปฏิบัติการ DNA Technology” ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 การดำเนินงานของศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว และอื่นๆ อีกมากมาย จวบจนปัจจุบัน”

ดร.จงรักกล่าวอีกว่าความยั่งยืนของความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ คือ การสร้างทรัพยากรบุคคลที่เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เพื่อสั่งสมประสบการณ์การวิจัยขั้นสูง ลุ่มลึก และพัฒนาให้เกิดเครือข่ายที่เข้มแข็งร่วมกัน ซึ่งสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งในเรื่องนี้ จึงเห็นชอบให้ดำเนินความร่วมมือพัฒนาบัณฑิตวิจัยคุณภาพสูงด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระหว่าง สวทช. กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้เป็นรูปธรรมร่วมกันมากยิ่งขึ้น และอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จะร่วมกันในการสานต่อการดำเนินโครงการ “ห้องปฏิบัติการ DNA Technology” และ ร่วมกันพัฒนาบัณฑิตวิจัยขั้นสูงด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กับประเทศสืบไปตั้งแล็บเทคโนโลยี DNA หนุนผลผลิตและส่งออกเกษตร

ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล


กำลังโหลดความคิดเห็น