xs
xsm
sm
md
lg

บอน

เผยแพร่:   โดย: ฉัตรพรรษ พงษ์เจริญ



เรือยางสองลำกำลังไหลไปตามกระแสน้ำซึ่งไหลจากที่สูงลงไปที่ต่ำกว่า คณะเดินทางครั้งนี้เป็นคณะวิจัยความหลากหลายของกล้วยไม้ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก จังหวัดตาก กำลังเดินทางไปในพื้นที่ห่างไกลและเป็นพื้นที่ไม่เปิดให้เกิดการใช้ประโยชน์อันใดจากมนุษย์ ซึ่งก็มักจะเป็นกิจกรรมอันส่งผลกระทบทางด้านลบต่อความบริสุทธิ์และความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติอยู่เสมอ เรือยางสองลำไหลตามกันไปผ่านพื้นที่หมู่บ้านเข้าสู่พื้นที่ป่า ผ่านแก่งหิน ผ่านน้ำตก หน้าผา หาดทรายริมน้ำ ป่าดิบแล้ง ป่าริมน้ำ ป่าเบญจพรรณ แต่ก็อย่างที่เรารู้กันดี ร่องรอยของการลักลอบมีปรากฎให้เห็นอยู่เป็นระยะซึ่งสำหรับพื้นที่อนุรักษ์ทั่วประเทศไทยก็ประสบพบปัญหาเดียวกัน

"ต้า" ฝีพ่ายหน้าวัยหนุ่มอายุยี่สิบกว่าปี ผู้มักหัวเราะอยู่เสมอพร้อมกับคำว่า "สบาย ๆ ครับ" บอกเล่าว่าชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงก็มีแวะเวียนเข้ามาหาจับปลาหาอยู่หากินในลำห้วยอยู่บ้างแต่ก็เป็นเพียงแค่ครอบครัว "แล้วเราเคยเข้ามาบ้างไหม?" ผมถาม "แค่ชายขอบกับใกล้ ๆ หมู่บ้านแหล่ะครับ ไม่เข้ามาลึก" ฝีพายหน้าตอบ ซึ่งก็เป็นจริงที่ว่าร่องรอยริมน้ำลดลงไปจนไม่เหลือให้มองเห็นเมื่อเราเดินทางลึกเรื่อยเข้าไปในป่าจนถึงที่พักอันเป็นจุดนัดหมายกับชุดเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าของทางเขตรักษาพันธุ์ฯ ซึ่งออกมาลาดตระเวนตรวจพื้นที่และรอรับคณะวิจัยตามกำหนดการณ์และจะเดินเท้าเข้าพื้นที่เป้าหมายต่อไปในพรุ่งนี้พร้อมกัน

"อีกไกลไหมครับพี่จอแบ?" ผมเอ่ยถามพี่จอแบ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ผู้เป็นหัวหน้าชุดลาดตระเวนพร้อมกับอาการหน้ามืดที่กำลังก่อตัวเมื่อถึงจุดพักกลางทางเดินขึ้นเนินยาวสูงชัน "อีกประมาณสองกิโลเมตรครับ" คือคำตอบ "เส้นตรงใน GPS นะ" พี่จอแบเสริมพร้อมรอยยิ้มอันเป็นเอกลักษณ์ แต่โดยความหมายแท้จริงแล้วคือระยะเดินจริงนั้นมากกว่าจากการเลี้ยวซ้ายขวาหลบมุดข้ามโขดขอนไม้และหิน นี่ยังไม่นับน้ำหนักแบกหามบนเป้หลังและเนินสูงที่เพิ่มความเหนื่อยกายเข้าไปอีกจนผมอยากจะล้มลงไปนอนเข้าเสียตรงนั้นเลยเมื่อได้ยินคำตอบ แต่ก็ไม่ได้เป็นไปตามนั้น ระหว่างนั่งพักบรรดาเรื่องเล่าและมุกตลกโปกฮาสารพัดถูกลำเลียงออกมาให้ได้ชวนหัวกันอยู่ตลอด เรื่องเหนื่อยคงไม่เถียงแต่ถ้าเรื่องเครียดนี่ไม่มีทางเกิดขึ้นแน่นอน แต่ก็มีเรื่องหนึ่งทำให้เกิดความแปลกอกแปลกใจจากคำบอกเล่าของ "วันดี" เพื่อนวัยไล่เลี่ยกันกับต้าผู้เป็นฝีพายคัดหางเสือของเรือยางลำเดียวกัน เรื่องของต้าเพื่อนของเขานั่นเอง

สำหรับเรื่องการดำรงชีพในป่า ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าพวกเขานั้นเข้าขั้นไม่มีทางอดตายจากการขาดเสบียงยังชีพ พืชพรรณผักใบไม้พวกเขาเข้าใจและรู้จักวิธีการนำมาเป็นอาหารซึ่งตลอดช่วงการเดินทางที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็น ผักกูดริมน้ำ ฟักข้าว ยอดต้นไคร้น้ำ ลูกไทร ลูกมะเดื่อ ใบและดอกผักหวานป่า และอีกมากมายที่ลิ้มลองพิสูจน์ผ่านด้วยตัวผมเอง แต่มีครั้งหนึ่งต้าหละหลวมตัวไปลิ้มลองบอนริมน้ำชนิดหนึ่งซึ่งเข้าใจผิดคิดว่าเป็น ตูน ซึ่งคือบอนชนิดหนึ่งซึ่งสามารถนำมาประกอบอาหารได้ ผลคือเกิดอาการคันคอจนกระทั่งหลอดอาหารและทางเดินหายใจบวมจนต้องนำพาตัวส่งโรงพยาบาล จากนั้นต่อมาเรื่องนี้ก็กลายเป็นเรื่องคุยชวนหัวระหว่างเพื่อนฝูงไปเสียอย่างนั้น

ตั้งแต่เริ่มก็กินเวลาไปกว่า 6 ชั่วโมง รวมเวลาพักระหว่างทางกว่าจะเดินเท้ามาถึงที่หมายซึ่งเป็นบึงน้ำขนาดใหญ่กลางป่า "ยังต้องไปต่ออีกหน่อยครับ ดงตะเคียนฝั่งโน้นที่ผูกเปลนอนจะมากกว่า" พี่จอแบบอก จากนั้นไม่นานคณะวิจัยก็ได้เวลาวางสัมภาระและเตรียมตัวตั้งแคมป์พัก ก็พบเข้ากับศิลปะอย่างหนึ่งบนต้นไม้สลักเสลาอย่างงดงามอย่างผิดที่ผิดทาง

"ตรงนี้แกะสลักไว้นานแล้วครับ" พี่จอแบบอกอีกครั้ง "เมื่อก่อนเคยมีพระธุดงค์เดินทางผ่านไปมาและตอนนี้ก็ยังมีอยู่" พี่จอแบเสริม

"โซนนี้เขาห้ามไม่ให้เขามาไม่ใช่หรือครับพี่?" ผมถาม "ใช่ครับ แต่ไม่รู้จะห้ามยังไง ขอความร่วมมือก็แล้ว มีทั้งหน่วยพิทักษ์ป่าสกัดไว้ก็แล้ว ส่วนช่องทางเข้าก็เยอะแยะ กำลังเราก็มีไม่พอ ห้ามไม่ไหวหรอกครับ ทำได้ก็เพียงบันทึกเป็นข้อมูลและเชิญออกนอกพื้นที่ได้เท่านั้น" คือคำตอบจากเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ทำงานที่น่าเห็นใจมากที่สุดในมุมมองของผม "พระนี่ก็มือบอนเหมือนกันนะ" รุ่นพี่ผมคนหนึ่งเอ่ยขึ้นมา ผมกลั้นขำไม่อยู่แต่ในใจก็ไม่แน่ว่าพระสงฆ์จะเป็นผู้ลงมือรังสรรเองหรือเปล่า แต่อย่างหนึ่งที่คิดคือเรื่องของต้าที่เพิ่งได้ยินมาไม่นาน

ทั้งสองเรื่องสาเหตุก็มาจากคำว่า "บอน" อาการที่เกิดขึ้นคือ "คัน" แม้ผลที่เกิดขึ้นจะเกิดต่อคนหรือธรรมชาติต่างก็เป็นผลกระทบทาง "ด้านลบ" เช่นเดียวกัน แต่อาการอย่างหลังไม่รู้ว่าจะต้องรักษาอย่างไรให้หาย

ผมครุ่นคิดอยู่พักใหญ่ก่อนปล่อยเรื่องชวนปวดอวัยวะให้หายไปเพราะมั่นใจว่า ไม่มีทาง ...


เกี่ยวกับผู้เขียน

"แต่เดิมเป็นเด็กบ้านนอกจากจั
งหวัดจันทบุรี ที่มีความมุ่งมันตั้งใจศึกษาต่อ ณ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จากความสนใจส่วนตัวและการชักชวนจึงเข้าเรียนในสาขาวิทยาศาสตร์สัตว์ป่าและทุ่งหญ้า ภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ จึงได้เข้าไปสัมผัสเรียนรู้เกี่ยวกับสัตว์ป่าหลากหลายประเภทในพื้นที่อนุรักษ์หลากหลายแห่งทั่วประเทศไทย หลังจากสำเร็จการศึกษาได้รับคำแนะนำให้ไปศึกษาต่อ ณ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิต กระนั้นก็ยังโหยหาและพยายามนำพาตัวเองเข้าป่าทุกครั้งที่โอกาสอำนวย"


พบกับบทความ "แบกเรื่องป่าใส่บ่ามาเล่า" ของ “จองื้อที” ได้ทุกวันที่ 1 และ 16 ของเดือน


กำลังโหลดความคิดเห็น