วว.แนะเพาะถั่วงอกเบญจรงค์รับประทานในครัวเรือน มีประโยชน์ต่อร่างกาย ปริมาณแป้งต่ำกว่าถั่วเมล็ดแห้ง
จากวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID -19 ในปัจจุบัน ส่งผลให้ประชาชนมีการเตรียมความพร้อมรับมือในการใช้ชีวิตประจำวันเพิ่มมากขึ้น การเตรียมอาหารสดสำหรับบริโภคโดยเฉพาะอย่างยิ่งผักจึงเป็นสิ่งจำเป็น ตัวอย่างเช่น การเตรียมถั่วเมล็ดแห้งเพื่อผลิตเป็นถั่วงอกจึงเป็นทางเลือกหนึ่งในสภาวะการณ์ดังกล่าว นอกจากนี้ในสถานการณ์ปกติ "ถั่วงอก" ยังเป็นผักที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประสบผลสำเร็จในการเพาะ "ถั่วงอกเบญจรงค์" ซึ่งเพาะได้จากถั่วหลายชนิดและหลากสี เช่น ถั่วเขียว ถั่วแดง ถั่วดำ ถั่วเหลือง และถั่วลิสง เป็นการเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการจากถั่วงอกธรรมดาซึ่งมักใช้ถั่วเขียวเพียงอย่างเดียว เนื่องจากพืชผักที่มีสีที่แตกต่างกันจะมีคุณประโยชน์และจุดเด่นที่แตกต่างกัน
ทั้งนี้ผักสีแดงช่วยให้ความอบอุ่นของร่างกาย ผักสีส้มช่วยกระตุ้นการขับถ่าย ผักสีเหลืองช่วยคลายเครียด ผักสีเขียวอ่อนช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันของร่างกาย ผักสีเขียวเข้มทำให้หลอดเลือดแข็งแรง และผักสีม่วงบำรุงสายตา
ถั่วงอก (Bean sprouts) จัดเป็นผักชนิดหนึ่งที่มีคุณค่าทางอาหารหลายอย่างสูง เช่น โปรตีน เกลือแร่ ฟอสฟอรัส ใยอาหาร วิตามินซี และเป็นอาหารที่มีแป้งต่ำกว่าถั่วเมล็ดแห้งชนิดเดียวกัน เนื่องจากแป้งบางส่วนถูกนำไปใช้ในการเจริญเติบโต
ข้อดีของถั่วงอก
1.มีวิตามิน B-complex ซึ่งปกติอยู่ในเมล็ดถั่วอยู่แล้ว เมื่อเพาะเป็นถั่วงอกจะมีวิตามินชนิดนี้เพิ่มขึ้นประมาณ 200-500 %
2. มีการเพิ่มขึ้นของวิตามินเอ แบบก้าวกระโดด (มีมากกว่าในเมล็ดถั่วมาก) เพิ่มขึ้นประมาณ 300 %
3. วิตามินซีในเมล็ดถั่วงอกเพิ่มขึ้นมาจากเมล็ดถั่วแห้ง กล่าวคือ เพิ่มขึ้นประมาณ 500-600 %
4.โดยปกติจะมีโปรตีนเพิ่มขึ้น เนื่องจากขณะงอกจะมีการย่อยสลายแป้ง (คาร์โบไฮเดรต) ซึ่งเป็นแป้งที่โครงสร้างไม่ซับซ้อน ทำให้มีการดูดซับไนโตรเจนจากอากาศมาเป็นองค์ประกอบของโปรตีนทำให้ปริมาณโปรตีนเพิ่มมากขึ้น
5. คาร์โบไฮเดรตลดลงหรือเปลี่ยนไปอยู่ในรูปที่ย่อยง่าย หรือ simple sugar เช่น กลูโคส และซูโคส (แป้งในถั่วงอกอยู่ในรูปที่ย่อยง่ายกว่าแป้งในถั่วเมล็ดแห้ง)
6.ในถั่วเมล็ดแห้งโดยทั่วไปจะไม่มีวิตามินซีหรือ ascorbic acid ซึ่งเป็นสารทำให้ร่างกายย่อยโปรตีนได้ดียิ่งขึ้น แต่ในถั่วงอกกลับมีปริมาณ ascorbic acid ในปริมาณที่สูง
7. ถั่วงอกเป็นอาหารที่เหมาะสำหรับลดความอ้วน เนื่องจากมีใยอาหารสูงและให้พลังงานต่ำกว่าถั่วเมล็ดแห้ง
วิธีการเพาะถั่วงอก (กรณีใช้เมล็ดถั่วเหลืองแห้งเป็นวัตถุดิบ)
1.เลือกเมล็ดถั่วเหลืองที่ลีบออก นำแต่เมล็ดที่ดีมาล้างให้สะอาดด้วยน้ำธรรมดา (ไม่ควรล้างด้วยน้ำอุ่นเพราะจะทำให้การงอกของถั่วเหลืองลดลง) แล้วแช่น้ำค้างคืนไว้ 1 คืน เนื่องจากถั่วเหลืองเป็นพืชน้ำมันจึงควรหมั่นเปลี่ยนน้ำ เมล็ดถั่วที่สมบูรณ์จะเริ่มมีรากเล็กๆ งอกออกมา
2.เทเมล็ดถั่วเหลืองลงในกระบะเพาะพลาสติกที่มีผ้าสำลีชุบน้ำรองกระบะ เกลี่ยเมล็ดถั่วเหลืองให้ทั่ว รดน้ำให้ชุ่ม ใช้ผ้าสำลีชุบน้ำให้ชุ่มน้ำปิดทับถั่ว รดน้ำบนผ้าสำลีให้ชุ่มอีกครั้งหนึ่ง
3.ปิดฝา วางไว้ในถุงดำ หรือถังพลาสติกดำ ปิดให้สนิท
4.รดน้ำ พยายามอย่าให้ขาดน้ำ เพราะถั่วเหลืองมีโอกาสเน่าง่ายกว่าถั่วเขียว จะใช้เวลาประมาณ 2-3 วัน จึงเป็นถั่วเหลืองงอกที่นำไปรับประทานหรือจำหน่ายได้
การเพาะถั่วงอกเบญจรงค์ตามสูตรดังกล่าว สามารถนำวิธีการเพาะประได้กับถั่วชนิดต่างๆสำหรับรับประทานในครัวเรือน ซึ่งจะมีราคาถูกและถูกสุขอนามัยมากขึ้น นอกจากนั้นยังสามารถนำไปเป็นแนวทางการหารายได้เสริมจากภาวะที่เศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากไวรัส COVID-19 หรือในภาวะปกติภายหลังสถานการณ์คลี่คลาย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ วว. โทร. 0 2577 9000 โทรสาร 0 2577 9009 ในวันและเวลาราชการ E-mail : tistr@tistr.or.th