xs
xsm
sm
md
lg

แนะวิธีแยก “แมงดาทะเลมีพิษ”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นักวิชาการแนะวิธีแยก “แมงดาทะเลมีพิษ” และช่วงนี้ให้งดบริโภค ‘ไข่แมงดา” เหตุเสี่ยงพิษ โดยในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากการรับประทานแมงดาที่มีพิษอยู่ไม่น้อย

จากกรณีมีผู้หญิงในจังหวัดสระแก้ว ซื้อไข่แมงดาทะเลจากตลาดไปประกอบอาหารรับประทานในครอบครัว แต่ภายหลังรับประทานไปได้ไม่นาน เกิดอาการปากชา มือเท้าชา หายใจลำบาก ต้องนำตัวส่งโรงพยาบาลและเสียชีวิตในเวลาต่อมา แพทย์ระบุเหตุจากพิษของไข่แมงดาทะเลที่รับประทานเข้าไปโดยไม่ทราบว่ามีพิษ

เพื่อให้ความรู้ในการจำแนกชนิดของแมงดามีพิษกับไม่มีพิษ รศ.ดร.ซุกรี หะยีสาแม คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี นักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องแมงดาทะเล ในโครงการการใช้ฐานทรัพยากรชีวภาพอ่าวปัตตานี สู่การใช้ประโยชน์โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพยั่งยืนและมั่นคง ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ออกมาแนะนำให้ความรู้เกี่ยวกับแมงดาทะเล รวมถึงข้อสังเกตในการเลือกดูว่าแมงดาทะเลชนิดพันธุ์ใดที่มีพิษ

รศ.ดร.ซุกรี ให้ข้อมูลว่า แมงดาทะเลที่มีพิษ คือ “แมงดาถ้วย” โดยเฉพาะช่วงนี้เป็นช่วงฤดูวางไข่ของแมงดาถ้วย ซึ่งจะพบมากในฝั่งอ่าวไทย โดยแมงดาถ้วยเริ่มวางไข่มาตั้งแต่เดือนธันวาคม และมีความหนาแน่นของไข่ที่พร้อมกินแต่มีความเป็นพิษสูง ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน

“ใครที่รับประทานไข่แมงดาช่วงนี้ไปจนถึงเดือนเมษายนให้รู้ไว้ว่ามีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นไข่แมงดาถ้วย ซึ่งมีพิษอันตรายถึงชีวิต ในอดีตชาวบ้านไม่นิยมกิน แต่เข้าใจว่าระยะหลังเริ่มมีชาวประมงนำแมงดาถ้วยมาขาย ซึ่งเมื่อก่อนไม่มีราคา แต่เพราะไข่ของแมงดาจานไม่มีพิษเริ่มถูกจับมาขายมากขึ้น จนจำนวนเริ่มลดน้อยลง จนบางพื้นที่ของไทยนำเข้าแมงดาจาน จากประเทศเพื่อนบ้านเป็นหลัก ทำให้ไข่แมงดาจานมีราคาแพง จึงอาจจะมีการนำแมงดาถ้วยมาผสมขายและบริโภคแทนก็ได้ ซึ่งถือว่าอันตรายมาก”

รศ.ดร.ซุกรี กล่าวว่า แมงดาถ้วยหรือ แมงดาไฟ หรือ เหรา โดยเรียกชื่อต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ พบได้เยอะในประเทศไทย อาศัยอยู่ตามหาดโคลนปนทราย ลักษณะภายนอกจะมีกระดองโค้งกลมเหมือนถ้วย ตัวสีเข้มวางไข่ตามป่าชายเลย วิธีสังเกตง่ายๆ จากลักษณะกายภาพให้ดูที่ โคนหางถึงกลางหาง จะมีลักษณะกลมเหมือนแท่งดินสอ เป็นแมงดาที่มีพิษไม่นิยมนำไข่มารับประทาน เนื่องจากกินแล้วเมา ผู้มีอาการแพ้จะมีอาการปากชา พูดไม่ได้ แขนขาชา หายใจไม่ออก บางรายอาจมีอาเจียนร่วมด้วยและเสียชีวิต

"สำหรับแมงดาชนิดที่นำไข่มารับประทานได้ คือ "แมงดาจาน" ในอดีตพบมากในประเทศไทยทั้งฝั่งอันดามันและอ่าวไทย แต่ระยะหลังนี้เริ่มน้อยลงจนและเสี่ยงสูญพันธุ์ในฝั่งอ่าวไทย ลักษณะทางกายภาพลำตัวแบนกว้างเหมือนจาน หากสังเกตที่หางจะเป็นสามเหลี่ยมตั้งแต่โคนถึงกลางหาง ส่วนปลายหางจะแหลม"

รศ.ดร.ซุกรีกล่าวอีกว่า ไข่แมงดาจานก็มีพิษอยู่บ้าง แต่ถือว่าน้อยมากจนไม่เกิดอันตราย คนจึงนิยมนำไข่แมงดาจานมารับประทาน โดยเฉพาะคนจีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ทำให้จำนวนประชากรแมงดาจานเริ่มเหลือน้อยมากในประเทศไทย จนกระทั่งในระยะหลังเริ่มมีการนำเข้าไข่แมงดาจานจากเพื่อนบ้านเข้ามาในประเทศไทย ทั้งนี้ในแง่ของการอนุรักษ์ประชากรแมงดาจาน อยากให้ประชาชนลดการรับประทานไข่แมงดาจานเพื่อเป็นการอนุรักษ์ประชากรแมงดาจานให้อยู่ในระบบนิเวศทางทะเลต่อไปด้วย

“แมงดาเป็นสัตว์ที่มีรูปร่างเหมือนจานคว่ำหรือชามขนาดใหญ่ ซึ่งสัตว์จำพวกอื่นที่มีอวัยวะแบบเดียวกันนี้ คือ แมงมุม และแมงป่อง อาหารของแมงดามีหลากหลาย ส่วนใหญ่เป็นพวกหอย ปู กุ้ง ปลา รวมถึงสาหร่ายทะเล ขาของแมงดามีความสามารถใช้สำหรับจับการเคลื่อนไหวหรือดมกลิ่นได้ แม้แมงดาจะมีรูปร่างดูเทอะทะ แต่ร่างกายของแมงดากลับยืดหยุ่นได้เป็นอย่างดี โดยแมงดาเพศเมียภายในร่างกายจะมีการผลิตไข่อยู่ตลอดเวลาเพื่อรอเวลาผสมพันธุ์และวางไข่”

อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.ซุกรีแนะนำว่า ไม่ควรซื้อไข่แมงดาทะเลมาปรุงอาหารรับประทานเอง หากอยากรับประทานไข่แมงดาทะเลมาก แนะนำให้ไปที่ร้านอาหารทะเลที่ปรุงสำเร็จจะดีกว่า เพราะร้านอาหารทะเลจะมีความชำนาญในการสังเกตและเลือกไข่แมงดาที่ปลอดภัยมาขายได้ดีกว่าผู้บริโภคทั่วไป

แมงดาจานที่กินได้

แมงดาจานที่กินได้

แมงดาถ้วยที่กินไม่ได้

แมงดาถ้วยที่กินไม่ได้

แมงดาถ้วยที่กินไม่ได้

แมงดาถ้วยที่กินไม่ได้



รศ.ดร.ซุกรี หะยีสาแม


กำลังโหลดความคิดเห็น