xs
xsm
sm
md
lg

“ตู้ปลูกสตรอว์เบอร์รี” ใช้แสงเทียม สดใหม่ ไร้สารเคมี

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภายในตู้ปลูกสตรอว์เบอร์รี
นักวิจัย สกสว. พัฒนา “ตู้ปลูกสตรอว์เบอร์รีระบบปิด” ใช้แสงไฟเทียมและระบบ IoT ภายในตู้คอนเทนเนอร์ ได้ผลผลิตสดใหม่ ไร้สารเคมี ปลูกได้ทุกฤดูกาล

“สตรอว์เบอร์รี” เป็นผลไม้เมืองหนาวที่ได้รับความนิยมจากผู้คนทั่วโลก มีคุณค่าทางโภชนาการ และมูลค่าสูงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงนอกฤดู การผลิตสตรอว์เบอร์รีในประเทศไทยส่วนใหญ่ทำในเขตพื้นที่ภาคเหนือซึ่งมีสภาพอากาศเหมาะสม

ทว่าข้อจำกัดของการปลูกอยู่ที่ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ การระบาดของโรคและแมลง อีกทั้งการดูแลบำรุงรักษาที่มีขั้นตอนยุ่งยาก ตั้งแต่คัดพันธุ์ ตัดไหล การบำรุงสารอาหารต่างๆ ไปจนถึงการดูแลรักษาผลผลิตหลังเก็บเกี่ยว ทำให้ผลผลิตสตรอว์เบอร์รีที่ได้มีคุณภาพและปริมาณด้อยลง รวมทั้งมีการปนเปื้อนของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในระดับสูง

เพื่อพัฒนาระบบผลิตสตรอว์เบอร์รีให้ได้ผลผลิตคุณภาพสูง ไร้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช และปลูกได้ในทุกฤดูกาล ผศ.ดร.สิริวัฒน์ สาครวาสี คณะผลิตกรรมการเกษตร และ ผศ.ดร.โชติพงศ์ กาญจนประโชติ คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้วิจัยและพัฒนา ระบบปิดและระบบ IoT เพื่อการผลิตสตรอว์เบอร์รีภายใต้แสงเทียมในตู้คอนเทนเนอร์ ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

ผศ.ดร.สิริวัฒน์ กล่าวว่าจุดเริ่มต้นงานวิจัยเนื่องจากเห็นว่าปัจจุบันการปลูกพืชในระบบปิด หรือโรงงานผลิตพืช เป็นเทคโนโลยีที่กำลังแพร่หลายในประเทศไทย โดยเป็นระบบการปลูกพืชที่มีการควบคุมสภาพแวดล้อมเกือบทั้งหมดให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตและให้ผลผลิตของพืชตลอดเวลา โดยใช้อุปกรณ์ เช่น แหล่งกำเนิดแสงเทียม เครื่องปรับอากาศและระบบเพิ่มปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ ทำให้สามารถผลิตพืชที่มีคุณภาพสูงในทุกสถานที่และทุกสภาพอากาศ จึงมีแนวคิดที่จะทดลองปลูกสตรอว์เบอร์รี

“สตรอว์เบอร์รีจัดเป็นพืชที่มีความท้าทายสำหรับการปลูกในระบบปิด เนื่องจากมีขั้นตอนการจัดการและดูแลรักษาที่ค่อนข้างซับซ้อน โดยแม้จะมีความพยายามทดลองปลูกโดยนักวิจัยอิสระอยู่บ้าง แต่ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร งานวิจัยจึงพัฒนาต้นแบบระบบปิดและระบบ IoT เพื่อผลผลิตสตรอว์เบอร์รีภายใต้แสงเทียมในตู้คอนเทนเนอร์ฤ

นอกจากด้านในตู้จะปลูกสตรอว์เบอร์รีแล้ว ยังมีการพัฒนาระบบ IoT (Internet of Things) เพื่อสังเกตการณ์และควบคุมสภาพแวดล้อมภายใต้การแนะนำของ ผศ.ดร.โชติพงษ์ กาญจนประโชติ อาจารย์คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ซึ่งเป็นการดึงศักยภาพของเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตเข้ามาสร้างระบบติดตามและควบคุมการปลูกพืชแบบทางไกล

การควบคุมพืชทางไกลนั้น ใช้ประโยชน์จากเซ็นเซอร์วัดปริมาณแสง ความชื้น อุณหภูมิ และปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อช่วยให้เกษตรกรหรือผู้ประกอบการสังเกตการณ์และควบคุมสภาพแวดล้อมในตู้ปลูกได้ตลอดเวลาและไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม โดยทีมวิจัยได้ออกแบบระบบให้ผู้ที่นำเทคโนโลยีไปใช้สามารถปลูกและดูแลสตรอว์เบอร์รีได้ง่ายที่สุด เพื่อช่วยประหยัดเวลาและสามารถผลิตสตรอว์เบอร์รี่ได้จริง

“ตู้ปลูกสตรอว์เบอร์รี่ที่ออกแบบไว้มีขนาดเหมาะสำหรับการปลูกจำนวน 200-300 ต้น และสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ภายใน 4-5 เดือน โดยการวิจัยในเฟสแรกจะเสร็จสิ้นในเดือนมีนาคมนี้”

ผศ.ดร.สิริวัฒน์ กล่าวอีกว่า เหตุผลที่เลือกพัฒนาระบบผลิตสตรอว์เบอร์รีในตู้คอนเทนเนอร์นั้น เนื่องจากได้คุยกับผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจให้เช่าโกดังเก็บสินค้า ซึ่งหาตู้คอนเทนเนอร์ได้ในราคาไม่แพง และมีโจทย์ว่าอยากลงทุนและหาแนวทางทำธุรกิจใหม่ๆ กับตู้คอนเทนเนอร์ จึงสนใจร่วมกันที่จะลองพัฒนาระบบปลูกพืชแบบปิดในตู้คอนเทนเนอร์

ข้อดีจุดหนึ่งของตู้คอนเทนเนอร์คือเคลื่อนย้ายได้ สามารถให้เช่าเพื่อจัดแสดงตามสถานที่ต่างๆ ทั้งในแบบระยะสั้นและระยะยาว อีกทั้งยังมองการประยุกต์ใช้งานไปที่กลุ่มเป้าหมาย เช่น ประชาชนที่อยากได้ตู้ปลูกพืชในบ้าน ผู้ประกอบการร้านอาหาร ร้านกาแฟ เพื่อสร้างประสบการณ์การรับประทานสตรอว์เบอร์รีแบบใหม่ให้ลูกค้า

“ตัวอย่างเช่นลูกค้าสั่งเมนูสตรอว์เบอร์รีปั่นในร้านกาแฟ ผู้ประกอบการก็สามารถตัดลูกสตรอว์เบอร์รีสดๆ จากตู้ปลูก โดยไม่ต้องล้าง รับประทานได้เลย เพราะสตรอว์เบอร์รีที่ปลูกในระบบนั้นสะอาด ปลอดสารจำกัดศัตรูพืช 100% ลูกค้าได้รับประทานสตรอว์เบอร์รีสดใหม่ และปลอดภัย เป็นจุดขายที่ช่วยดึงดูดความสนใจลูกค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่แนวโน้มผู้บริโภคส่วนใหญ่เริ่มหันมาใส่ใจในเรื่องสุขภาพกันมากขึ้น”

แม้ว่าการคิดค้นพัฒนาจะตั้งต้นจากตู้คอนเทนเนอร์ แต่ระบบปิดและระบบ IoT เพื่อการผลิตสตรอว์เบอร์รีที่พัฒนาขึ้น ก็ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงการใช้ประโยชน์ในรูปแบบตู้คอนเทนเนอร์เท่านั้น ทีมวิจัยสามารถออกแบบติดตั้งตู้ปลูกระบบปิดและระบบ IoT นี้ ได้หลากหลายรูปแบบตามความต้องการของเกษตรกรและผู้ประกอบการ ส่วนแผนพัฒนาต่อยอดงานวิจัยในเฟสต่อไปทีมวิจัยเตรียมศึกษาพัฒนาการผลิตสตรอว์เบอร์รีให้ลูกใหญ่และมีรสชาติที่ดีขึ้น

ผู้ประกอบการหรือผู้ที่สนใจต้นแบบระบบปิดและระบบ IoT เพื่อผลผลิตสตรอว์เบอร์รีภายใต้แสงเทียมฯ ทีมวิจัยสามารถเริ่มถ่ายทอดเทคโนโลยีให้อย่างเต็มรูปแบบในเดือนเมษายนนี้ โดยผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่ ผศ.ดร.สิริวัฒน์ สาครวาสี อีเมล tongscpl@yahoo.com หรือแฟนเพจเฟซบุ๊ก MJU Smart & Precision Agriculture

ตัวอย่างสตรอว์เบอร์รีในตู้ปลูก

ตัวอย่างสตรอว์เบอร์รีในตู้ปลูก

ตัวอย่างสตรอว์เบอร์รีในตู้ปลูก

ผศ.ดร.สิริวัฒน์ สาครวาสี

หน้าจอควบคุม

หน้าจอควบคุม


กำลังโหลดความคิดเห็น