“พาณิชย์”เผยส่งออกม.ค.ฟื้นตัว เพิ่ม 3.35% เป็นบวกครั้งแรกรอบ 6 เดือน ได้แรงหนุนจากส่งออกทองคำ น้ำมัน และผลกระทบสงครามการค้าลดลง ส่งออกเป็นขาขึ้น แถมมีสินค้าดาวรุ่งพุ่งแรงหลายกลุ่ม ยอมรับผลกระทบโควิด-19 จะส่งผลตัวเลขก.พ. แต่ในทางกลับกัน เป็นโอกาสส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารได้เพิ่มขึ้น แนะเตรียมพร้อม มั่นใจปีนี้ส่งออกบวกแน่ เบื้องต้นประเมิน 0-2% แต่ตัวเลขชัดๆ รอ 28 ก.พ.นี้
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า การส่งออกสินค้าไทยเดือนม.ค.2563 มีมูลค่า 19,625.7 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 3.35% ถือเป็นการกลับมาขยายตัวเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 6 เดือน และเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคแถบนี้ ที่ส่งออกเป็นบวก แม้แต่เวียดนามยังติดลบถึง 2 หลัก ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเข้มแข็งของการส่งออกของไทยที่กระจายตัวได้ดีทั้งในด้านสินค้าและตลาด ทำให้ประคองส่งออกไปได้ แม้จะมีปัจจัยความท้าทายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเศรษฐกิจโลก ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 21,181.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 7.86% โดยขาดดุลการค้ามูลค่า 1,555.7 ล้านเหรียญสหรัฐ
ทั้งนี้ การส่งออกที่เพิ่มขึ้น มาจากการส่งออกทองคำ เพราะคนวิ่งหาทองคำเพื่อลดความเสี่ยง และยังมีการส่งออกน้ำมันเพิ่มขึ้น ขณะที่ผลกระทบจากสงครามการค้าลดลง ทำให้สินค้าในกลุ่มที่เกี่ยวเนื่องกับสงครามการค้าส่งออกได้ดีขึ้น และการส่งออกไทยกลับมาอยู่ในช่วงฟื้นตัว อีกทั้งมีสินค้าดาวรุ่งกลุ่มใหม่ที่ขยายตัวได้ดี ส่วนใหญ่เป็นเกษตรและอาหาร เช่น ผลไม้ ไก่ เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง เฟอร์นิเจอร์ ของตกแต่งบ้าน รวมถึงสินค้าอุตสาหกรรมที่กลับมาฟื้นตัว เช่น เครื่องปรับอากาศ
“การส่งออกในเดือนม.ค.2563 ยังไม่สะท้อนผลกระทบจากโรคไวรัสโควิด-19 โดยน่าจะเห็นผลได้ชัดเจนในเดือนก.พ.2563 ที่มองว่าการส่งออกน่าจะลดลง เพราะได้รับผลกระทบด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ โดยมีการเข้มงวดเรื่องตู้คอนเทนเนอร์มากขึ้น มีการปิดด่านบางด่วน แม้จะเริ่มเปิดให้บริการ ก็ทำให้เกิดความล่าช้าในการส่งออก แต่ในวิกฤตก็มีโอกาส โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอาหาร ที่จะส่งออกได้ดีขึ้นอย่างมาก หากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 คลี่คลาย เพราะจะมีความต้องการเข้ามาอย่างมาก ซึ่งไทยจะต้องรักษาคุณภาพ มาตรฐาน เพื่อสร้างโอกาสในการส่งออกต่อไป”
ขณะเดียวกัน มีสัญญาณดีจากการนำเข้าเครื่องจักรที่เพิ่มขึ้นถึง 18.7% ที่แสดงให้เห็นว่ามีความต้องการขยายการผลิต และมีสัญญาณการเคลื่อนย้ายซัปพลายเชนในภูมิภาคบางส่วนเข้ามาไทย เพื่อลดผลกระทบจากสงครามการค้าและไวรัสโควิด-19 ซึ่งไทยควรจะใช้โอกาสนี้ปรับโครงสร้างการส่งออกและการผลิตให้ตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก เช่น เรื่องรถยนต์ไฟฟ้า ที่ตลาดมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมแล้ว
สำหรับการส่งออกของไทยในปีนี้ เบื้องต้นประเมินว่าจะขยายตัวเป็นบวกได้ 0-2% โดยหากส่งออกได้เฉลี่ยเดือนละ 21,049 ล้านเหรียญสหรัฐ ก็ขยายตัวได้ 2% แล้ว โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากสงครามการค้าคลี่คลาย เงินบาทอ่อนค่า กระทรวงพาณิชย์มีมาตรการส่งเสริมและผลักดันการส่งออก โดยมีแผนที่จะเปิดตลาดเป้าหมายรวม 18 ตลาด ที่กำลังจะดำเนินการ เช่น แอฟริกาใต้ รัสเซีย ตะวันออกกลาง ส่วนประเทศอื่นๆ กำลังประเมินความเหมาะสม และมีแผนเร่งรัดการเจรจา FTA ที่ค้างอยู่ให้เสร็จโดยเร็ว ทั้งไทย-ตุรกี ไทย-ปากีสถาน ไทย-ศรีลังกา และเริ่มเจรจา FTA ใหม่ๆ รวมทั้งการพิจารณาเข้าร่วม CPTPP ส่วนผลกระทบตอนนี้ คงเป็นเรื่องไวรัสโควิด-19 แต่หากชะลอตัวและควบคุมสถานการณ์ได้ ก็จะส่งผลดีต่อการส่งออกในระยะต่อไป