พบกระบวนการปั่นราคาหน้ากากอนามัย โพสต์สร้างข่าวตามหานับล้านชิ้น ด้วยราคาใหม่ที่แพงกว่าเดิม ถือเป็นมันนี่เกมที่มีสินค้าจริงๆ มีความต้องการซื้อจริงๆ มาเป็นองค์ประกอบ
... รายงานพิเศษ
“ใครมีหน้ากากอนามัย 1 ล้านชิ้น พร้อมจ่ายชิ้นละ 7 บาท ทักมา จ่ายเงินสด มีออเดอร์มาจากจีน”
“หน้ากาก 5 ล้านชิ้น ใครมีของตอนนี้ ทักมาเลย”
“อยู่หน้าโรงงานหน้ากากแล้ว ใครต้องการเท่าไหร่ สั่งมาเลย ชิ้นละ ... บาท”
ข้อความที่มีเนื้อหาทำนองนี้ ถูกโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กเป็นจำนวนมากในช่วงตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังข่าวการแพร่ระบาดของ “ไวรัสโคโรน่า” ในประเทศจีน สร้างความหวาดกลัวไปทั่วสารทิศ
ยิ่งเมื่อพบผู้ติดเชื้อในประเทศไทย พบคนไทยที่ไม่เคยไปเมืองอู่ฮั่นแต่ติดเชื้อจากนักท่องเที่ยว ก็ยิ่งทำให้ความต้องการหน้ากากอนามัยสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจน “หาซื้อไม่ได้” ตามสถานที่ที่เคยมีขายทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นร้านสะดวกซื้อ หรือ ร้านขายยา
“แต่ไม่ใช่ขาดตลาด เรียกว่าขาดตลาดไม่ได้” ... แหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือคนหนึ่ง บอกกับผู้เขียนเช่นนั้น
ถ้าเช่นนั้น หน้ากากอนามัยหายไปไหน? คนโพสต์ตามหาของเป็นล้านๆ ชิ้น เอาไปทำอะไร? มาหาคำตอบกัน
ข้อมูลจากคนที่อยู่ในวงการซื้อ-ขายสินค้าประเภทนี้ บอกว่า โดยปกติความต้องการหน้ากากอยามัยในประเทศไทยมีอยู่ประมาณ 20 ล้านชิ้นต่อเดือน ใช้ในโรงพยาบาลและใช้กับผู้ป่วยที่อ่อนไหวต่อการติดเชื้ออยู่แล้ว ซึ่งจนถึงเวลานี้ หน้ากากอนามัยที่นำไปส่งให้โรงพยาบาล ก็ยังมีอยู่ตามปกติ เพราะโรงพยาบาลต่างๆ มีสัญญาโดยตรงจากผู้ขายเจ้าประจำอยู่แล้ว
แต่ไม่มีของไปส่งที่ร้านขายยา หรือ ร้านสะดวกซื้อ เพราะราคา “ถูกทำให้สูงขึ้น” ทุกวัน
วันนี้ (6 ก.พ.2563) ราคาหน้ากากอนามัย (แบบธรรมดา) ที่ขายกันในตลาดมืด มีราคาอยู่ที่ชิ้นละ 14 บาท ทั้งที่เมื่อ 10 วันก่อน มีราคาเพียงชิ้นละ 20 สตางค์เท่านั้น
ราคาที่สูงขึ้น มีที่มาจากหลักการแรก คือ ทำให้ของที่มีอยู่ดูเหมือนว่า “ขาดตลาด” แต่สามารถหาของมาขายได้ คำถาม คือ เขาขายกันที่ไหน
คำตอบคือ “ที่ตู้คอนเทนเนอร์” ตามท่าเรือต่างๆ
ดังนั้นหมายความว่า “ของมี” แต่ไม่ถูกเอาออกมาขาย แต่ถูกใช้เป็นเครื่องมือ “สร้างข่าว” เพื่อ “ปั่นราคา” โดยระบุว่า “มีออเดอร์จำนวนมากจากต่างประเทศ”
ประเทศจีน มีประชากร 1,400 ล้านคน และพื้นที่ส่วนใหญ่พบการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า ทำให้มีความต้องการหน้ากากอนามัยนับพันล้านชิ้นจริงๆ ประกอบกับข้อเท็จจริงที่ว่า การเป็นพื้นที่แพร่ระบาด ทำให้การผลิตหน้ากากอนามัยในประเทศจีนเองก็ทำไม่ได้ เพราะจะไม่สามารถมั่นใจได้ว่าจะปลอดเชื้อจริงๆ ทำให้ “จีน” ต้องการซื้อหน้ากากอนามัยจากต่างประเทศจริง
ทั้งหมดนี้ ในเมื่อมีข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง ก็ยิ่งทำให้เมื่อมีคนบอกว่า “มีออเดอร์จำนวนมากสั่งมาจากจีน” เป็นข้อมูลน่าเชื่อถือ
กระบวนการ “ปั่นราคา” เริ่มขึ้นที่ตรงนี้ ที่เราเห็นหน้าเฟซบุ๊กที่โพสต์เปิดเผยกันเป็นสาธารณะถือเป็นส่วนหนึ่ง แต่ส่วนที่รุนแรงกว่าจะอยู่ในกลุ่มของคนที่ขายสินค้าออนไลน์
กระบวนการแรก เริ่มจาก บุคคลที่ 1 ผู้โพสต์ “ตามหาหน้ากากอนามัยนับล้านชิ้น โดยระบุว่ามีความต้องการซื้อจริง พวกเขาเพิ่มความน่าเชื่อถือ ด้วยการปล่อยภาพที่อ้างว่า เป็นนายทุนจากจีนเดินทางมาจริง มีไฟลท์บินลงจอด มีเงินสดมาซื้อ ที่สำคัญคือ ระบุราคาที่แพงกว่า เอาไว้ด้วย”
ดังนั้นเข้าใจก่อนว่า กระบวนการนี้ส่วนใหญ่ “เป็นข่าว ที่สร้างขึ้นมาเอง” มีเป้าหมายเพื่อสร้างราคาใหม่ที่แพงกว่าเดิม
จากนั้นจะมี บุคคลที่ 2 ออกมาแสดงตัวว่าเป็นผู้ที่ “มีของ” พร้อมส่ง แล้วถามกลับว่า “มีเงิน จริงหรือเปล่า”
บุคคลที่ 1 ก็จะทำหน้าที่รวบรวมเงิน โดยอ้างว่า มีเงินจริง แต่ยังไม่พอ และต้องการรวบรวมเงินจากผู้ค้ารายอื่นที่สนใจเข้ามารวมเงินกันจนทำให้พอกับราคาสินค้าจำนวนมาก พร้อมการันตีว่า ซื้อมาแล้ว สามรถขายต่อทันที มีนายทุนรอซื้อเร่งด่วนอยู่แล้ว ได้กำไรคืนอย่างรวดเร็ว
จากนั้นก็จะมี “ผู้ค้าออนไลน์” จำนวนหนึ่ง เข้ามาร่วมลงทุน ลงเงิน เพราะเห็นแล้วว่า มีคนซื้อรออยู่แล้ว มีของแน่นอน จนสามารถระดมเงินมาจนครบ กลุ่มนี้เป็น บุคคลที่ 3 ที่หวังค้าขายสินค้าที่เห็นแล้วว่า ขายได้แน่นอน 100% ได้เงินแน่นอนในระยะเวลาอันสั้น
บุคคลที่ 3 เหล่านี้ ก็วางเงินมัดจำไป ... สมมติว่ามัดจำ 10%
เมื่อวางเงินไปแล้ว กลับกลายเป็นว่า บุคคลที่ 1 และ บุคคลที่ 2 อ้างว่า ยังขายไม่ได้ เพราะผู้ซื้อหรือนายทุนที่จะซื้อ “ยกเลิก” การซื้อไปแล้ว เพราะระดมเงินได้ช้า จึงไปซื้อจากเจ้าอื่นแล้ว ผลก็คือ “ยึดเงินมัดจำ”
ดังนั้น บุคคลที่ 1 ที่โพสต์ตามหาของ และบุคคลที่ 2 ที่มีของ ... เป็นคนกลุ่มเดียวกัน รู้อยู่แล้วว่ามีของ แต่สร้างข่าวว่า “หาของ” เพื่อ “ปั่นราคา”
ส่วนสินค้า ... ก็ยังอยู่เหมือนเดิม มีของจริงแต่ไม่ได้ขาย และใช้วิธีใส่ไว้ตู้คอนเทนเนอร์ ส่งวนไปตามท่าเรือต่างๆ ให้ดูเหมือนเป็นสินค้าคนละชุด จากนั้นก็เริ่มกระบวนการเหมือนเดิม คือ โพสต์ตามหาของหลายล้านชิ้น เพื่อทำให้ราคาสูงขึ้นไปอีก
จาก 20 สตางค์ต่อชิ้นเมื่อ 10 วันก่อน จึงกลายเป็น 14 บาทต่อชิ้นในวันที่ 6 ก.พ. 2563 และคืนนี้จะเพิ่มเป็น 16 บาทต่อชิ้น สำหรับหน้ากากอนามัยธรรมดาที่เป็นสีเขียว
ส่วนหน้ากาก N-95 ที่มีศักยภาพป้องกันฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 ด้วย จากราคาชิ้นละ 55 บาท เมื่อประมาณ 10 วันก่อน มีราคาถึง 180 บาทแล้ว และวันนี้จะมีราคาเพิ่มเป็นชิ้นละ 200 บาท (6 ก.พ. 2563)
เช่นเดียวกับ “เจลล้างมือ” นับส่วนต่างประมาณ 10 วันเช่นกัน จากราคาขวดละ 70 บาท ขึ้นเป็น 350 บาท
ข้อมูลระบุว่า มีหน้ากากอนามัย 25-50 ล้านชิ้น วนเวียนอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์ ณ เวลานี้ ... นี่เป็นเพียงกระบวนการหนึ่ง
ข้อเท็จจริงคือ “จีน” หันไปซื้อจากแหล่งผลิตอื่นตั้งแต่ประมาณ 10 กว่าวันก่อนแล้ว คือ อินเดีย เพราะกำลังการผลิต สอดรับกับความต้องการจำนวนมากมากกว่าไทย ขณะที่ “ไต้หวัน” หันไปซื้อจากอิหร่านแล้ว
ส่วนไทย ยังมีออเดอร์ที่ส่งไปยังฮ่องกง แต่สินค้าที่ฮ่องกงสั่งเป็นหน้ากากอนามัยแบบที่แพทย์ใช้และต้องมีใบรับรองเท่านั้น
และหากไปดูที่โรงงานผลิตในไทย จะพบข้อเท็จจริง มีออเดอร์ที่สั่งหน้ากากอนามัยส่งไปต่างประเทศเข้ามาแล้ว โดยสั่งผลิตล่วงหน้าไปถึง 3 เดือนนับจากนี้ ทำให้เต็มกำลังการผลิต
คำถามต่อมา คือ “หน้ากาก” ที่วนเวียนอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์ ทำทีว่าจะส่ง ต่ไม่ได้ส่ง เพราะไม่มีออเดอร์จริง ไม่ถูกปล่อยออกไปเลยเหรอ ... คำตอบ คือ ปล่อยออกไปบ้าง
กลุ่มที่กักตุนไว้ กักสินค้าไว้ตั้งแต่ราคายังไม่ถึงชิ้นละ 1 บาท ในช่วงที่แพงขึ้น ก็ปล่อยออกไปบ้างให้ผู้ซื้อในไทยเองเพราะทำกำไรได้แล้ว แต่ยังเก็บอีกส่วนหนึ่งไว้เพื่อโชว์ว่ามีของในกระบวนการปั่นราคา
“เขานับเงินสดกันที 30-50 ล้าน ที่หน้าตู้คอนเทนเนอร์ ตอนนี้ (ขณะที่เขียน) ก็มีแจ้งเข้ามาว่าจะมีของมาลงที่ท่าเรือแห่งหนึ่ง 5 แสนชิ้น” ... ข้อมูลเชิงลึกระบุ
ที่ยังเป็นข่าวดีอยู่บ้าง คือ ณ วันนี้ เริ่มมีรายย่อยบางรายที่เก็บของไว้ในหลักแสนชิ้น พยายามหาทางปล่อยของบ้างแล้ว
อย่างวันนี้ (6 ก.พ. 2563) พบว่ามีรายย่อยรายหนึ่งประกาศในกลุ่มผู้ค้าออนไลน์ ต้องการปล่อยหน้ากากอนามัย 1 แสนชิ้น ในราคาชิ้นละ 7.50 บาท หลังจากที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศให้หน้ากากอนามัยเป็นสินค้าควบคุม ทั้งควบคุมราคา ทั้งจำกัดจำนวนการซื้อ ทำให้ผู้ค้าบางส่วนที่ไม่มีศักยภาพเก็บของไว้นานต้องยอมปล่อยไปแบบขาดทุน ดีกว่าขายไม่ได้เลย
แต่การปล่อยในราคา 7.50 บาทต่อชิ้น ก็ยังทำกันอยู่ในตลาดมืด เพราะส่งออกก็ไม่ได้ นำไปขายให้ร้านขายยาก็ไม่ได้ ไม่มีร้านไหนซื้อในราคานี้
แต่แม้จะเป็นเช่นนั้น กระบวนการปั่นราคา ก็ยังคงมีอยู่ต่อไป ... เพราะมีความเชื่อกันว่า หากไวรัสระบาดหนักขึ้นจริง ก็อาจมีราคาสูงขึ้นอีกในช่วง 1-2 เดือนจากนี้
นี่คือมันนี่เกมอย่างหนึ่ง เป็นมันนี่เกมที่มีสินค้าจริงๆ มีความต้องการซื้อจริงๆ มาเป็นองค์ประกอบ
กระบวนการที่เกิดขึ้น อาจเรียกได้ว่าเป็น “โซเชียลอิมแพค” (Social Impact) ที่สามารถปล่อยข่าว ปั่นราคา สร้างความต้องการขึ้นจากจุดเด่นของโซเชียลมีเดียซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้งในโลกตลาดออนไลน์ และมีความรุนแรงสูงมากในภาวะที่การข่าวไม่มั่นคง ผู้คนหวาดกลัว
นี่อาจเป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลต้องรีบลงมาให้ความสำคัญ