xs
xsm
sm
md
lg

จากเกษตรอำเภอสู่สมาร์ทฟาร์มเมอร์ขายผักได้ราคาดีกว่าเดิม 5 เท่า

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปลื้มสมาร์ทฟาร์มกระนวนขอนแก่น ผลผลิตได้ราคา ผักจากกิโลกรัมละ 20 บาทพุ่งถึง 100 บาท ชุมชนมีรายได้วันละ 400 บาท “ศุภชัย ปทุมนากุล” รองปลัดกระทรวงการอุดมฯ สั่งขยายผลไปชุมชนอื่น

เมื่อวันที่ 16 ก.พ. ศ.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมด้วย น.ส.ทิพวัลย์ เวชชการัณย์ ผู้ผอ.สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.) สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ นายอภิรชัย วงษ์ศรีวรพล ผอ.อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำสื่อมวลชนลงพื้นที่เยี่ยมชมโครงการ “ยกระดับเกษตรกรอำเภอกระบวนสู่สมาร์ทฟาร์มเมอร์ (Smart Farmer)” ที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรวิถีอินทรีย์กระนวน ต.หนองโก อ.กระนวน จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มเกษตรกรในเขตพื้นที่ อ.กระนวน จ.ขอนแก่น ที่มีสมาชิกเน้นการปลูกผักปลอดสารพิษ การทำปุ๋ยหมักนม เพื่อการบริโภคในชุมชนและจำหน่ายในพื้นที่ จ.ขอนแก่นและจังหวัดใกล้ อาทิ อุดรธานี มหาสารคาม กาฬสินธ์ุ เป็นต้น

นางเบญจทิพย์ เกิดบ้านชัน เจ้าของไร่เบญจทิพย์ เปิดเผยว่า เดิมเคยทำสวนเกษตรระบบเปิดซึ่งต้องใช้เวลาในการดูแลทั้งวัน รวมทั้งไม่สามารถควบคุมน้ำ อากาศ ดิน ได้ และต้องจ้างคนมาดูแลโรงเรือนและคอยรดน้ำวันละ 3-4 ครั้ง แต่พอมีระบบสมาร์ทฟาร์มของอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มาข่วยวางระบบ ทำให้เราสามารถควบคุมเวลาการรดน้ำและแสดงผลข้อมูลต่าง ๆ ให้เราได้เห็น มีเวลา ได้ผลผลิตมีคุณภาพ

เจ้าของไร่เบญจทิพย์ กล่าวต่อว่า ไร่ของตนปลูกผักตระกูลผักสลัดทั้งหมด 5 ชนิด ได้แก่ กรีนโอ๊ค เรดโอ๊ค บัตเตอร์เฮด ฟิลเลย์ไอซ์เบิร์ก และคอส หลังจากมีระบบสมาร์ทฟาร์มเข้ามาช่วยในการปลูกผัก เสียเวลาดูแลแปลงเพียงแค่วันละ 10 – 20 นาที จากที่ต้องดูแลทั้งวัน ประหยัดเวลาไปได้เยอะ ผลผลิตที่ได้ก็มีราคาสูงขึ้น จากเดิมขายได้กิโลกรัมละ 20 บาท แต่ปัจจุบันขายได้กิโลกรัมละ 80 – 100 บาท

นอกจากนี้ ผักที่ได้ยังมีปริมาณและคุณภาพที่สูงขึ้น เดิมผัก 2 ต้นมีน้ำหนักแค่ 1 ขีด แต่ปัจจุบันผัก 1 ต้น มีน้ำหนัก 1 – 3 ขีด ระบบก็ไม่ซับซ้อนเข้าใจง่าย ทำให้สมาชิกในกลุ่มมีความเชื่อมั่นในระบบและมีความตั้งใจที่จะเพิ่มปริมาณการขายที่มากขึ้น

“จากเดิมก่อนทำระบบสมาร์ทฟาร์ม ทำให้ผักและผลผลิตไม่ตอบโจทย์ รูปทรงไม่ได้ ขายไม่ได้ราคา แต่เมื่อทำสมาร์ทฟาร์มปัจจุบันในชุมชนมีรายได้คนละ 400 บาทต่อวันเป็นอย่างน้อย มีลูกค้าแน่นอน ได้รับความเชื่อถือ เพราะผักและผลิตปลอดภัย มีรสชาติ” เจ้าของไร่เบญจทิพย์กล่าว

นางปาริชาติ กินรี อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม หัวหน้าโครงการพัฒนาขีดความสามารถทางเทคโนโลยีและวิจัยของภาคเอกชน (Industrial Research and Technology Capacity Development Program หรือ IRTC) อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า การวางระบบสมาร์ทฟาร์ม แต่ละแห่งไม่เหมือนกัน บางแห่งใช้น้ำบาดาล บางแห่งใช้น้ำดิบ บางแห่งใช้น้ำผิวดิน เราต้องดูทั้งหมดเพื่อวางระบบและวางฟังก์ชันให้สอดคล้องในแต่ละแห่ง ต้องมีการอบรมโปรแกรม เพื่อให้เกษตรกรทำเองได้

ศ.ศุภชัย กล่าวว่า กระทรวงการอุดมศึกษาฯ โดย สอว. ได้สนับสนุนให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็งผ่านกลไกของอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยียกระดับการผลิตและแปรรูป ให้แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรวิถีอินทรีย์กระนวน เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ เป็นเกษตรอินทรีย์อย่างแท้จริง และจะสนับสนุนให้มีการขยายผลต่อไป

ศุภชัย เปิดเผยอีกว่า การสนับสนุนดังกล่าวอยู่ภายใต้โครงการพัฒนาขีดความสามารถทางเทคโนโลยีและวิจัยของภาคเอกชน (Industrial Research and Technology Capacity Development Program หรือ IRTC) ที่ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยียกระดับการผลิตและแปรรูป ให้แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรวิถีอินทรีย์กระนวน ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มเกษตรกร สมาชิก 23 คนที่รักในวิถีเกษตรอินทรีย์ เช่น การปลูกผักปลอดสารพิษ การทำปุ๋ยหมักนม การเลี้ยงไส้เดือนเพื่อนำผลผลิตมาใช้ในการปลูกผัก เพื่อการผลิตสินค้าเกษตรสำหรับบริโภคในชุมชน และส่งขายในพื้นที่เขตจังหวัด ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์และอุดรธานี จนเป็นที่ต้องการของตลาด ขณะที่กำลังการผลิตของกลุ่มไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด อีกทั้งยังขาดบุคลากรหรือแรงงานภาคเกษตร เพราะการทำเกษตรอินทรีย์ถือว่าเป็นเกษตรกรประณีตที่ต้องการการดูแลจากเกษตรกรอย่างมากเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ เป็นเกษตรอินทรีย์อย่างแท้จริง
























กำลังโหลดความคิดเห็น