Madagascar เป็นชื่อของเกาะที่ใหญ่เป็นอันดับสี่ของโลก รองจาก Greenland, New Guinea และ Borneo มีพื้นที่ 6 แสนตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ในมหาสมุทรอินเดีย ห่างจากประเทศ Mozambique ในทวีปแอฟริกาประมาณ 425 กิโลเมตร โดยมีช่องแคบ Mozambique คั่นกลาง นักธรณีวิทยาได้สำรวจพบว่า เมื่อ 88 ล้านปีก่อน เกาะได้เริ่มแยกตัวออกจากทวีปแอฟริกาแล้วปักหลักลงที่ตำแหน่งปัจจุบันในอีก 45 ล้านปีต่อมา
ในอดีต Madagascar เคยอยู่ในความปกครองของฝรั่งเศส โดยใช้ชื่อว่า สาธารณรัฐ Malagasy ปัจจุบันประเทศมีพลเมือง 27 ล้านคน และมีเมืองหลวงชื่อ Antananarivo ประชาชนส่วนใหญ่ 90% นับถือศาสนาคริสต์ ที่เหลือนับถือศาสนาอิสลาม อารยธรรมของชาติมีทั้งฝรั่งเศส อินเดีย และแอฟริกา ธงชาติมีสีแดง เขียว และขาว ภาษาที่ใช้ คือ ภาษาฝรั่งเศสและภาษา Malagasy สหประชาชาติได้สำรวจพบว่า เกาะยังด้อยพัฒนา เพราะประชาชนมีฐานะยากจนมาก และ 85% ของประชากร มีรายได้ต่ำกว่าวันละ 70 บาท
เมื่อนักธรรมชาติวิทยาชาวฝรั่งเศสชื่อ Philbert Commerson ได้เดินทางมาถึงและเห็นเกาะ Madagascar เป็นครั้งแรกในปี 1771 (รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช) เขาถึงกับอุทานออกมาด้วยความตื่นเต้นว่า นี่คือดินแดนที่โลกลืม เพราะบนเกาะมีสัตว์และพืชหลากหลายสายพันธุ์ที่นักชีววิทยาไม่สามารถพบเห็นได้ในดินแดนใดนอกเกาะ จากการที่เกาะได้ตกอยู่ในสภาพโดดเดี่ยวเป็นเวลานานหลายล้านปี Madagascar จึงไม่ได้รับการเยี่ยมเยือน หรือบุกรุกจากพืชและสัตว์ต่างถิ่น สิ่งมีชีวิตบนเกาะจึงมีเส้นทางวิวัฒนาการที่เป็นเอกเทศไม่เหมือนใครจนมีความหลากหลายทางชีวภาพอย่างไม่มีใครเหมือน นักภูมิศาสตร์บางคนได้ตั้งชื่อดินแดนนี้ว่า ทวีปที่แปดของโลก
Madagascar มีสัตว์และพืชหลายชนิดที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นโดยเฉพาะของเกาะ เช่น lemur ที่มีหลายสายพันธุ์ ได้แก่ ลีเมอร์แคระ (dwarf lemur) ลีเมอร์สีน้ำตาลหน้าขาว (white-fronted brown lemur) ลีเมอร์มงกุฎ (crowned lemur) ลีเมอร์สีดำ ลีเมอร์สีน้ำตาลหน้าแดง ลีเมอร์สีทองกินไผ่ (golden bamboo lemur) ลีเมอร์หนู (mouse lemur) และลีเมอร์หางแหวน (ring-tailed lemur) ซึ่งเป็นสัตว์สัญลักษณ์ของ Madagascer ที่เวลานั่งบนขอนไม้ หางยาวของมันจะห้อยลง แต่เวลาเดิน หางจะตั้งชูชี้ขึ้นไปในอากาศ ทำให้ดูสง่ายิ่ง
นอกจากนี้ก็มีกบประมาณ 150 สายพันธุ์ เช่น กบมะเขือเทศ (tomato frog) กบ Mantella สีทอง กบแมนเตลลาสี (painted Mantella) ที่มีพิษรุนแรงจนสามารถฆ่าคนและสัตว์ได้ และกบต้นไม้ (tree frog) ที่ชอบอาศัยอยู่บนต้นไม้ตลอดเวลา โดยไม่ลงมาที่พื้นดินเลย
ส่วนกิ้งก่าก็มีกิ้งก่าจมูกพลั่ว (shovel-snouted lizard) กิ้งก่าเพ่งตะวัน (sungazer lizard) กิ้งก่าอะกามา (Agama lizard) กิ้งก่าอีกัวนา (iguana) และคามิเลียน (chameleon) กว่า 70 สายพันธุ์ซึ่งเป็นสัตว์ที่สามารถเปลี่ยนสีผิวหนังของมันให้กลมกลืนกับสิ่งแวดล้อมได้ อีกทั้งสามารถพุ่งลิ้นที่ยาวประมาณ 1.5 เท่าของความยาวลำตัวออกไปจับเหยื่อเข้าปากได้ในพริบตา เป็นต้น
สำหรับพืชที่เป็นเอกลักษณ์ของเกาะก็มีมากมายเช่น ต้น baobab (Adamosia digitata) ที่มีลำต้นตรงและสูงประมาณ 3 เมตรบางสายพันธุ์ มีอายุยืนร่วม 1,000 ปี ไม่มีกิ่งก้านเหมือนต้นไม้ทั่วไป แต่กลับมียอดที่แตกกิ่งก้านจนดูเหมือนรากต้นไม้ที่โผล่ชี้ฟ้า ชาวพื้นเมืองเชื่อว่า การที่ baobab มีรูปร่างเช่นนี้ เพราะได้ทำให้เทพเจ้าบนสวรรค์ทรงขุ่นเคือง จึงถูกสาปให้ปลายต้นชี้ลงดินและรากชี้ฟ้า นอกจากจะมีรูปลักษณ์ที่แปลกตามากแล้ว baobab ยังมีคุณประโยชน์อีกมากด้วย เช่น ผลใช้ทำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ใบและเปลือกต้นใช้ทำกระดาษ เชือก และใยใช้ทอผ้า ใบแห้งใช้เป็นยาและต้มทำซุป เมล็ดใช้กินเป็นยารักษาโรค ผลเป็นอาหารเสริมที่มีวิตามินซีสูง ลำต้นที่กลวงใช้เป็นที่เก็บน้ำ และเป็นที่เก็บศพ Madagascar ยังมีความหลากหลายทางสายพันธุ์ของกล้วยไม้ป่าด้วย เพราะมีจำนวนมากกว่า 900 สายพันธุ์ และมีปาล์มมากกว่า 200 สายพันธุ์
ปริศนาหนึ่งที่ชักนำให้นักโบราณคดีและนักมานุษยวิทยาสนใจใคร่รู้คำตอบมากคือ มนุษย์ได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานบนเกาะ Madagascar เป็นครั้งแรก ตั้งแต่เมื่อใด
ในอดีตนักประวัติศาสตร์เชื่อว่า การอพยพของผู้คนจากทวีปแอฟริกาไปอาศัยบนเกาะได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อประมาณ 2,350 ปีก่อน จากนั้นผู้อพยพก็ได้เริ่มทำเกษตรกรรม ได้ตัดไม้ทำลายป่าเพื่อเพิ่มพื้นที่เพาะปลูก และล่าสัตว์ใหญ่-น้อยเป็นอาหาร จนมีผลทำให้สัตว์ยักษ์หลายชนิด เช่น นกช้าง (elephant bird) และ lemur ยักษ์สูญพันธุ์ แล้วคำถามที่ตามมาก็มีว่า มนุษย์คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้นกช้างที่หนักถึง 450 กิโลกรัม ซึ่งเป็นนกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และตัว lemur ยักษ์ต้องสูญพันธุ์ ใช่หรือไม่
นกช้าง (Aepyornis maximus) มีความสูงประมาณ 3 เมตร (คนธรรมดาสูงไม่เกิน 2 เมตร) จึงสูงน้อยกว่านก moa ของ New Zealand ที่ได้สูญพันธุ์ไปแล้วเช่นกัน แต่หนักกว่า moa ที่หนักประมาณ 350 กิโลกรัม นกในตระกูลเดียวกันกับนกช้างที่ยังมีพบในโลก ได้แก่ นกกระจอกเทศในแอฟริกา นก emu ในออสเตรเลีย และนก rhea ในประเทศแอฟริกาใต้ ซากโครงกระดูกของนกช้างที่นักชีววิทยาดึกดำบรรพ์ขุดแสดงว่ามันมีขาใหญ่ที่แข็งแรง และเท้ามี 3 นิ้ว ซึ่งแสดงว่ามันสามารถวิ่งได้ไกล แต่ปีกที่มีขนาดเล็กเมื่อเปรียบเทียบกับลำตัวแสดงว่า มันบินไม่ได้ จึงมีความสามารถในการบินเทียบเท่านก dodo ที่ได้สูญพันธุ์ไปแล้วเช่นกัน
ในปี 2008 Patricia Wright นักมานุษยวิทยา แห่ง State University of New York ที่ Stony Brook ได้รับรายงานการขุดพบกระดูกจำนวนมากของ “ไดโนเสาร์” ที่บริเวณใกล้เมือง Ilakaka ซึ่งตั้งอยู่ทางใต้ของเกาะ Madagascar แต่เมื่อเธอเดินทางไปตรวจสอบ กลับพบว่ามันเป็นกระดูกของ lemur ยักษ์ เต่ายักษ์ จระเข้ และมีกระดูกบางชิ้นของนกช้างปะปนอยู่ด้วย จึงรวบรวมกระดูกทั้งหมดส่งให้ ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบ
ในวารสาร Science Advances ฉบับเดือนกันยายน ปี 2016 James Hansford นักบรรพชีวินวิทยาแห่งสมาคมสัตว์ศาสตร์ที่ลอนดอน (Zoological Society of London) ได้รายงานการสังเกตเห็นรอยมีดบาดบนกระดูกขาที่ยาว 2 เมตรของนกช้าง ซึ่งแสดงว่าเป็นรอยที่เกิดจากการกระทำของคน เวลาใช้มีดหั่นเนื้อนกช้าง การวัดอายุของกระดูกโดยใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์คาร์บอน-14 แสดงว่ากระดูกมีอายุประมาณ 10,500 ปี นี่จึงเป็นหลักฐานที่แสดงเวลาการอพยพของคนมาตั้งถิ่นฐานเป็นครั้งแรกบนเกาะ Madagascar
ดังนั้นการได้พบว่ามนุษย์กับนกช้างเคยมีชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างน้อยเมื่อ 10,000 ปีก่อน และนกช้างได้สูญพันธุ์ไปอีกใน 7,500 ปีต่อมา แสดงให้เห็นว่า มนุษย์มิได้เป็นตัวการในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของนกช้าง ทันทีที่เดินทางขึ้นเกาะ เหมือนดังที่นักบรรพชีวินวิทยาเคยเชื่อกัน ด้วยเหตุนี้การสูญพันธุ์ของนกช้างจึงต้องมาจากสาเหตุอื่น ที่ไม่เกี่ยวข้องกับคน เช่น บนเกาะได้เกิดโรคระบาดที่ร้ายแรง หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมได้เกิดอย่างรุนแรงและรวดเร็วจนนกช้างปรับตัวไม่ทัน หรือไข่ของนกช้างถูกทำลายโดยสัตว์อื่นและถูกคนขโมยไปกินอย่างรวดเร็ว จนมันแพร่พันธุ์ไม่ทัน เพราะต้องใช้เวลานาน มันจึงจะเติบโตจนวางไข่ได้ จำนวนนกช้างจึงมีแต่ลดลงๆ
ข้อมูลของ James Hansford จึงแสดงให้เห็นว่า นกช้างและมนุษย์ได้ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันนานประมาณ 7,500 ปี จนกระทั่งประชากรได้เพิ่มมากขึ้นๆ และเมื่อพื้นที่การทำเกษตรกรรมได้แพร่กระจายไปทั่วเกาะ การเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์จึงทำให้ดินฟ้าอากาศบนเกาะแปรปรวน จนนกช้างและฮิปโปแคระสูญพันธุ์ในที่สุด
ดังนั้นสาเหตุการสูญพันธุ์ของสัตว์ยักษ์บนเกาะ Madagascar จึงยังเป็นปัญหาที่ยังไม่มีการสรุปว่า มาจากสาเหตุใดบ้าง แต่เมื่อยังไม่มีใครขุดพบอุปกรณ์ ที่มนุษย์โบราณกว่า 10,500 ปีใช้ในการฆ่าสัตว์ยักษ์ ดังนั้น นักบรรพชีวินวิทยาในอนาคตคงต้องพยายามขุดหากระดูกของสัตว์ และอุปกรณ์ที่มนุษย์ใช้ฆ่ามันมาวิเคราะห์และวัดอายุ คำตอบของปัญหานี้จะมีได้อย่างสมบูรณ์
ความน่าสนใจของ Madagascar อีกประการหนึ่งคือ เป็นแหล่งฟอสซิลของไดโนเสาร์หลายสายพันธุ์ด้วย
ในวารสาร Science ที่ตีพิมพ์ในปี 1999 John Flynn แห่งพิพิธภัณฑ์ Field ที่เมือง Chicago ได้รายงานการพบกระดูกขากรรไกรของไดโนเสาร์ และกระดูกของบรรพบุรุษสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอีกหลายชนิดเป็นครั้งแรกที่เมือง Isapo บนเกาะ จากนั้นการวิเคราะห์กระดูกสัตว์ดึกดำบรรพ์ได้แสดงให้เห็นว่า เมื่อ 250 ล้านปีก่อน เกาะ Madagascar เคยมีไดโนเสาร์และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอยู่ร่วมกันเป็นไดโนเสาร์ชนิด rhynchosaur, prosauropod, Apatosaurus (ซึ่งเคยเรียก Brontosaurus), transversodontid cynodont ซึ่งเป็นสัตว์เลือดเย็นต้นตระกูลของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และได้พบฟอสซิลของ Ambondro mahabo ยาว 10 เซนติเมตร ซึ่งเคยมีชีวิตอยู่เมื่อ 167 ล้านปีก่อน
การพบฟอสซิลของ dinosaur และ mammal ที่มีอายุใกล้เคียงกับแสดงให้เห็นว่า ความเชื่อเดิมๆ ที่ว่า ไดโนเสาร์ได้สูญพันธุ์ไปแล้ว mammal จึงถือกำเนิดนั้นไม่ถูกต้อง เพราะจริงๆ แล้ว สัตว์ทั้งสองชนิดได้ถือกำเนิดและมีชีวิตร่วมกัน จนกระทั่งไดโนเสาร์ได้สูญพันธุ์ไป
สำหรับคำถามที่ว่าเหล่าสัตว์ “ประหลาด” ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของเกาะ Madagascar มีถิ่นกำเนิดจากที่ใด และได้พากันอพยพมาตั้งถิ่นฐานบนเกาะตั้งแต่เมื่อใด ด้วยวิธีใด ก็เป็นเรื่องที่นักชีววิทยาสัตว์ดึกดำบรรพ์สนใจมากเช่นกัน
ในวารสาร Nature ฉบับที่ 463 เมื่อปี 2010 J. Ali และ M. Huber แห่งมหาวิทยาลัย Hong Kong และมหาวิทยาลัย Purdue ตามลำดับ ได้ศึกษาลักษณะการไหลของกระแสน้ำในมหาสมุทรอินเดียในยุค Eocene เมื่อ 56-34 ล้านปีก่อน รวมถึงหลักฐานที่เป็นฟอสซิลและสภาพทางภูมิศาสตร์ของ Madagascar ตั้งแต่เมื่อครั้งที่ยังอยู่ติดกับมหาทวีป Gondwana เมื่อ 165 ล้านปีก่อน จนได้พบว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่พบเฉพาะบนเกาะ Madagascar มีทั้งหมด 4 อันดับคือ lemur, หนู rodent, carnivore สัตว์กินเนื้อ และ tenrec วงศ์ afrotherian (เช่น hedgehog)
การค้นหาบรรพสัตว์เหล่านี้แสดงให้เห็นว่าสัตว์กินเนื้อได้เดินทางถึงเกาะเมื่อ 26-19 ล้านปีก่อน lemur ได้อพยพมาเมื่อ 60-50 ล้านปีก่อน tenrec เมื่อ 42-25 ล้านปีก่อน และหนูเมื่อ 24-20 ล้านปีก่อน เพราะสัตว์เหล่านี้ไม่สามารถว่ายน้ำได้เป็นระยะทางไกลถึง 400 กิโลเมตรได้ ดังนั้นมันจึงต้องอาศัยแพที่เป็นขอนไม้ หรือซากพืชขนาดใหญ่ในการลอยตัวข้ามทะเล เมื่อเป็นเช่นนี้ สัตว์ขนาดใหญ่ เช่น ช้าง ม้าลาย ละมั่ง ฯลฯ จึงไม่มีโอกาสได้เป็นสัตว์ประจำเกาะ เพราะว่ายน้ำไกลไม่ได้ และเกาะขอนไม้ก็ไม่เป็น
ในส่วนของป่าดิบบนเกาะ Madagascar ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะปัจจุบันป่าได้ถูกคุกคามโดยชาวบ้านที่เข้ามาลอบตัด ภาพถ่ายทางอากาศแสดงให้เห็นว่า ป่าบนเกาะมีพื้นที่ประมาณ 38,000 ตารางกิโลเมตร โดยได้ลดลงจากเมื่อ 35 ปีก่อนประมาณครึ่งหนึ่ง เพราะป่าถูกทำลายไปทุกวัน โดยบรรดาคนที่มีฐานะยากจนมาก เพื่อค้นหาทรัพยากรในป่าไปดำรงชีพ นี่จึงเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ Madagascar เช่นเดียวกับประเทศที่กำลังพัฒนาอื่นๆ
เมื่อวันที่ 19 มกราคมของปี 2019 Andry Rajoelina ซึ่งได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของประเทศ จึงแถลงนโยบายต่อประชาชนว่า การปกป้องป่าเป็นเรื่องที่รัฐบาลใหม่จะดำเนินการอย่างจริงจัง หลังจากที่ได้ปล่อยให้เอกชนเข้าไปทำธุรกิจเหมืองแร่ และตัดไม้ทำลายป่าอย่างผิดกฎหมายเป็นเวลานาน การควบคุมอย่างเข้มแข็งจะทำให้ชนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบการช่วยให้ประชาชน Madagascar อยู่ดีกินดีขึ้น โดยท่านประธานาธิบดีมุ่งหวังจะให้ Madagascar เป็นเกาะสีเขียวในการอนุรักษ์ป่า และเป็นเป้าหมายการท่องเที่ยวเชิงนิเวศของโลกด้วย จึงต้องขอความร่วมมือจากคนทุกฝ่าย ทั้งในชาติและต่างชาติ เพราะนี่อาจจะเป็นโอกาสสุดท้ายที่เกาะ Madagascar จะอยู่รอดได้ในอนาคต
อ่านเพิ่มเติมจาก A Middle Jurassic Mammal from Madagascar โดย John Flynn และคณะใน Nature Vol.401 September 1999
สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" จาก "ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน" ได้ทุกวันศุกร์