xs
xsm
sm
md
lg

สกัดเหตุซ้ำรอย 13 หมูป่าติดถ้ำหลวง! ทส.วางกฎเหล็ก 16 ข้อ-เดินหน้าสำรวจ 11 ถ้ำดังนำร่อง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เชียงราย - กก.ถ้ำแห่งชาติ ประชุมนัดแรกปีนี้ เดินหน้าตั้งกฎเหล็ก 16 ข้อ-สำรวจ 11 ถ้ำดังนำร่อง ป้องกันเหตุซ้ำรอย 13 หมูป่าติดถ้ำหลวง


วันนี้ (24 ม.ค.) นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการถ้ำแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2563 เดินทางไปยังถ้ำหลวง อุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน (เตรียมการ) ต.โป่งผา อ.แม่สาย จ.เชียงราย โดยมีกรมทรัพยากรธรณี เลขานุการคณะกรรมการฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

ที่ประชุมแจ้งว่า ไทยมีถ้ำรวมกันมากกว่า 5,000 แห่ง แต่ระบุตำแหน่งได้ประมาณ 2,608 แห่ง ส่วนใหญ่ไม่มีมาตรฐานในการบริหารจัดการทำให้หลายแห่งมีสภาพเสื่อมโทรม เกิดผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตและทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งขาดความรู้ความเข้าใจทำให้เกิดอันตรายต่อคนที่เข้าไปในถ้ำ เช่น ทีมหมูป่าอะคาเดมี 13 คน ที่ติดในถ้ำเมื่อปี 2561 ที่ผ่านมา ล่าสุดทางคณะรัฐมนตรีจึงมีมติเมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2562 แต่งตั้งคณะกรรมการฯ นี้ขึ้น โดยมี รมว.ทส.เป็นประธาน


นายวราวุธเปิดเผยว่า ขณะนี้คณะกรรมการฯได้กำหนดมาตรการคุ้มครองถ้ำให้ถือปฏิบัติกัน 16 ข้อ ได้แก่ 1. ห้ามสัมผัส แตะต้องประติมากรรมในถ้ำ เช่น หินงอกหินย้อย เสาหิน ฯลฯ 2. ห้ามตี เคาะ ทำลายหินในถ้ำ 3. ห้ามสูบบุหรี่ ก่อไฟ จุดเทียนหรืออื่นๆ ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อสภาพอากาศภายในถ้ำ 4. ห้ามนำอาหารเข้าไปรับประทานและทิ้งขยะมูลฝอยภายในถ้ำ

5. ห้ามทำเสียงดังหรือรบกวนสร้างความรำคาญแก่สัตว์ 6. ห้ามนำสัตว์เลี้ยงเข้าไปในถ้ำ 7. ห้ามขีดเขียน ขูด ขีดฆ่า ทาหรือพ่นสีหรือปิดประกาศ 8. ห้ามถ่ายของเสียภายในถ้ำ 9. ห้ามเก็บสิ่งอื่นใดออกจากถ้ำ เช่น หิน แร่ โบราณวัตถุ ฯลฯ 10. ห้ามกระทำการที่เปลี่ยนแปลงทางน้ำหรือกีดขวางทางน้ำ

11. ห้ามตั้งที่พักภายในถ้ำ 12. ห้ามเดินออกนอกเส้นทางที่กำหนด 13. ห้ามทำลายระบบไฟฟ้าในถ้ำ 14. ห้ามรบกวนแหล่งโบราณคดีหรือซากดึกดำบรรพ์ 15. ห้ามสร้างสิ่งใดๆ ในถ้ำเว้นแต่เพื่อความสะดวกและปลอดภัยเท่าที่จำเป็นแต่ให้กลมกลืนกับธรรมชาติ และ 16. กรณีจะท่องเที่ยวในถ้ำให้มีผู้นำเที่ยวหรือไกด์ท้องถิ่นที่ผ่านการฝึกอบรมด้วย


คณะกรรมการยังได้เห็นชอบให้มีการสำรวจ ประเมินและมีแผนบริหารจัดการถ้ำที่มีความสำคัญจำนวน 11 ถ้ำ ครอบคลุมทุกมิติให้แล้วเสร็จปลายปี 2563 คือถ้ำหลวง จ.เชียงราย ถ้ำแก้วโกมล จ.แม่ฮ่องสอน ถ้ำเชียงดาว จ.เชียงใหม่ ถ้ำปาฏิหาริย์ จ.อุบลราชธานี ถ้ำพญานาคราช จ.ขอนแก่น ถ้ำละว้า จ.กาญจนบุรี ถ้ำพระโพธิสัตว์ จ.สระบุรี ถ้ำธารน้ำลอด จ.ชุมพร ถ้ำภูผาเพชร จ.สตูล ถ้ำเขาช้างหาย จ.ตรัง และถ้ำในเขตอุทยานแห่งชาติดอยภูคา จ.น่าน

ด้านนายสมหมาย เตชวาล อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กล่าวว่าในการสำรวจจะดำเนินการทั้งด้านธรณีวิทยา อุทกธรณีวิทยาชีววิทยา ภูมิสัณฐานของระบบถ้ำ โบราณคดีและนิเวศวิทยาที่เกี่ยวข้อง และมีการประเมินศักยภาพเพื่อพัฒนาใช้ประโยชน์หรือเป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยคำนึงถึงความปลอดภัยและการอนุรักษ์ซึ่งพบว่าบางแห่งสามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้และบางแห่งเพิ่งพบใหม่


การดำเนินการจะแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ปฏิรูปการบริหารจัดการถ้ำเป้าหมายในปี 2565 เช่น ปฏิรูประบบสำรวจ วิจัย พัฒนาข้อมูล กำหนดหลักเกณฑ์ ฯลฯ ระยะที่ 2 สร้างความมั่นคงในการบริหารจัดการ โดยมีเป้าหมายในปี 2570 100 แห่ง และระยะที่ 3 ระยะสร้างความมั่นคงยั่งยืนในการบริหารจัดการถ้ำเป้าหมายในปี 2580 ดังกล่าว โดยสามารถพัฒนาให้เกิดเศรษฐกิจไปสู่ชุมชนและประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ กำหนดดำเนินการประมาณ 200 แห่ง

กรณีของถ้ำหลวง จ.เชียงราย นั้นมีแผนงาน 2 ปี ภายใต้โครงการสำรวจธรณีวิทยาและอุทกธรณีวิทยาเทือกเขาหินปูน เริ่มมาตั้งแต่ปี 2561 แล้ว โดยมีการจัดทำแผนที่และข้อมูล ฯลฯ ปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดทำแผนผังถ้ำ 3 มิติ และทำแบบจำลองรวมทั้งร่างแผนการพัฒนาไปสู่การเป็นอุทยานธรณีระดับจังหวัด ประเทศ และระดับโลกต่อไป.


กำลังโหลดความคิดเห็น