จากประสบการณ์ส่วนตัวของ “จักร โกศัลยวัตร” ระหว่างนำพ่อเข้ารับการรักษาฉุกเฉิน แต่ไม่สามารถตอบหมอได้ว่าพ่อกินยาอะไรเป็นประจำหรือแพ้ยาอะไรหรือไม่ ทำให้เขาเสียเวลาไปกับการหาข้อมูลเกือบครึ่งชั่วโมง จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนา PharmaSafe ระบบที่ช่วยจดจำว่าผู้ป่วยต้องกินยาอะไรและเมื่อไร
PharmaSafe หรือฟาร์มาเซฟ เป็นระบบผู้ดูแลการใช้ยาส่วนบุคคลที่ บริษัท วายอิง จำกัด พัฒนาขึ้นมาเพื่อลดปัญหาการใช้ยาผิดของผู้ป่วย เป็นเครื่องที่ช่วยให้ผู้ป่วยใช้ยาได้ครบและถูกต้องตามแพทย์สั่ง โดยระบบจะให้ข้อมูลและเตือนการใช้ยาอย่างอัตโนมัติทางโทรศัพท์มือถือ
ระบบฟาร์มาเซฟจะช่วยเตือนเรื่องยาที่แพ้ การใช้ยาซ้ำ หรือยาที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วย ซึ่งข้อมูลดังกล่าวยังเชื่อมโยงกับโรงพยาบาลที่ใช้ระบบฟาร์มาเซฟด้วย อีกทั้งผู้ป่วยยังบันทึกหรือตั้งเตือนการใช้ยาเพิ่มได้ด้วยตัวเอง และแชร์ข้อมูลการใช้ยาให้แก่คนในครอบครัว เพื่อเป็นประโยชน์ในกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินและผู้ป่วยสื่อสารเองไม่ได้
จักร โกศัลยวัตร ประธานบริหารบริษัท วายอิง จำกัด เล่าถึงที่มาของการพัฒนาระบบฟาร์มาเซฟว่า เกิดจากประสบการณ์ตรงเมื่อ 4 ปีก่อน พ่อของเขาป่วยฉุกเฉิน มีอาการลิ้นหัวใจตีบเฉียบพลัน แต่เมื่อไปถึงโรงพยาบาลไม่สามารถตอบเจ้าหน้าที่ได้ว่า พ่อกินยาอะไรเป็นประจำ เมื่อโทรศัพท์ไปสอบถามพี่ชายก็พบว่ายาของพ่อปนๆ กันกับยาของแม่ ที่สุดใช้เวลานานถึง 20 นาทีจึงทราบว่าพ่อกินยาอะไรเป็นประจำ
“ผมจึงเกิดคำถามสำคัญว่า ทำไมข้อมูลที่สำคัญนี้ถึงไม่อยู่ติดตัวผู้ป่วย จึงเป็นแนวคิดเริ่มต้นที่อยากพัฒนาระบบนี้ขึ้นมา” จักรเล่าที่มาของการพัฒนาระบบฟาร์มาเซฟซึ่งเริ่มจากการพัฒนาในรูปแบบแอปพลิเคชันก่อนพัฒนาเป็นระบบที่ผู้ให้บริการสามารถส่งข้อมูลไปถึงผู้ป่วยได้ และยังเล่าปัญหาที่ประสบโดยตรงอีกปัญหาคือ แม่ของเขาได้รับยารักษาเส้นในสมองตีบซ้ำซ้อน เนื่องจากเปลี่ยนโรงพยาบาลรักษา และข้อมูลการใช้ยาไม่เชื่อมโยงกัน
จักรระบุด้วยว่า จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) การใช้ยาผิดนี้เป็นปัญหาระดับโลก ซึ่งการใช้ยาผิดนั้นยังเป็นสาเหตุของการเจ็บป่วย พิการ ส่วนไทยเองก็มีค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขเป็นค่ายาถึง 47% โดยคนไทยมีสิทธิประกันสุขภาพเกือบ 100% ซึ่งจากข้อมูลสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พบว่า คนไทยใช้ยาผิดถึง 40% คิดเป็นเงินมากถึง 80,000 ล้านบาท
“เรากำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ซึ่งผู้ใช้ยากลุ่มใหญ่ก็เป็นผู้สูงอายุ ปัญหาเรื่องนี้จะไม่น้อยลง ถ้าเราไม่หาทางแก้ และจะเป็นเหมือนระเบิดเวลา” จักรกล่าว และระบุด้วยว่า ระบบนี้จะเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาและความคุ้มค่าทางด้านงบประมาณและด้านสุขภาพ และ
ฟาร์มาเซฟจะช่วยให้ผู้ป่วยได้ประโยชน์ในเรื่องการใช้ยาถูกชนิด ถูกวิธี ถูกเวลา และกินยาได้ตรงตามที่แพทย์สั่ง หายไว ไม่ป่วยเรื้อรัง และมั่นใจได้ว่าได้รับยาที่ถูกต้อง มีข้อมูลครบถ้วน มีข้อมูลยาติดตัวตลอดเวลาเมื่อมีเหตุฉุกเฉิน ทั้งยังป้องกันความเสี่ยงก่อนเกิดอันตรายจากยา ส่วนผู้ให้บริการระบบแนะนำยาอัตโนมัติ จะได้ช่วยดูแลความปลอดภัย เพิ่มคุณภาพการรักษาและให้บริการด้านยา ลดอุบัติเหตุจากการใช้ยา และลดความขัดแย้งกับผู้ป่วย
สำหรับผู้ใช้ยาทั่วไปสามารถดาวน์โหลดแอปฯ ฟาร์มาเซฟมาใช้งานได้ฟรี ส่วนระบบแนะนำการใช้ยาอัตโนมัตินั้นเริ่มใช้งานในโรงพยาบาลรัฐและเอกชนประมาณ 10 แห่ง เช่น สถาบันมะเร็งแห่งชาติ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โรงพยาบาลกระบี่ โรงพยาบาลสมุทรปราการ โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา และมีแผนขยายไปสู่ร้านขายยาและสถานพยาบาลอื่นๆ
ทางด้าน นายไมตรี องค์ศาลา ประธานชุมชนกระบี่ท่าเรือ และเป็นผู้สูงอายุวัย กว่า 70 ปี เป็นหนึ่งในผู้ทดลองใช้แอปฯ ฟาร์มาเซฟ บอกว่าด้วยความสนใจในเทคโนโลยีใหม่ๆ จึงได้ทดลองใช้งานแอปฯ นี้ และยังได้เผยแพร่ให้สมาชิกในชุมชนที่ศูนย์บริการสุขภาพผู้สูงอายุได้รู้จัก ส่วนตัวคิดว่าเป็นแอปฯ ที่ใช้งานไม่ยาก สามารถเลือกใช้งานตามหมวดต่างๆ เพื่อดูเวลากินยา และจำนวนยาที่ต้องกิน ซึ่งผู้สูงอายุต้องการเพียงเท่านี้
ทั้งนี้ การพัฒนาระบบฟาร์มาเซฟนี้ได้รับการสนับสนุนจากศูนย์พัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี (BIC) ภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ผ่านโครงการ Startup Voucher หรือโครงการสร้างผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยีนวัตกรรม ในการขยายผลไปยังโรงพยาบาลกระบี่ จ.กระบี่ เพื่อเดินหน้าสู่การเป็นโรงพยาบาลอัจฉริยะตามนโยบายประเทศไทย 4.0 ต่อไป