xs
xsm
sm
md
lg

ตั้ง ‘ทีมชาติแผ่นดินไหว’ สำรวจรอยเลื่อนและทำแผนที่เสี่ยงภัยรายจังหวัด

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นักวิจัย-กรมทรัพยากรฯตั้ง ‘ทีมชาติแผ่นดินไหว’ สำรวจรอยเลื่อนและทำแผนที่เสี่ยงภัยรายจังหวัด

นักวิจัยสานพลังกรมทรัพยากรธานี พร้อมรับมือแผ่นดินไหวทั้งระยะสั้นและระยะยาว ตั้ง “ทีมชาติ” ระดมพลสหสาขาวิชา เตรียมลุยโครงการนำร่องสำรวจความเสี่ยงในพื้นที่รอยเลื่อน และจัดทำแผนที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวตามสภาพดินรายจังหวัด ด้านการรับมือสึนามิที่ภูเก็ตยังไม่พร้อม ป้ายแสดงเส้นทางหนีภัยและอาคารหลบภัยชำรุด ไร้แผนที่อพยพในป้ายแนะนำสถานที่ท่องเที่ยว

ศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย หัวหน้าชุดโครงการลดภัยพิบัติแผ่นดินไหวในประเทศไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เปิดเผยผลการประชุมหารือความร่วมมือทางวิชาการด้านแผ่นดินไหว ณ ห้องประชุมกรมทรัพยากรธรณี ซึ่งจัดขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยเฉพาะการปรับปรุงมาตรฐานการออกแบบอาคารต้านทานการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวและกฎหมายควบคุมอาคาร ว่าเขาได้เสนอให้จัดทำโครงการนำร่องการสำรวจความเสี่ยงภัยแผ่นดินไหวในพื้นที่มีรอยเลื่อนมีพลังพาดผ่าน รวมถึงความเสี่ยงของอาคารบ้านเรือนต่างๆ เพื่อวางแผนเสริมกำลังในพื้นที่รัศมี 10 กิโลเมตร ตามแนวรอยเลื่อน รวมถึงจัดทำแผนที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวของประเทศไทยตามสภาพดินรายจังหวัด

"ปัจจุบันไทยมีเพียงแผนที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวระดับประเทศ ยังไม่เหมาะสมต่อการออกแบบสิ่งก่อสร้างหรือการวางผังชุมชนในระดับเมือง เนื่องจากมีความละเอียดไม่เพียงพอ เช่น ในจังหวัดเชียงใหม่และกรุงเทพมหานครมีสภาพเป็นดินอ่อน การออกแบบสิ่งก่อสร้างจึงต้องแตกต่างจากพื้นที่อื่น หรือพื้นที่ที่มีโอกาสเป็นดินทรายเหลวจะต้องเตรียมพร้อมรับสถานการณ์อย่างไร พื้นที่เชิงเขาลาดชันที่อาจเกิดดินถล่มจากแผ่นดินไหวได้" ศ.ดร.เป็นหนึ่งกล่าว

ขณะที่ ดร.วีระชาติ วิเวกวิน นักธรณีวิทยาชำนาญการ กรมทรัพยากรธรณี กล่าวว่า ผลจากการรวบรวมข้อมูลโดยกรมโยธาธิการและผังเมือง สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และกรมทรัพยากรธรณี เพื่อใช้ในการจัดทำแผนแม่บทป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจากแผ่นดินไหวและอาคารถล่ม พบว่าข้อมูลอาคาร ประเภทอาคาร ที่จำเป็นสำหรับจัดทำแผนยังไม่มีความชัดเจน ขณะที่การจำแนกพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวรายจังหวัดยังไม่ละเอียดเพียงพอต่อการวางผังเมือง ข้อมูลรอยเลื่อนมีพลังที่ใช้กำหนดพื้นที่เสี่ยงภัยยังไม่ครบถ้วนทุกรอยเลื่อนย่อย และขาดการขับเคลื่อนจากอนุกรรมการแผ่นดินไหว ในอนาคตอาจจะเพิ่มผู้ทรงคุณวุฒิหรือเชิญธุรกิจท่องเที่ยว บริษัทประกันภัย สภาอุตสาหกรรม เข้าร่วมประชุมในวาระที่เกี่ยวข้องตามสมควร

“ปัจจุบันงบประมาณในการทำวิจัยของกรมทรัพยากรธรณีไม่เพียงพอ จึงต้องทำวิจัยร่วมกับนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ โดยระดมสหสาขาวิชาการ เช่น ธรณีฟิสิกส์ วิศวกรรมแผ่นดินไหว ธรณีวิทยา ฯลฯ เพื่อเป็น ‘ทีมชาติแผ่นดินไหว’ ทำงานร่วมกับแบบบูรณาการ ทั้งนี้ งานวิจัยด้านแผ่นดินไหวไม่ได้เน้นนวัตกรรมมากแต่เป็นความรู้พื้นฐานที่จำเป็น และนำไปใช้ประโยชน์ในการจัดทำกฎหมายรวมถึงการเฝ้าระวังรับมือภัยพิบัติ” ดร.วีระชาติกล่าว

ส่วน ผศ.ดร.ภาสกร ปนานนท์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หัวหน้าโครงการ “การศึกษาสภาวะความเค้นของธรณีภาคบริเวณประเทศไทยและการตรวจสอบรูปทรงของรอยเลื่อนมีพลังแม่ทา จังหวัดเชียงใหม่ จากแผ่นดินไหวขนาดเล็กมาก เพื่อการลดผลกระทบจากแผ่นดินไหวของประเทศไทย” กล่าวเสริมว่า บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้ของไทยมีความเค้นสะสมที่ค่อนข้างสูงพอที่จะกระตุ้นให้เกิดแผ่นดินไหวได้ ขณะที่บริเวณเมืองใหญ่หลายเมืองมีความเป็นไปได้สูงมากที่จะมีรอยเลื่อนวางตัวซ่อนอยู่ใต้เมือง และอาจทำให้เกิดแผ่นดินไหวได้ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนสูงมาก จึงจำเป็นต้องศึกษารอยเลื่อยมีพลังและรอยเลื่อนที่ซ่อนตัวอยู่อย่างเร่งด่วน เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนรับมือแผ่นดินไหวของไทยต่อไปในอนาคต

ด้านการเตรียมพร้อมรับมือภัยสึนามิ ผศ. ดร.ธีรพันธ์ อรธรรมรัตน์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำเสนอผลการสำรวจพื้นที่ประสบภัยสึนามิล่าสุดที่จังหวัดภูเก็ตว่าภาพที่สะท้อนให้เห็นปัญหาได้ชัดเจนที่สุด คือ ป้ายแสดงเส้นทางหนีภัยและอาคารหลบภัยสึนามิอยู่ในสภาพเสียหายชำรุด มีขนาดเล็ก และไม่เพียงพอต่อจำนวนนักท่องเที่ยว รวมถึงป้ายแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวก็ไม่มีการแสดงแผนที่การอพยพไปในพื้นที่ปลอดภัย ทั้งที่จังหวัดภูเก็ตมีรายได้ด้านการท่องเที่ยวเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ แต่ยังพบเห็นสภาพความไม่พร้อม อาจเป็นเพราะหน่วยงานที่รับผิดชอบในการจัดการภัยพิบัติขาดความรู้ในการจัดการ ขาดการสนับสนุนที่เพียงพอจากทั้งภาครัฐและเอกชน ขาดการมีส่วนร่วมกับชุมชนในการจัดการปัญหา และไม่มีเจ้าภาพในการจัดการปัญหาอย่างเป็นระบบ

ดร.ปานนท์ ลาชโรจน์ จากมหาวิทยาลัยเดียวกัน และหัวหน้าโครงการประเมินความเสี่ยงภัยสึนามิในประเทศไทยและการจำลองการอพยพหนีภัยของผู้คนเพื่อศึกษาหามาตรการลดความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ เผยผลการรวบรวมข้อมูลแผ่นดินไหวที่ทำให้เกิดสึนามิจากแหล่งข้อมูลของ National Oceanic and Atmospheric Administration (NOAA) พบว่ากว่า 500 ปีที่ผ่านมาได้เกิดเหตุการณ์ขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะบริเวณมหาสมุทรอินเดียส่วนใหญ่เกิดตามแนวมุดตัวซุนดาบริเวณสุมาตรา เช่นเดียวกับสึนามิที่ไทย อย่างไรก็ดีบริเวณทางตอนเหนือของแนวมุดตัวซุนดาตั้งแต่หมู่เกาะอันดามันจนถึงบริเวณอาระกันเลียบชายฝั่งของเมียนมามีการเคลื่อนตัวประมาณ 20 มิลลิเมตรต่อปี เป็นบริเวณที่นักวิจัยกำลังให้ความสนใจศึกษาโอกาสที่จะเกิดสึนามิในอนาคต

"ทั้งนี้ ไทยมีทุ่นตรวจจับคลื่นสึนามิก่อนเข้าถึงชายฝั่งอันดามันไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง และสามารถเชื่อมต่อกับระบบเตือนภัยต่างๆ โครงการวิจัยนี้จึงเน้นไปที่การศึกษาการอพยพหนีภัยของผู้คนในพื้นที่ ซึ่งเชื่อว่าเป็นมาตรการที่เหมาะสมที่สุดของไทยเพราะไม่ต้องลงทุนสูง การรับรู้ถึงปัญหาและจุดอ่อนของมาตรการลดความเสี่ยงที่มีอยู่ในปัจจุบันจะทำให้สามารถแก้ไขและปรับปรุงมาตรการการอพยพอย่างถูกวิธี" ดร.ปานนท์กล่าว












กำลังโหลดความคิดเห็น