ทีมวิจัยย้ำไทยยังเสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหว แต่ชี้ ‘ตระหนักแต่อย่าตระหนก’ ไม่นิ่งนอนใจ ต้องใช้มาตรการทางโครงสร้างภายใต้กฎหมายรองรับเพื่อความปลอดภัยของตัวอาคาร ผลการติดตั้งเครื่องตรวจวัดแผ่นดินไหวในพื้นที่น่านพบอาฟเตอร์ช็อคจำนวนมาก เตรียมนำข้อมูลมาประเมินผลและวางแผนลดผลกระทบ
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับสมาคมวิศวกรโครงสร้างไทย และสมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร จัดการแถลงข่าว “ผลกระทบจากแผ่นดินไหวในประเทศลาวต่อประเทศไทยและแนวทางเตรียมความพร้อมรับมือ” 22 พฤศจิกายน 2562 ณ ห้องรัชดาบอลรูม ชั้น 6 โรงแรมเอสซีปาร์ค
ศ. ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย หัวหน้าชุดโครงการลดภัยพิบัติแผ่นดินไหวในประเทศไทย สกสว. จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย เปิดเผยว่า การก่อสร้างอาคารจำเป็นต้องมีการออกแบบและก่อสร้างอาคารตามกฎกระทรวงและมาตรฐานของกรมโยธาธิการและผังเมือง ขณะที่อาคารเก่าต้องตรวจสอบว่ามีความมั่นคงแข็งแรงพอที่จะต้านทานแผ่นดินไหวหรือไม่
“อาคารสาธารณะจำนวนมากในภาคเหนือส่วนใหญ่ยังมีความเสี่ยงในพื้นที่ถึงร้อยละ 90 เพราะอาคารควบคุมตามกฎหมายต้องมีความสูงเกิน 15 เมตร แต่อาคารหรือโรงเรียนส่วนใหญ่เป็นอาคารสองชั้น ส่วนผลกระทบที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ลักษณะการสั่นช้า ๆ ต่างจากภาคเหนือที่ไหวเร็วและรุนแรง” ศ.ดร.เป็นหนึ่งกล่าว
ส่วนการเขย่าของตึกสูงในกรุงเทพฯ นั้น ศ.ดร.เป็นหนึ่ง ระบุว่าล่าสุดไม่รุนแรงมาก แค่ทำให้คนตกใจ จากการวัดข้อมูลในพื้นที่พบว่ามีความรุนแรงเพียงแค่ 1 ใน 10 ของความรุนแรงที่เกิดขึ้นได้จริง แต่ถ้าเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่อาจจะมีผลกระทบมากกว่านี้อีก 10 เท่าตัว การเตรียมพร้อมรับมือแผ่นดินไหวระยะไกลจึงมีความสำคัญ เพราะอาจเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อกรุงเทพฯ เช่น จังหวัดกาญจนบุรีที่ความแรง 7-7.5 ริกเตอร์ หรือจากรอยเลื่อนสกาย 8.5 หรือในทะเลอันดามันที่ขนาด 9 ริกเตอร์
“ประกอบกับสภาพแอ่งดินอ่อนในกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่มีขนาดใหญ่และลึกมาก โดยมีก้นแอ่งอยู่ที่กรุงเทพฯ สามารถขยายความรุนแรงได้มากที่สุด และมีอาคารสูงจำนวนมาก จึงอาจมีผลกระทบอย่างมากในอนาคต”
ขณะที่ ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างไทย และนักวิจัย สกสว. กล่าวถึงความเสี่ยงและมาตรการทางโครงสร้างเพื่อลดกระทบแผ่นดินไหวของอาคารสูงในกรุงเทพฯ ว่าเป็นเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ว่ากรุงเทพฯ ยังมีความเสี่ยง ผู้คนรับรู้ถึงการสั่นสะเทือนของอาคาร ส่วนความเสียหายทางโครงสร้างคงไม่มากนัก ทั้งนี้เจ้าของอาคารไม่ควรประมาทนิ่งนอนใจ ควรจัดให้มีวิศวกรโครงสร้างเพื่อตรวจสอบองค์อาคารที่สำคัญ เช่น คาน เสา กำแพงรับแรงเฉือน เป็นต้น
“แผ่นดินไหวเป็นภัยธรรมชาติที่ยังไม่สามารถทำนายได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด เพราะตัวใหญ่ยังไม่มาจึงต้องเตรียมรับมือ อยากให้คนไทยตระหนักแต่อย่าตระหนก ในพื้นที่กรุงเทพฯ นั้นมีอาคารหนาแน่นซึ่งอาคารบางลักษณะอาจมีความเสี่ยงต่อแผ่นดินไหว เช่น ตึกแถวที่มีลักษณะเสาเล็กแต่คานใหญ่ อาคารพื้นท้องเรียบไร้คาน อาคารสูงที่มีลักษณะไม่สมมาตรหรือที่ชั้นล่างเปิดโล่ง อาคารที่ก่อสร้างด้วยระบบชิ้นส่วนสำเร็จรูปที่ข้อต่อไม่แข็งแรง อาคารที่ทำการต่อเติมและทำทางเดินเชื่อมต่อกัน”
ดังนั้น เพื่อให้ความเกิดความปลอดภัย ศ.ดร.อมรระบุว่า ควรเตรียมความพร้อมรับมือโครงสร้างอาคารให้แข็งแรง โดยอาคารที่ก่อสร้างขึ้นใหม่ต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงกำหนดการรับน้ำหนักความต้านทานความคงทนของอาคารและพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว ที่เริ่มใช้บังคับตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา และวิศวกรผู้ออกแบบจะต้องใช้มาตรฐานการออกแบบอาคารต้านแผ่นดินไหวที่ออกโดยกรมโยธาธิการและผังเมือง (มยผ.1302)
ส่วนอาคารเก่าที่ก่อสร้างก่อนปี 2550 ศ.ดร.อมรระบุว่า ต้องประเมินอาคารเพื่อตรวจสอบสมรรถนะในการต้านแผ่นดินไหว และหาทางเสริมความแข็งแรงอาคารในกรณีที่ตรวจพบว่าอาคารไม่แข็งแรงพอ ซึ่งการเสริมความแข็งแรงอาคารทำได้หลายวิธี
ด้าน ผศ.ดร.ภาสกร ปนานนท์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งได้ส่งทีมวิจัยลงพื้นที่ไปดำเนินการติดตั้งเครื่องตรวจวัดแผ่นดินไหวในบริเวณใกล้เคียงการเกิดแผ่นดินไหวครั้งนี้ในพื้นที่จังหวัดน่าน จำนวน 4 สถานี เพื่อติดตามการเกิดอาฟเตอร์ช็อค กล่าวว่า พบการเกิดแผ่นดินไหวขนาดเล็กจำนวนมากในพื้นที่รอบ ๆ ศูนย์กลางแผ่นดินไหว และกำลังศึกษากลไกลการเกิดแผ่นดินไหวครั้งนี้เพื่อใช้ในการประเมินผลกระทบจากแผ่นดินไหวที่มีต่อรอยเลื่อนมีพลังในบริเวณใกล้เคียงในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบต่อไป เพื่อช่วยสนับสนุนการวางแผนลดผลกระทบจากแผ่นดินไหวในพื้นที่เสี่ยงภัยต่อไปในอนาคต
สำหรับแนวทางการตรวจสอบอาคารและสิ่งปลูกสร้างหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว นายวสวัตติ์ กฤษศิริธีรภาคย์ นายกสมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร เผยว่า ต้องตรวจสอบ
(1) สิ่งของที่ร่วงหล่นได้ การร่วงหล่นของสิ่งของรอบอาคาร เช่น เครื่องปรับอากาศ กระถางต้นไม้ วัสดุอาคาร
(2) ลิฟต์ ขณะลิฟต์วิ่งมีการติดขัดหรือมีความสั่นสะเทือนผิดปกติหรือไม่
(3) ท่อน้ำ ในช่องท่อน้ำแนวดิ่ง ได้แก่ ท่อน้ำประปา ท่อน้ำระบบปรับอากาศ ว่ามีท่อแตกรั่วซึมหรือไม่
(4) ท่อก๊าซหุงต้ม ทั้งที่ตั้งถังก๊าซและตลอดแนวท่อก๊าซ ว่ามีการรั่วซึมหรือมีกลิ่นก๊าซหุงต้มหรือไม่
(5) สายไฟฟ้าและตัวนำไฟฟ้าแนวดิ่งในห้องไฟฟ้าประจำชั้น มีการลัดวงจร กลิ่นไหม้ ความร้อน หรือมีสิ่งผิดปกติหรือไม่ กรณีอาคารที่ใช้บัสดักแทนสายไฟให้ตรวจความเสียหายของอุปกรณ์ทั้งหมด เพราะหากอาคารเลือกใช้บัสดักที่ไม่รองรับแผ่นดินไหว อาจจะทำให้ฉนวนของบัสดักเสียหายและเมื่อใช้อาจจะระเบิดได้
(6) ท่อระบายความร้อนและถังเก็บน้ำดาดฟ้า ตรวจสอบความเสียหาย ความมั่นคงแข็งแรง มีการแตกร้าว น้ำรั่ว ยึดติดมั่นคงแข็งแรงอยู่กับฐานหรือไม่
(7) ตรวจสอบระบบดับเพลิง ท่อน้ำดับเพลิง สปริงเกอร์ วาล์วควบคุมการจ่ายน้ำ ต้องอยู่ในทิศทางที่ถูกต้อง
(8) กรณีอาคารที่กำลังปรับปรุงอาคารหรือกำลังก่อสร้าง และงานที่มีความร้อน ต้องตรวจสอบการรั่วไหลของก๊าซในอาคารและความพร้อมของระบบป้องกันเพลิงไหม้ก่อนทำงาน
(9) อาคารขนาดใหญ่และอาคารสูง ควรได้รับการตรวจสอบอาคารโดยผู้ตรวจสอบอาคารหรือผู้มีความรู้ด้านงานตรวจสอบอาคารก่อนใช้งานอาคาร