xs
xsm
sm
md
lg

ตอบคำถาม แผ่นดินไหว 6.4 ที่ สปป.ลาว ... ส่งผลอะไรบ้าง โดย นักแผ่นดินไหววิทยา หนึ่งเดียวของไทย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เช้าวันนี้ (21พ.ย.2562) ชาวไทยต่างตื่นเต้นตกใจกับแรงสั่นสะเทือนที่สัมผัสได้ในอาคารสูงต่างๆในภาคอีสาน มาถึงกรุงเทพมหานครในช่วงประมาณ 07.00 น.


กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานว่า เมื่อเวลา 06.50น. เกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.4 ลึก 3 กม. มีจุดศูนย์กลางที่แขวงไซยะบุรี สปป.ลาว อยู่ในทิศตะวันออกฉียงใต้ ของบ้านน้ำช้าง ต.ขุนน่าน อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน ประมาณ 25 กิโลเมตร

แรงสั่นสะเทือน รู้สึกได้ถึงภาคตะวันออกฉียงเหนือของไทย มาจนถึงกรุงเทพมหานคร ... อาคารสั่นไหวประมาณเกือบ 1 นาที

ก่อนหน้านั้น เวลา 04.03น. เกิดแผ่นดินไหวที่จุดเดียวกันนี้ใน สปป.ลาว มาแล้ว ขนาด 5.9 มีอาฟเตอร์ช็อคตามมาหลายครั้ง ก่อนจะมาเกิดขนาด 6.4

คำถาม คือ ทำไมเกิดแผ่นดินไหวครั้งหลัง จึงแรงกว่าครั้งแรก ... ทำให้มีความกังวลตามมาว่าจะมีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวที่แรงกว่า 6.4 อีกหรือไม่ และอาคารสูงในกรุงเทพมหานคร ปลอดภัยหรือไม่ ... มีคำตอบ

ดร.ไพบูลย์ นวลนิล นักแผ่นดินไหววิทยา หนึ่งเดียวในประเทศไทย อธิบายว่า การเกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.9 ในเวลา 04.03น. และเกิดอาฟเตอร์ช็อกที่เล็กลงตามมาแล้ว ก่อนจะเกิดแผ่นดินไหวที่ใหญ่กว่า คือขนาด 6.4 และมีอาฟเตอร์ช็อกที่เล็กลงเรื่อยตามมาอีก อาจจะเรียกว่า “ดับเบิ้ลช็อก” ก็ได้ แต่โดยหลักการแล้ว การที่แผ่นดินไหวที่เกิดก่อนมีขนาดเล็กกว่า จะเรียกว่า Foreshock ซึ่งเกิดขึ้นได้ โดยถือว่า 6.4 เป็น Mainshock

ส่วนคำถามว่า หลังจากนี้มีโอกาสที่จะเกิดแผ่นดินไหวที่จุดเดิมในขนาดที่มากกว่า 6.4 หรือไม่ ดร.ไพบูลย์ แสดงความมั่นใจจากข้อมูลที่วัดได้ว่าจะไม่เกิดแผ่นดินไหวที่ใหญ่กว่านี้แล้ว โดยถึงเวลานี้ อาฟเตอร์ช็อกที่รุนแรงที่สุด มีขนาด 4.8 เมื่อเวลา 07.57น. และในทางวิชาการ หากจะมีอาฟเตอร์ช็อกตามมาในขนาดใหญ่ ก็จะมีขนาดไม่เกิน 5.4 โดยส่วนใหญ่จะอยู่ที่ขนาด 2 ถึง 3 เท่านั้น จึงไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดแผ่นดินไหวที่ใหญ่กว่า 6.4 อีกในรอบนี้

ดร.ไพบูลย์ ให้ข้อมูลว่า แผ่นดินไหวที่ สปป.ลาว อยู่ในลักษณะที่ต่างจากใน ญี่ปุ่น หรือ ฟิลิปปินส์ ซึ่งในกลุ่มนั้นเรียกว่า Multipleshock เป็นพื้นที่ที่อยู่ตามแนวมุดตัว มีพลังงานเยอะ ไม่สามารถปลดปล่อยได้หมดภายใน 1–2 ครั้ง ซึ่งมีรูปแบบการสะสมพลังงานต่างจากที่ สปป.ลาว

ส่วนสาเหตุที่แรงสั่นสะเทือนทำให้รู้สึกได้ไกลถึงกรุงเทพมหานคร นักแผ่นดินไหววิทยา อธิบายว่า เป็นผลกระทบจากคลื่นแผ่นดินไหวที่เรียกว่า “คลื่นพื้นผิว” ซึ่งมีความสูงของรูปคลื่นสูงที่สุด การปลดปล่อยคลื่นพื้นผิวจะใช้เวลายาวประมาณ 10-20 วินาที บางครั้งอาจถึง 30 วินาที ทำให้รู้สึกถึงแรงเขย่าอยู่ซักพักหนึ่ง และมีพลังงานมากพอที่จะสัมผัสได้ถึงกรุงเทพมหานคร แต่ยืนยันได้ว่า ด้วยระยะทางที่ไกลจากจุดศูนย์กลางมาก จะไม่ส่งผลกระทบในกรุวงเทพมหานครแน่นอน

นักแผ่นดินไหววิยา บอกด้วยว่า แผ่นดินไหวขนาด 6.4 พื้นที่ที่อยู่เกินรัศมี 50 กิโลเมตร แม้จะรับรู้แรงสั่นสะเทือนได้ แต่จะไม่ได้รับผลกระทบ

ประเด็นสำคัญที่ ดร.ไพบูลย์ กล่าวถึงอีกประเด็นหนึ่ง คือ “เขื่อนไซยะบุรี” ซึ่งมีความเห็นในโลกออนไลน์แสดงความกังวลกันมาก

ดร.ไพบูลย์ เห็นว่า เขื่อนไซยะบุรี ถูกบังคับด้วยมาตรฐานสากลให้ต้องออกแบบเพื่อรับแรง “อัตราเร่งพื้นดิน” (Gravity) ได้อย่างต่ำที่สุด คือ 0.1G(Gravity)อยู่แล้ว และจุดที่ตั้งเขื่อนอยู่ห่างจากจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวประมาณ 55 กิโลเมตร ซึ่งแม้ว่าแผ่นดินไหวขนาด 6.4 จะมีแรงประมาณ 0.5-0.6G แต่เมื่อเดินทางไปถึงตัวเขื่อนจะเหลือแรงอัตราเร่งพื้นดินเพียงนิดเดียว ไม่มีทางส่งผลกระทบต่อตัวเขื่อน โดยเฉพาะกลุ่มเขื่อนที่อยู่ในแนวรอยเลื่อนทั้งหลาย รวมทั้ง “เขื่อนศรีนครินทร์” จะถูกออกแบบเผื่อไว้เพื่อรองรับแผ่นดินไหวอยู่แล้ว

ส่วนพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ดร.ไพบูลย์ เห็นว่า พื้นที่ใกล้จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวได้รับผลกระทบอย่างเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะบ้านเรือนที่อยู่อาศัย แม้จะเป็นบ้านชั้นเดียว เพราะไม่ถูกบังคับตามกฎหมายให้ต้องก่อสร้างตาม “มาตรฐานการออกแบบอาคารเพื่อรองรับแผ่นดินไหว” โดยมาตรฐานนี้ บังคับใช้กับอาคารสาธารณะ 2 ชั้นขึ้นไป เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล โรงแรม แต่ ดร.ไพบูลย์ ก็เห็นว่า นี่ยังไม่ใช่สิ่งที่น่าวิตกมากนัก เว้นแต่การก่อส้างนั้นจะอยู่ในพื้นที่เสี่ยงจริงๆ เพราะในประเทศไทย ไม่เคยมีศูนย์กลางแผ่นดินไหวในพื้นที่ที่เป็นเขตเมือง





แผนที่การแบ่งพื้นที่ย่อยใหม่ตามลักษณะความเร่งตอบสนองเชิงสเปกตรัม

ตรวจวัดพบคลื่นแผ่นดินไหว


กำลังโหลดความคิดเห็น