นักวิจัยแผ่นดินไหวลงพื้นที่ติดตามการเกิดอาฟเตอร์ช็อคที่ จ.น่าน และติดตั้งเครื่องตรวจวัดแผ่นดินไหวในบริเวณใกล้เคียงการเกิดแผ่นดินไหวครั้งนี้ พร้อมแนะสำรวจอาคาร-ออกแบบตาม มยผ.ติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดในแอ่งดินอ่อนเพิ่มขึ้น
จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ประเทศลาวเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ผศ.ดร.ธีรพันธ์ อรธรรมรัตน์ นักวิจัยชุดโครงการลดภัยพิบัติแผ่นดินไหวในประเทศไทย สำนักงานคณะ กรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จากมหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่าแผ่นดินไหวที่ ส.ป.ป.ลาว ในช่วงเวลา 06.50 น. ห่างจากอำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน ประมาณ 19 กม.
เบื้องต้นเชื่อว่าเกิดบนรอยเลื่อนน้ำเป็งซึ่งเคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.5 ที่อำเภอปัว เมื่อปี 2478 ที่ระยะห่างประมาณ 30 กม. ซึ่งมีรอยเลื่อนมีพลังอยู่เป็นจำนวนมากจึงเกิดแผ่นดินไหวได้บ่อยครั้ง ในรอบ 100 ปีที่ผ่านมามีแผ่นดินไหวขนาดกว่า 6.0 เกิดขึ้นในบริเวณรอยต่อประเทศไทย พม่า และลาวกว่า 7 ครั้ง รวมทั้งครั้งนี้ด้วย
สำหรับผู้อยู่อาศัยบนอาคารสูงในกรุงเทพมหานครนั้น สามารถรับรู้ถึงแผ่นดินไหวได้ประมาณปีละ 1 ครั้ง ซึ่งเกิดจากแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่ระยะไกล เนื่องจากการพัฒนาอาคารสูงตามการพัฒนาของเศรษฐกิจในระยะหลัง บุคคลทั่วไปรับรู้แผ่นดินไหวได้มากขึ้นกว่าในอดีต ที่ผ่านมาโครงการวิจัยได้ศึกษาผลกระทบดินอ่อนต่ออาคารในกรุงเทพมหานคร และพัฒนามาตรฐานการออกแบบแผ่นดินไหวครอบคลุมทุกอำเภอและกรุงเทพมหานคร
มาตรฐานแผ่นดินไหว (มยผ 1302-61) ซึ่งเผยแพร่โดยกรมโยธาและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย กำหนดค่าการออกแบบสำหรับวิศวกรในการออกแบบตึกสูงให้ทนทานต่อแผ่นดินไหวที่รุนแรงเป็นไปได้ที่จะส่งผลกระทบต่อกรุงเทพมหานครได้ แต่แม้ว่าจะเผยแพร่มาตรฐานดังกล่าวแล้วประชาชนทั่วไปอาจไม่เข้าใจถึงการนำไปใช้ จึงเป็นหน้าที่ของเจ้าของอาคารต่างๆ ที่จะต้องพิจารณาให้นำมาใช้ในการออกแบบอาคาร
ผศ.ดร.ธีรพันธ์ระบุอีกว่า การวิจัยลดผลกระทบแผ่นดินไหวสำหรับอาคารในกรุงเทพมหานคร ยังจำเป็นต้องมีการติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดการสั่นไหวในบริเวณแอ่งดินอ่อนเพิ่มขึ้น เพื่อให้วิศวกรนำค่าดังกล่าวไปออกแบบอาคารให้ถูกต้องและปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เจ้าของอาคาร นิติบุคคล และผู้ใช้งานอาคารสามารถรับทราบถึงความปลอดภัยของอาคารในเวลาที่รวดเร็ว
"จากผลการวิเคราะห์คลื่นแผ่นดินไหวที่วัดได้ที่อาคารคณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลยา พบค่าความเร่งสูงสุดเท่ากับ 0.002g ซึ่งเป็นค่าการสั่นไหวที่ต่ำแต่คนทั่วไปอาจรู้สึกได้ ทว่ายังมีความปลอดภัยจึงไม่จำเป็นต้องระงับการใช้งานอาคาร" ผศ.ดร.ธีรพันธ์กล่าว
ขณะที่ รศ.ดร.นคร ภู่วโรดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสริมว่าโครงการปรับปรุงมาตรฐานและแก้ไขมาตรฐานความปลอดภัยอาคารต้านทานแผ่นดินไหว มีความสำคัญคือปรับปรุงความเสี่ยงภัยจากข้อมูลที่บันทึกได้มากขึ้น การออกแบบอาคารประเภทต่างๆ ทั้งอาคารขนาดเล็กและอาคารสูงที่พิจารณาพฤติกรรมของอาคารอย่างเหมาะสมยิ่งขึ้นในทางปฏิบัติ สอดคล้องกับสภาพความรุนแรงของแผ่นดินไหวและสภาพการก่อสร้างอาคารของประเทศไทยในปัจจุบัน
รวมถึงจัดทำคู่มือปฏิบัติประกอบมาตรฐาน เนื้อหาของการปรับปรุงในแต่ละประเด็น ได้แก่ (1) ระดับความรุนแรงของแผ่นดินไหวในรูปของความเร่งตอบสนองเชิงสเปกตรัมทั่วประเทศ (2) ค่าความเร่งตอบสนองเชิงสเปกตรัมสำหรับพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่พิจารณาแอ่งดินลึก (3) ข้อกำหนดในการใช้โครงสร้างแบบความเหนียวจำกัด (4) ข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการใช้ผนังอิฐก่อ (5) ข้อกำหนดการออกแบบฐานราก ซึ่งมีขั้นตอนที่สำคัญคือการคำนวณผลรวมของแรงเนื่องจากแผ่นดินไหวและน้ำหนักบรรทุกอื่น ๆ อย่างถูกต้อง (6) การให้รายละเอียดเหล็กเสริมให้เหมาะสมกับประเทศไทย (7) การปรับปรุงวิธีการออกแบบโครงสร้างด้วยวิธีสเปกตรัมผลตอบสนอง เพื่อออกแบบกำลังต้านทานแรงเฉือนขององค์อาคารแนวดิ่งเป็นรายชิ้นส่วน (8) อื่น ๆ เช่น ข้อแนะนำการออกแบบกำแพงโครงสร้างคอนกรีต องค์อาคารที่ไม่ใช่โครงสร้างหลัก เป็นต้น
ด้าน ศ.ดร.อมร พิมานมาศ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า แผ่นดินไหวครั้งนี้อยู่ในระดับกลางและระยะไกลแต่ส่งผลให้อาคารสูงหลายแห่งในกรุงเทพมหานครได้รับแรงสั่นสะเทือน ทั้งนี้อยากแนะนำให้เจ้าของอาคารตรวจสอบอาคารของตนว่ามีรอยร้าวที่บริเวณใดบ้าง เช่น เสา คาน ผนังอาคาร
"หากพบรอยร้าวควรแจ้งวิศวกรเข้าตรวจสอบ และควรให้ความใส่ใจกับแผ่นดินไหวที่มาจากทิศตะวันตกและประเทศพม่าซึ่งมีรอยเลื่อนที่มีพลังคือ รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์และรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ รวมถึงรอยเลื่อนสะแกงในประเทศเมียนมาซึ่งอาจเกิดแผ่นดินไหวได้รุนแรงถึง 8.5 และส่งผลกระทบให้อาคารในกรุงเทพมหานครได้รับความเสียหาย"
สำหรับงานวิจัยที่สำคัญจาก สกสว. อีกหนึ่งงาน คือ แนวทางเสริมกำลังโครงสร้างอาคารขนาดเล็กเพื่อป้องกันภัยพิบัติจากแผ่นดินไหว ซึ่งมี ศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย หัวหน้าโครงการลดภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวในประเทศไทย ภายใต้ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยนานยางเทคโนโลยีแห่งสิงคโปร์ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยียพระจอมเกล้าธนบุรี และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อจัดอบรมและพัฒนาความสามารถในการเสริมกำลัง เป็นแบบอย่างในการประยุกต์ใช้และเผยแพร่เทคโนโลยีในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงอื่นๆ ในอนาคต พร้อมจัดทำคู่มือแนวทางการเสริมกำลังอาคารขนาดเล็กซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจ โดยควรตรวจสอบความเสื่อมสภาพของวัสดุในอาคาร และลักษณะจุดอ่อนของอาคารด้วยการวิเคราะห์และประเมินเชิงวิศวกรรม แล้วจึงเสริมกำลังตามวิธีที่กำหนด เช่น พอกคอนกรีต ค้ำยันที่ไม่โก่งเดาะ พันด้วยแผ่นเรียบไฟเบอร์กลาส ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับบ้านเรือนได้เช่นกัน
“การเสริมกำลังที่เหมาะสมจะแตกต่างกันไปขึ้นกับความรุนแรงของแผ่นดินไหว ลักษณะอาคาร และสมรรถนะของอาคารที่ต้องการ จึงควรดำเนินการภายใต้การดูแลและแนะนำของวิศวกรและช่างที่มีความชำนาญ โดยอาคารขนาดเล็กและขนาดกลางในประเทศไทยมีเป็นจำนวนมาก เช่น บ้านพักอาศัย ตึกแถว โรงเรียน หอพัก สำนักงานขนาดเล็ก ฯลฯ ซึ่งถูกออกแบบไว้รับเฉพาะน้ำหนักตัวอาคารและน้ำหนักบรรทุกจากการใช้งานปกติ โดยไม่คำนึงถึงแรงจากแผ่นดินไหว อาคารที่มีชั้นที่อ่อนแอและเป็นต้นเหตุของการวิบัติ เช่น ชั้นบนของอาคารที่ก่อผนังอิฐทำให้แข็งกว่าชั้นล่าง เสาขนาดเล็ก มีขนาดหรือเสริมเหล็กเท่ากันตลอดความสูงทำให้เสาชั้นล่างไม่แข็งเพียงพอ ชั้นล่างเปิดโล่งจึงอ่อนแอเป็นพิเศษสามารถพังทลายได้โดยล้มพับไปด้านใดด้านหนึ่ง”
ล่าสุดคณะนักวิจัยของ ผศ. ดร.ภาสกร ปนานนท์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หัวหน้าโครงการการศึกษาสภาวะความเค้นของธรณีภาคบริเวณประเทศไทยและการตรวจสอบรูปทรงของรอยเลื่อนมีพลังแม่ทา จังหวัดเชียงใหม่ จากแผ่นดินไหวขนาดเล็กมาก เพื่อการลดผลกระทบจากแผ่นดินไหวของประเทศไทย กำลังเดินทางเข้าพื้นที่จังหวัดน่าน เพื่อติดตั้งเครื่องตรวจวัดแผ่นดินไหวในบริเวณใกล้เคียงการเกิดแผ่นดินไหวครั้งนี้และติดตามการเกิดอาฟเตอร์ช็อค เพื่อเป็นข้อมูลในการศึกษาว่าแผ่นดินไหวครั้งนี้เกิดได้อย่างไร รวมถึงประเมินผลกระทบจากแผ่นดินไหวเพื่อใช้วางแผนลดผลกระทบจากแผ่นดินไหวในพื้นที่เสี่ยงภัยต่อไปในอนาคต