xs
xsm
sm
md
lg

นักวิจัยเผยผลวัดคลื่นแผ่นดินไหวที่ตึกมหิดล ศาลายา

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


แผนที่สำหรับค่าความเร่งที่เกิดขึ้นจากการสั่นไหวของอาคาร (SA) ที่ 0.2 วินาที จากการศึกษาใหม่สำหรับระดับแผ่นดินไหวรุนแรงสูงสุดที่พิจารณา
นักวิจัยเผยผลวัดคลื่นแผ่นดินไหวที่ตึกใจมหิดล ศาลายา ค่าการสั่นไหวที่ต่ำแต่คนทั่วไปอาจรู้สึกได้ ทว่ายังมีความปลอดภัยจึงไม่จำเป็นต้องระงับการใช้งานอาคาร

จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ประเทศลาวเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ผศ.ดร.ธีรพันธ์ อรธรรมรัตน์ นักวิจัยชุดโครงการลดภัยพิบัติแผ่นดินไหวในประเทศไทย สำนักงานคณะ กรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จากมหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่าแผ่นดินไหวที่ ส.ป.ป.ลาว ในช่วงเวลา 06.50 น. ห่างจากอำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน ประมาณ 19 กม.

เบื้องต้นเชื่อว่าเกิดบนรอยเลื่อนน้ำเป็งซึ่งเคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.5 ที่อำเภอปัว เมื่อปี 2478 ที่ระยะห่างประมาณ 30 กม. ซึ่งมีรอยเลื่อนมีพลังอยู่เป็นจำนวนมากจึงเกิดแผ่นดินไหวได้บ่อยครั้ง ในรอบ 100 ปีที่ผ่านมามีแผ่นดินไหวขนาดกว่า 6.0 เกิดขึ้นในบริเวณรอยต่อประเทศไทย พม่า และลาวกว่า 7 ครั้ง รวมทั้งครั้งนี้ด้วย

สำหรับผู้อยู่อาศัยบนอาคารสูงในกรุงเทพมหานครนั้น สามารถรับรู้ถึงแผ่นดินไหวได้ประมาณปีละ 1 ครั้ง ซึ่งเกิดจากแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่ระยะไกล เนื่องจากการพัฒนาอาคารสูงตามการพัฒนาของเศรษฐกิจในระยะหลัง บุคคลทั่วไปรับรู้แผ่นดินไหวได้มากขึ้นกว่าในอดีต ที่ผ่านมาโครงการวิจัยได้ศึกษาผลกระทบดินอ่อนต่ออาคารในกรุงเทพมหานคร และพัฒนามาตรฐานการออกแบบแผ่นดินไหวครอบคลุมทุกอำเภอและกรุงเทพมหานคร

มาตรฐานแผ่นดินไหว (มยผ 1302-61) ซึ่งเผยแพร่โดยกรมโยธาและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย กำหนดค่าการออกแบบสำหรับวิศวกรในการออกแบบตึกสูงให้ทนทานต่อแผ่นดินไหวที่รุนแรงเป็นไปได้ที่จะส่งผลกระทบต่อกรุงเทพมหานครได้ แต่แม้ว่าจะเผยแพร่มาตรฐานดังกล่าวแล้วประชาชนทั่วไปอาจไม่เข้าใจถึงการนำไปใช้ จึงเป็นหน้าที่ของเจ้าของอาคารต่างๆ ที่จะต้องพิจารณาให้นำมาใช้ในการออกแบบอาคาร

ผศ.ดร.ธีรพันธ์ระบุอีกว่า การวิจัยลดผลกระทบแผ่นดินไหวสำหรับอาคารในกรุงเทพมหานคร ยังจำเป็นต้องมีการติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดการสั่นไหวในบริเวณแอ่งดินอ่อนเพิ่มขึ้น เพื่อให้วิศวกรนำค่าดังกล่าวไปออกแบบอาคารให้ถูกต้องและปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เจ้าของอาคาร นิติบุคคล และผู้ใช้งานอาคารสามารถรับทราบถึงความปลอดภัยของอาคารในเวลาที่รวดเร็ว

"จากผลการวิเคราะห์คลื่นแผ่นดินไหวที่วัดได้ที่อาคารคณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลยา พบค่าความเร่งสูงสุดเท่ากับ 0.002g ซึ่งเป็นค่าการสั่นไหวที่ต่ำแต่คนทั่วไปอาจรู้สึกได้ ทว่ายังมีความปลอดภัยจึงไม่จำเป็นต้องระงับการใช้งานอาคาร" ผศ.ดร.ธีรพันธ์กล่าว

แผนที่สำหรับค่าความเร่งที่เกิดขึ้นจากการสั่นไหวของอาคาร (SA) ที่ 1.0 วินาที จากการศึกษาใหม่สำหรับระดับแผ่นดินไหวรุนแรงสูงสุดที่พิจารณา

แผนที่การแบ่งพื้นที่ย่อยใหม่ตามลักษณะความเร่งตอบสนองเชิงสเปกตรัม

ตรวจวัดพบคลื่นแผ่นดินไหว


กำลังโหลดความคิดเห็น