หลายๆ คนคงจะเข้าใจผิดกันว่า มนุษย์ปัจจุบันอย่างเราๆ นั้น มีหลากหลายสายพันธุ์ เพราะมีรูปร่างหน้าตาลักษณะร่างกายที่แตกต่างกันไปตามเชื้อชาติ แต่ในความเป็นจริงแล้ว แม้จะมีความแตกต่างกันในด้านรูปลักษณ์ เราก็ถูกจัดให้อยู่ในสายพันธุ์เดียวกัน คือ “โฮโม เซเปียนส์”
ด้วยความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ จึงทำให้เราได้รู้ว่า สายพันธุ์มนุษย์ในปัจจุบันของเรานั้น มีวิวัฒนาการมาแล้วกว่า 200,000 ปี และเส้นทางแห่งวิวัฒนาการนี้ เราก็ยังมีญาติเก่าแก่สายพันธุ์อื่นๆ ร่วมทางมาด้วย แต่เนื่องจากโลกนั้น มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ทั้งสภาพภูมิอากาศและภูมิประเทศ จึงทำให้ญาติๆ ยุคโบราณของเราเหล่านั้นได้สูญพันธุ์ไป
ด้วยความสำคัญในเรื่องราวของห้วงเวลาแห่งวิวัฒนาการอันยาวนานของการเกิดขึ้นของเผ่าพันธุ์มนุษย์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ จึงได้นำองค์ความรู้มาถ่ายถอดผ่านนิทรรศการในโซน “HUMAN ODYSSEY” ส่วนจัดแสดงแรก “Our Home” (บ้านของเรา) ณ “พิพิธภัณฑ์พระราม ๙” ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ใหม่ขององค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ในพื้นที่เทคโนธานี คลองห้า อำเภอคลอง จ.ปทุมธานี ที่เปิดเข้าชมอย่างเป็นทางการแล้ว
ในโซน “HUMAN ODYSSEY” ของพิพิธภัณฑ์พระราม ๙ นี้ จะทำให้เราได้รู้ว่า ในห้วงเวลาแห่งวิวัฒนาการอันยาวนานของสิ่งมีชีวิต สายพันธุ์มนุษย์ได้ถือกำเนิดขึ้นเมื่อใด เรามีจุดเริ่มต้นในส่วนใดของโลกใบนี้ และในเส้นทางแห่งวิวัฒนาการของมนุษย์มีมนุษย์สายพันธุ์อะไรบ้าง ที่ได้เดินในเส้นทางนี้มากับเรา และพวกเค้ามีหน้าตาอย่างไร
มนุษย์อย่างเราๆ ทั่วทุกมุมโลกนี้ แม้จะต่างเชื้อชาติ แต่ถูกจัดให้เป็นสายพันธุ์เดียวกันคือ “โฮโม เซเปียนส์” (Homo sapiens) เป็นสายพันธุ์ที่สามารถปรับตัวทางวัฒนธรรมได้ดีที่สุด และได้สร้างสรรค์วัฒนธรรมต่างๆ มากที่สุด ลักษณะร่างกายของสายพันธุ์โฮโม เซเปียนส์ แตกต่างจากมนุษย์สายพันธุ์อื่นคือ มีกะโหลกกลมสูง ท้ายทอยกลมมน หน้าผากชัน หรือเกือบเป็นแนวดิ่งถ้ามองจากด้านข้าง ส่วนกลางของใบหน้าลงมาไม่ยื่นออกมามากเหมือนมนุษย์สายพันธุ์อื่นๆ
ในเรื่องราวการถือกำเนิดและวิวัฒนาการ มีหลักฐานซากดึกดำบรรพ์ และหลักฐานทางโบราณคดี ที่นำมาสู่ทฤษฎีที่ส่วนใหญ่ให้การยอมรับ ว่าสายพันธุ์ของเรานั้น มีวิวัฒนาการมาแล้วกว่า 200,000 ปี มีจุดกำเนิดในทวีปแอฟฟริกา และได้เดินทางแพร่กระจายไปยังทวีปต่างๆ พร้อมกับวิวัฒนาการด้านร่างการ พัฒนาความรู้และทักษะการใช้ชีวิต จนถึงการก่อร่างสร้างวัฒนธรรม และกลายมาเป็นมนุษย์ในปัจจุบัน ที่ใช้ชีวิตภายใต้กรอบแห่งวัฒนธรรมที่ได้สั่งสมมา
นอกจากสายพันธุ์ของเราแล้ว ในเส้นทางแห่งวิวัฒนาการอันยาวนานนี้ เราก็ยังมีญาติมนุษย์โบราณ ที่ได้เกิดขึ้นและพัฒนามาพร้อมๆ กับเรา แต่ด้วยปัจจัยหลายๆ อย่าง เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภูมิประเทศของโลกที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ จึงทำให้มนุษย์สายพันธุ์อื่นๆ หายไปจากโลกนี้ คงเหลือไว้แต่ซากดึกดำบรรพ์และหลักฐานทางโบราณคดี ให้นักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาหาความรู้ และไขปริศนาของการสูญพันธุ์ไปของญาติๆ ของเรา
มนุษย์สายพันธุ์อื่นๆ ที่ได้นำมาจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์พระราม ๙ ให้ได้ชมกันนั้น เป็นญาติสายพันธุ์โบราณ ที่ได้เดินมาในเส้นทางแห่งการวิวัฒนาการร่วมกับเรามา ได้แก่ มนุษย์สายพันธุ์ “โฮโม ไฮเดลเบอร์เกนซิส” (Homo heildelbergensis) สายพันธุ์นี้พบในทวีปยุโรป เมื่อประมาณ 5 แสน – 2 แสนปีมาแล้ว ตั้งชื่อตามแหล่งที่พบครั้งแรก ซึ่งอยู่ใกล้กับเมืองไฮเดลแบร์กในประเทศเยอรมนี มนุษย์สายพันธุ์นี้มีการแพร่กระจายในหลายพื้นที่ มีการค้นพบซากดึกดำบรรพ์และหลักฐานทางโบราณคดี ทั้งในประเทศฝรั่งเศส ประเทศอิตาลี และประเทศกรีซ
มนุษย์สายพันธุ์ “ออสตราโลพิเธคัส อะฟาเรนซีส” (Australopithecus Afarensis) เป็นบรรพบุรุษสายตรงของมนุษย์ ชื่อ “ออสตราโลพิเธคัส” หมายถึง วานรแดนใต้ ส่วนชื่อชนิด “อะฟาเรนซีส” ตั้งตามแหล่งค้นพบที่แรกคือ แหล่งค้นพบกระดูกอะฟาเรนซีส ประเทศเอธิโอเปีย สายพันธุ์ที่เก่าแก่นี้มีวิวัฒนาการ 4 – 1 ล้านปีมาแล้ว
มนุษย์สายพันธุ์ “โฮโม ฮาบิลิส” (Homo habilis) ญาติของเราสายพันธุ์นี้มีชีวิตอยู่ในระหว่างช่วงอายุหิน ประมาณ 2.1 – 1.5 ล้านปีก่อน เป็นสายพันธุ์ที่เก่าแก่ที่สุด ในสกุลโฮโมของเรา และมีรูปร่างสัณฐานคล้ายกับมนุษย์ปัจจุบันน้อยที่สุด ชื่อ “ฮาบิลิส” นั้นมีความหมายว่า ความชำนาญในการใช้มือ เนื่องจากในการขุดค้นพบได้พบหลักฐานทางโบราณคดีคือ “เครื่องมือหิน” ที่ใช้ดำรงชีวิตอยู่ใกล้ๆ ซากดึกดำบรรพ์ด้วย
มนุษย์ “สายพันธุ์โฮโม อีเร็กตัส” (Homo erectus) ความหมายของชื่อคือ “มนุษย์ผู้ยืนตัวตรง” เป็นหนึ่งในญาติของเราที่ได้ร่วมเส้นทางมา เป็นสายพันธุ์ที่เกิดในแอฟริกา และได้ย้ายถิ่นฐานกระจายไปจนถึง ประเทศอินเดีย ศรีลังกา จีน และเกาะชวา มีหลักฐานซากดึกดำบรรพ์ที่เก่าแก่ที่สุดประมาณ 1.9 ล้านปีก่อน มนุษย์สายพันธุ์นี้ประสบผลสำเร็จในการวิวัฒนาการค่อยข้างมาก เนื่องจากในการขุดค้นพบ ได้พบเครื่องมือหินที่ประดิษฐ์อยู่ด้วย
มนุษย์สายพันธุ์ “โฮโม นีแอนเดอร์ทัลเอนซิส” (Homo Neanderthalensis) ซึ่งแปลว่า "มนุษย์ผู้มาก่อน" มีการ ตั้งชื่อตามแหล่งที่พบครั้งแรกในที่หุบเขาเนอานแดร์ ประเทศเยอรมนี ส่วนมากมักเรียกกันว่า “มนุษย์นีแอนเดอร์ทัล” จัดเป็นมนุษย์โบราณสายพันธุ์รุ่นหลังที่พบหลักฐานมากที่สุดและค่อนข้างสมบูรณ์
มนุษย์นีแอนเดอร์ทัลดำรงชีวิตอยู่บนโลกในช่วงประมาณ 3 แสนปีมาแล้ว และสูญพันธุ์ไปเมื่อประมาณ 25,000 ปีมาแล้ว และข้อมูลในด้านวิทยาศาสตร์มีความเชื่อว่า มนุษย์สายพันธุ์นี้วิวัฒนาการมาจาก โฮโมไฮเดลเบอร์เกนซิส ก่อนที่จะถูกแทนที่ด้วยมนุษย์สายพันธุ์โฮโมเซเปียนส์ อันเป็นบรรพบุรุษของมนุษย์รุ่นใหม่ อย่างที่เราเป็นในปัจจุบัน
สุดท้ายคือมนุษย์ฮอบบิตแห่งเกาะฟลอเรส (The Hobbit of Flores Island) อินโดนีเซีย หรือ โฮโม ฟลอเรซิเอ็นซิส (Homo floresiensis) กระดูกของมนุษย์สายพันธุ์นี้ถูกพบเมื่อปี ค.ศ.2003 โดยมนุษย์ผู้ใหญ่ของสายพันธุ์นี้มีความเฉลี่ยเพียง 1.1 เมตร สูญพันธุ์ไปเมื่อประมาณ12,000 ปีก่อน ส่วนฟอสซิลกระดูกที่พบคำนวณอายุได้ 60,000-100,000 ปี