เปิดให้เข้าชมอย่างเป็นทางการแล้วสำหรับ "พิพิธภัณฑ์พระราม ๙" ที่เคยสร้างปรากฏทดลองเปิดและมีผู้เข้าชมอย่างล้นหลาม และเปิดใหญ่ครั้งนี้ มี 2 ไดโนเสาร์พันธุ์ไทย "สยามโมไทรันนัส อิสานเอนซิส" และ "ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน" ยืนตระหง่านต้อนรับนักท่องเที่ยวด้วยเสียงคำรามอันดังกึกก้อง
“พิพิธภัณฑ์พระราม ๙” องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) เปิดต้อนรับนักท่องเที่ยวอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 19 ธ.ค.62 เป็นต้นไป โดยหนึ่งในไฮไลท์คือ 2 ไดโนเสาร์ยักษ์ใหญ่เชื้อสายไทย ได้แก่ “สยามโมไทรันนัส อิสานเอนซิส” (Siamotyrannus isanensis) ไดโนเสาร์สายพันธุ์กินเนื้อ ซึ่งเป็นญาติกับทีเรกซ์ (T. rex) หรือ ไทแรนนอซอรัส เรกซ์ (Tyrannosaurus rex) แต่ไดโนเสาร์กินเนื้อสายพันธุ์ไทยมีข้าหลังที่ใหญ่กว่า และ “ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน” (Phuwiangosaurus sirindhornae) ไดโนเสาร์กินพืชสายพันธุ์ไทย
หุ่นไดโนเสาร์ทั้ง 2 ตัว มีขนาดเหมือนจริงและสามารถขยับเขยื้อนได้เหมือนจริง ยืนตระหง่านในท่าที่พร้อมจะจู่โจมเราจริงๆ โดยจัดแสดงอยู่ที่ “โซนวิวัฒนาการของสัตว์ยุคดึกดำบรรพ์” (EVOLUTION AND MASS EXTINCTION) การจัดแสดงหุ่นไดโนเสาร์ทั้ง 2 สายพันธุ์นี้ได้รับคัดเลือกโดย ดร.วราวุธ สุธีธร นักธรณีวิทยาและและนักบรรพชีวินวิทยาระดับปรมาจารย์ของไทย และนักวิจัยศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่มีผลงานการค้นพบมากมาย เช่น การค้นพบไดโนเสาร์ชนิดใหม่หลายชนิดในประเทศไทย เช่น ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน , สยามโมไทรันนัส อิสานเอนซิส
สำหรับ “สยามโมไทรันนัส อิสานเอนซิส" มีความหมายว่า "ทรราชแห่งสยามจากภาคอีสาน" ไดโนเสาร์ชนิดนี้ มีความยาวประมาณ 6.5 เมตร ได้ถูกขุดค้นพบกระดูกเป็นครั้งแรกที่อุทยานแห่งชาติภูเวียง อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น โดยนายสมชัย เตรียมวิชานนท์ นักธรณีวิทยา กรมทรัพยากรธรณี เมื่อปี พ.ศ. 2536 ไดโนเสาร์กินเนื้อสายพันธุ์ไทยชนิดนี้ เป็นไดโนเสาร์ในยุคครีเทเชียส (Cretaceous) ตอนต้น ซึ่งลักษณะของรูปร่างไม่เคยมีรายงานการค้นพบจากที่ใดๆ ในโลกมาก่อน จึงพิจารณาให้เป็นสกุลและชนิดใหม่ของโลก
อีกหนึ่งไดโนเสาร์ที่ความภาคภูมิใจของปรเทศไทยก็คือ “ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน” มีหมายความว่า "สัตว์เลื้อยคลานยักษ์แห่งภูเวียง ไดโนเสาร์สายพันธุ์ซอโรพอด (Sauropods) หรือที่เรารู้จักกันโดยทั่วไปคือไดโนเสาร์คอยาวกินพืช ความยาวประมาณ 15-20 เมตร โดยถูกค้นพบที่บริเวณอำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น โดย ดร.วราวุธ สุธีธร ไดโนเสาร์ชนิดนี้มีพฤติกรรมที่มักอยู่รวมกันเป็นฝูง ซึ่งมีการขุดพบกระดูกของไดโนเสาร์วัยเยาว์รวมอยู่ด้วย ไดโนเสาร์ชนิดนี้มีชีวิตอยู่ในยุคครีเทเชียสตอนต้นเมื่อประมาณ 130 ล้านปีก่อน ชื่อ “ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน” ได้รับการตั้งชื่อเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
นอกจากจะได้ชมไดโนเสาร์กันเเล้ว ยังจะได้ชมนิทรรศการที่จัดเเสดงภายใน “โซนวิวัฒนาการของสัตว์ยุคดึกดำบรรพ์” ที่ได้บอกเล่าเรื่องราวการกำเนิดของสิ่งมีชีวิตในยุคดึกดําบรรพ์ ตั้งเเต่เริ่มต้นจนถึงการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ ที่มีกระดูกไดโนเสาร์จำลอง ภาพจำรองในยุคต่างๆ พร้อมกับวิดีโอให้ได้ศึกษาและได้ชม
หากใครที่เป็นสาวกไดโนเสาร์แล้ว หากได้มาชม "สยามโมไทรันนัส อิสานเอนซิส” และ “ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน” ที่สามารถขยับเขยื้อนได้สมจริง ก็คงไม่ผิดหวังอย่างแน่นอน