สระแก้ว - จนท.กรมทรัพย์ฯ ยันซากดึกดําบรรพ์ที่พบใน อ.เขาฉกรรจ์ จ.สระแก้ว เป็น “ไคนอยด์” หรือพลับพลึงทะเล ที่มีอายุประมาณ 250 -285 ล้านปี พร้อมเร่งสำรวจพื้นที่อย่างละเอียดก่อนขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ซากดึกดำบรรพ์
จากกรณีที่ชาวบ้านในพื้นที่ ต.พระเพลิง อ.เขาฉกรรจ์ จ.สระแก้ว ได้พบซากฟอสซิล จำนวน 3 ก้อน ซึ่งมีลักษณะเป็นหินฝังอยู่ตามหัวไร่ปลายนาและภายในสวนปาล์มน้ำมัน ที่เนื้อที่ประมาณ 24 ไร่ และได้มีการนำภาพถ่ายฟอสซิลโพสต์ลงในเฟซบุ๊ก เพื่อสอบถามไปยังผู้รู้ว่าเป็นฟอสซิลชนิดใด และเรียกร้องให้หน่วยงานเกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบ
ขณะที่ภาพดังกล่าวที่ถูกโพสต์ลงในโลกสังคมออนไลน์ ได้สร้างกระแสฮือฮาให้กับชาวบ้านใน จ.สระแก้ว รวมทั้งมีคนติดต่อขอซื้อ และยังมีอาจารย์ จากสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่งระบุว่า หินฟอสซิลที่พบ เป็นซากพลับพลึงทะเล หรือเป็นสัตว์ทะเลที่มีรูปร่างคล้ายต้นไม้ โดยมากจะพบในมหายุคพาลีโอโซอิก ที่มีอายุประมาณ 250 ล้านปีนั้น
ล่าสุดเมื่อเวลา 13.00 น.วันนี้ ( 2 ธ.ค.) นางธัญญธร โทนรัตน์ นักธรณีวิทยาชำนาญการพิเศษ กองคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยนายธีรพล ศรีโมรา ผู้อำนวยสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.สระแก้ว รวมทั้งเจ้าหน้าที่กองคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ ได้เดินทางลงพื้นที่ ม.1 ต.พระเพลิง อ.เขาฉกรรจ์ เพื่อตรวจสอบซากฟอสซิลในสวนปาล์ม ที่มีลักษณะคล้ายตัวหนอนหรือสัตว์ทะเลดึกดำบรรพ์ตามที่ปรากฏเป็นข่าว
พร้อมระบุว่าซากดึกดําบรรพ์ที่พบเป็น “ไคนอยด์” หรือพลับพลึงทะเล ซึ่งเป็นสัตว์ทะเลที่ไม่ใช่พืช โดยมีอายุประมาณ 285-250 ล้านปี และหลังจากนี้เจ้าหน้าที่จะทำการประเมินการกระจายตัวของซากดึกดำบรรพ์และความหนาแน่นของซากในพื้นที่ว่าเข้าเกณฑ์ 6 ข้อตามกฏหมายหรือไม่ ก่อนจะทำการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ซากดึกดำบรรพ์ หรือประกาศเป็นเขตศึกษาวิจัยต่อไป