หลังมีหญิงสาวออกมาโพสต์ขอความรู้หลังพบซากดึกดำบรรพ์ ไม่แน่ชัดว่าคืออะไร โดยระบุว่าเป็นก้อนหินจากหลังบ้านตนเอง ล่าสุด เพจ “Fossil World” ได้ออกมาเฉลยแล้ว ซากที่พบบนหินนั้นคือ ‘ไครนอยด์’ (Crinoid) หรือ ‘พลับพลึงทะเล’ เป็นสัตว์ทะเล ญาติใกล้เคียงกับดาวทะเล เม่นทะเล มีอายุหลายร้อยล้านปี
จากกรณีผู้ใช้เฟซบุ๊ก Pinthip Koktung ได้โพสต์ภาพและข้อความระบุว่า ขอความรู้เรื่องหินที่สวนมีซากคล้ายสัตว์ยุคดึกดำบรรพ์ฝังอยู่ด้านใน โดยหินที่พบเกิดขึ้นระหว่างที่เจ้าของโพสต์ขนก้อนหินจากหลังบ้านมาตกแต่งจัดสวนร้านค้า ที่พบที่ตำบลพระเพลิง อำเภอเขาฉกรรจ์ จังหวัดสระแก้ว
ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 ธ.ค. เพจเฟซบุ๊ก Fossil World ได้เปิดเผยว่า ภาพซากที่พบบนหินนั้นคือ ‘ไครนอยด์’ (Crinoid) หรือ ‘พลับพลึงทะเล’ เป็นสัตว์ทะเล ญาติใกล้เคียงกับดาวทะเล เม่นทะเล โดยมีลักษณะคล้ายดอกไม้ มีส่วนที่คล้ายลำต้นเป็นข้อๆ มีโครงร่างแข็งที่สร้างโดยสารละลายคาร์บอเนตในน้ำ เนื่องจากอาศัยอยู่ในทะเล จึงพบเป็นซากดึกดำบรรพ์จำนวนมากฝังอยู่ในหินปูนซึ่งเป็นหินที่สะสมตัวในทะเลเป็นหลัก
สำหรับซากดึกดำบรรพ์ ไครนอยด์ หรือพลับพลึงทะเล ที่พบในประเทศไทย สามารถพบได้ทั่วไปในชั้นหินปูน ทั่วทุกภูมิภาค ตั้งแต่หินอายุออร์โดวิเชียน (485 ล้านปีก่อน) บริเวณจังหวัดลำพูน กาญจนบุรี สตูล หินยุคเพอร์เมียน (300 ล้านปีก่อน) บริเวณจังหวัดราชบุรี สระบุรี ลพบุรี สระแก้ว และหินยุคไทรแอสสิก (250 ล้านปีก่อน) บริเวณจังหวัดลำปาง เป็นต้น ในประเทศไทยส่วนใหญ่ไม่พบชิ้นส่วนที่สมบูรณ์
เนื่องจากอาจโดนกระแสน้ำโบราณพัดพาจนแตกไม่เหลือสภาพเดิม ซากดึกดำบรรพ์ที่พบส่วนใหญ่จึงเป็นเพียงส่วนขอลำต้น หรือ Crinoid stem ที่มีลักษณะเป็นข้อๆ คล้ายต้นไม้ จึงทำให้หลายๆ คนเข้าใจผิดคิดว่าเป็นชิ้นส่วนของต้นไม้