xs
xsm
sm
md
lg

“ราชาแห่งแยงซีเกียง” ฉลามปากเป็ดจีน สูญพันธุ์แล้ว!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ฉลามปากเป็ด หนึ่งใน “สามราชาแห่งลุ่มน้ำแยงซี” เหลือแต่ชื่อและรูปภาพ  (ภาพ ไชน่า เดลี่)
MGR ONLINE--ในวันที่ 2 และวันที่ 3 ของปีพ.ศ.ใหม่นี้ ข่าว “ฉลามปากเป็ดแยงซีเกียงสูญพันธุ์” ได้รับความสนใจและกลายเป็นข่าวฮ็อตในจีนรับวันปีใหม่โดยมีจำนวนการเข้ามาอ่านข่าวนี้ในเว่ยปั๋วซึ่งเป็นโซเชียลมีเดียใหญ่สุดของจีน ร่วม 500 ล้านครั้ง นั่นก็แสดงว่าผู้คนสนใจชะตากรรมของฉลามปากเป็ดซึ่งมีฉายา “ราชาแห่งลุ่มน้ำแยงซีเกียง” และที่น่าใจหายอีกคือ ฉลามปากเป็ดเป็นสายพันธุ์ดึกดำบรรพ์ที่ปรากฏขึ้นบนโลกมานาน 15 ล้านปี เป็น“ฟอสซิลที่มีชีวิต” ไม่กี่ชิ้นของโลกที่สูญหายไป ด้านผู้เชี่ยวชาญจีนได้แต่กล่าวอย่างละห้อยว่า “มันเป็นความสนใจที่สายไปเสียแล้ว”

เชื่อกันว่าฉลามปากเป็ดได้หายตัว ไม่มีใครพบเห็นระหว่างปี 2005 และ 2010 !

กลุ่มนักวิทยาศาสตร์จีนประจำสถาบันวิทยาศาสตร์การประมงแยงซีเกียงได้ประกาศรายงานการวิจัยในนิตยสารวิทยาศาสตร์ Science of The Total Environment (23 ธ.ค.)ว่าฉลามปากเป็ดได้สูญพันธุ์แล้ว

เวย ฉีเหว่ย หัวหน้าทีมนักวิทยาศาสตร์ของสถาบันวิจัยการประมงแยงซีเกียงเมืองอู่ฮั่นและผู้ร่วมเขียนรายงานวิจัยฯชิ้นนี้กล่าวว่า ทีมผู้เชี่ยวชาญจากสหภาพระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature/IUCN) ได้ประเมินและตัดสินเมื่อเดือนก.ย.ปีที่แล้วว่าฉลามปากเป็ดสูญพันธุ์แล้ว

“พวกเรายอมรับการประเมินของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ IUCN ด้วยจิตใจที่เศร้าสลด” เวยกล่าวกับผู้สื่อข่าวท้องถิ่น ฉู่เทียน เมโทรโพลิส เดลี่ (Chutian Metropolis Daily) รายงานเมื่อวันศุกร์(3 ม.ค.)

นอกจากนี้เวยยังได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวค่ายซินจิงเป้าแห่งปักกิ่งว่า “การสรุปนี้เป็นวิทยาศาสตร์ เปลี่ยนแปลงไม่ได้แล้ว" และว่าควรมีการประกาศเรื่องนี้เร็วกว่านี้หน่อย “สิ่งที่ตายไปแล้ว ไม่อาจฟื้นคืนกลับมาได้แล้ว สิ่งที่ควรทำต่อไปคือดูแลสิ่งที่ยังมีชีวิตให้ดีกว่านี้ มิให้สูญพันธุ์ไปอีก และช่วยกันแก้ปัญหาให้ทันการณ์”

ฉลามปากเป็ดเป็นปลาน้ำจืดที่ใหญ่สุดของโลกชนิดหนึ่ง มีลำตัวยาว 2-3 เมตร และอาจยาวที่สุดถึง 7 เมตร น้ำหนักอาจถึง 700 กว่ากิโลกรัม จุดเด่นของมันคือมีจะงอยปากที่ยาวราวกึ่งหนึ่งของความยาวลำตัว ชาวจีนจึงเรียกมันว่า “ปลาช้าง”

“ฉลามปากเป็ดแยงซีเกียงเป็น 1 ในเพียง 2 วงศ์ตระกูลสัตว์ที่มีหลากหลายชนิดและมีจำนวนมากที่สุดเมื่อ 34-75 ล้านปีที่แล้ว และยังหลงเหลืออยู่ในยุคปัจจุบัน” รายงานวิจัยฯระบุ

ฉลามปากเป็ดจีนถูกพบครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2003 ทีมนักวิทยาศาสตร์พยายามติดตามและช่วยให้พวกมันกลับมา แต่ก็คว้าแต่น้ำเหลว นับจากนั้นก็ไม่มีใครพบเห็นฉลามปากเป็ด และไม่มีปลาฯชนิดนี้ในศูนย์เพาะเลี้ยงที่ไหน

“ฉลามปากเป็ดจีนตัวใหญ่มากจึงยากที่จะเพาะเลี้ยง” เหว่ย กล่าว

ฉลามปากเป็ดเป็นหนึ่งใน “สามราชาแห่งลุ่มน้ำแยงซีเกียง” ที่ถูกขึ้นทำเนียบสัตว์สูญพันธุ์

โลมาแม่น้ำแยงซีเกียงที่ชาวจีนขนานนามว่าเป็น “เทพธิดาแห่งแยงซีเกียง” ถูกขึ้นทำเนียบสัตว์สูญพันธุ์โดยปริยาย ในภาพโลมาแม่น้ำแยงซีเกียงสองตัวปรากฏตัวในแยงซีเกียช่วงเมืองอี๋ชางเมื่อวันที่ 6 เม.ย.2561  (ไชน่า นิวส์ เซอร์วิส)
อีกสองราชาแห่งแยงซีเกียงได้แก่ โลมาแยงซีเกียง หรือ ไป๋จี๋(คนไทยเรียกโลมาหัวบาตรหลังราบ) และปลาโคก (reeves shad) ทั้งสองถูกจัดอยู่ในกลุ่มสูญพันธุ์โดยปริยาย (Functionally Extinct)

อย่างไรก็ตาม มีผู้พบเห็นโลมาไร้ครีบแห่งแยงซีเกียงสองตัวโผล่ขึ้นมาเล่นเหนือน้ำแยงซีช่วงเมืองอี๋ชังในมณฑลหูเป่ยเมื่อเดือนเม.ย. 2561 จากรายงานข่าวของ ไชน่า นิวส์ เซอร์วิส (China News Service)

จากวันที่ 1 ม.ค. เป็นต้นไป จีนเริ่มบังคับใช้กฎห้ามจับปลา 10 ปี ในเขตอนุรักษ์แห่งหลักของลุ่มน้ำแยงซีเพื่อฟื้นความหลากหลายทางชีวภาพของแม่น้ำสายยาวที่สุดของประเทศ แยงซีเกียงที่จีนเรียกฉังเจียงความยาว 6,300 กิโลเมตร ยังนับเป็นแม่น้ำสายยาวที่สุดของทวีปเอเชีย ที่มีระบบนิเวศอุดมสมบูรณ์โดยมีสายพันธุ์ชีวิตอาศัยอยู่มากกว่า 4,000 สายพันธุ์ แต่การสร้างเขื่อน การประมงมากเกินไป การจราจรทางน้ำที่หนาแน่นวุ่นวาย และมลพิษ ได้ทำลายฝูงปลา และทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพเสื่อมโทรม.


กำลังโหลดความคิดเห็น