xs
xsm
sm
md
lg

จีนลงดาบเฉียบขาด...ห้ามจับปลาในแยงซีเกียง 10 ปี ฟื้นฟูแม่น้ำที่เสื่อมโทรมถึงขั้น “ไม่มีปลา” เหลืออยู่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ประธานาธิบดี สี จิ้นผิงได้เตือนว่าสภาพแวดล้อมแยงซีเกียงกำลงเสื่อมโทรม ดัชนีความหลากหลายทางชีวภาพตกต่ำอย่างที่สุดแล้ว จนอาจกล่าวได้ว่า “ไม่มีปลา” เหลืออยู่แล้ว”  (แฟ้มภาพรอยเตอร์ส)
MGR ONLINE--จีนใช้กฎเหล็กห้ามการประมงเชิงพาณิชย์ในแยงซีเกียง เป็นเวลานาน 10 ปี เพื่อฟื้นชีพสายพันธุ์ปลาในลำน้ำสายยาวที่สุดในเอเชีย และเป็นแหล่งความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก จากรายงานข่าวของเซาท์ ไชน่า มอร์นิ่งโพสต์ (3 ธ.ค.)

แยงซีเกียง หรือที่จีนเรียก “ฉังเจียง” กำลังเผชิญวิกฤตสิ่งแวดล้อมอย่างเลวร้าย ทั้งจำนวนปลาร่อยหรอ และความหลากหลายชีวภาพที่เคยอุดมสมบูรณ์นับวันยิ่งเสื่อมโทรม สีจิ้นผิงชี้วิกฤตเลวร้ายอย่างแทบจะพูดได้ว่า “ไม่มีปลา” เหลืออยู่ในแยงซีเกียงซึ่งเป็นแม่น้ำสายยาวถึง 6,300 กิโลเมตร

จากการแถลงของคณะมุขมนตรีจีนระบุว่าการห้ามการประมงเฉพาะฤดูกาลนั้นไม่เพียงพอที่จะฟื้นฟูสภาพแวดล้อมลุ่มน้ำแยงซีเกียง จึงได้ออกกฎห้ามการประมงเชิงพาณิชย์เป็นเวลา 10 ปี ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันพุธที่ 1 ม.ค.2020 โดยการบังคับใช้ในขั้นแรกจะครอบคลุมเขตอนุรักษ์ตามลุ่มน้ำ 332 เขต จากนั้นจะขยายการการบังคับใช้ฯนี้ไปยังลำน้ำสายหลักและแม่น้ำสาขาในเดือนม.ค.ปีหน้า

“แยงซีเกียงเป็นแม่น้ำสายสำคัญของโลกในแง่ของความหลากหลายชีวภาพ อีกทั้งมีความสำคัญในการปกป้องระบบนิเวศวิทยาและฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในอาณาบริเวณ” สำนักข่าวซินหวารายงานโดยอ้างอิงคำกล่าวของอี๋ว์ เจิ้นคัง รองรัฐมนตรีกิจการเขตชนบทและเกษตรกรรม

“การห้ามประมงนี้เป็นมาตรการสำคัญที่จะหยุดความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศแม่น้ำและช่วยปกป้องความหลากหลายชีวภาพ ไม่ให้ลดลงไปกว่านี้” อี๋ว กล่าว

ในเดือนเม.ย.2018 ประธานาธิบดี สี จิ้นผิงได้เตือนว่าสภาพแวดล้อมแยงซีเกียงกำลงเสื่อมโทรม ดัชนีความหลากหลายทางชีวภาพตกต่ำอย่างที่สุด จนอาจกล่าวได้ว่า “ไม่มีปลา” เหลืออยู่แล้ว”

เฉา เหวินเซวียน ผู้เชี่ยวชาญชีวภาพทางแม่น้ำ-ทะเลประจำสถาบันชลวิทยาสังกัดบัณฑิตยสภาแห่งจีน ได้รณรงค์ผลักดันกฎห้ามการประมง 10 ปี ในแม่น้ำมาตั้งแต่ต้นๆปี 2000 โดยชี้ว่าการออกกฎห้ามฯนี้เป็นเรื่องที่จะต้องทำอย่างเร่งด่วนและเป็นความหวังที่จะกอบกู้ฝูงปลาและสัตว์น้ำกลับมา

“เมื่อเราบอกว่าแยงซีเกียงเสื่อมโทรมถึงขั้น “ไม่มีปลา” แล้ว ไม่ได้หมายความว่าไม่มีปลาอาศัยอยู่แม้ตัวเดียว หากหมายถึงว่าสต็อกปลาเหลืออยู่หร็อมแหร็ม และปลาที่จับได้ในตอนนี้ตัวเล็กกว่าเมื่อก่อนมาก”

สำนักข่าวซินหัวเผยว่า ปัญหาระบบนิเวศของแม่น้ำในจีนได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมประมงของประเทศ ในปี 1954 สัตว์น้ำที่จับได้ในแยงซีเกียงแต่ละปีมากถึงราว 427,000 ตัน แต่ไม่กี่ปีมานี้ลดลง ไม่ถึง 100,000 ตัน
ที่น่าตกใจมากคือ นาย หยวน เหวินปิงวัย 49 ปี ผู้อาศัยในอำเภออี๋ว์กัน มณฑลเจียงซี ให้สัมภาษณ์กับสื่อจีน กวงหมิง เดลี่ ว่าในช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 เขาจับปลาตัวโตน้ำหนัก 35 กิโลกรัม ตอนนี้เขาไม่เคยจับได้ปลาที่น้ำหนักมากว่า 5 กิโลกรัม

“สมัยก่อนผมจับปลาปักเป้าได้มากกว่า 20 ตัวในแต่ละวัน แต่ผมไม่เห็นพวกปลาปักเป้ามา 10 ปีได้แล้ว”

โลมาแม่น้ำแยงซีเกียงที่คนไทยเรียกโลมาหัวบาตรหลังราบ และชาวจีนขนานนามว่าเป็น “เทพธิดาแห่งแยงซีเกียง” ถูกขึ้นทำเนียบสัตว์สูญพันธุ์โดยปริยาย (Functionally Extinct) (ไชน่า นิวส์ เซอร์วิส)
หยวนเล่าว่าฝูงปลาในแยงซีเกียงลดลงอย่างรวดเร็วเช่นนี้เพราะชาวประมงใช้อวนแหที่ตาเล็กถี่มาก และใช้วิธีการจับปลาที่ผิดกฎหมาย อย่างเช่น อุปกรณ์ระเบิด หรือใช้ไฟฟ้าช็อต การจับปลามากเกินไปทำให้สภาพแวดล้อมเสื่อมโทรมและสร้างวงจรอุบาท

หน่วยรัฐประเมินว่า ชาวประมงประมาณ 280,000 รายใน 10 มณฑลที่ตั้งอยู่ชายฝั่งแยงซีเกียงจะได้รับผลกระทบจากกฎห้ามฯนี้ เรือประมงที่ขึ้นทะเบียนของพวกเขา รวม 113,000 ลำ จะต้องจอดนิ่งหรือไม่ก็ทำลายทิ้ง รัฐบาลจึงได้จัดสรรงบประมาณสำหรับความช่วยเหลือหางานทดแทน จัดสวัสดิการ และฝึกทักษะอื่นๆ

เจ้าหน้าที่คาดว่ากฎห้ามฯจะไม่กระทบต่อผู้บริโภค เนื่องจากสัตว์น้ำที่จับได้จากแยงซีเกียงในแต่ละปี มีสัดส่วนเพียง 0.32 เปอร์เซ็นต์ ของซัปพลายอาหารทะเลของประเทศ

นายเฉา กล่าวว่าเป้าหมายของกฎห้ามการประมงนี้เพื่อฟื้นชีพสายพันธุ์ปลาในธรรมชาติ และใน 10 ปีข้างหน้าปลาบางสายพันธุ์จะสามารถสร้างชั่วรุ่นใหม่ 2-3 รุ่น

ทั้งนี้ในปี 2003 เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินมาตรการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมและสายพันธุ์ปลาในแยงซีเกียงโดยออกมาตรการห้ามจับปลาประจำฤดูกาลซึ่งกินเวลา 3-4 เดือนในฤดูใบไม้ผลิ แต่มันสั้นเกินไปและไม่เพียงพอที่จะฟื้นชีพเหล่าสัตว์น้ำขึ้นมาได้

“เมื่อสิ้นสุดฤดูห้ามจับปลาในแต่ละปี กองทัพชาวประมงก็กลับมา แต่พวกเขาจับได้เพียงปลาตัวเล็ก บางฝูงมีลำตัวยาวแค่ 10 เซนติเมตรเท่านั้น...และหลายคนก็เอามันไปทอดทำเป็นอาหารสัตว์ มันเป็นความสูญเสียที่ร้ายแรง เป็นหายนะ”


กำลังโหลดความคิดเห็น