"เฉลิมชัย" รับเคลียร์ 11 ข้อ แกนนำประมง 22 จังหวัด เตรียมกลับบ้าน ลุ้น! ข้อยุติค่ำนี้ "นายกฯ"สั่ง ประชุมด่วน! รมว.เกษตรฯ นั่งหัวโต๊ะ "คณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ" รองบฯ63 ผ่าน จ่ายแน่ "ค่าชดเชยเรือประมงออกนอกระบบ" รับข้อเสนอเพิ่มวันทำการประมง อวนลากได้ 30 วัน รับแก้นโยบายให้ติด VMS รอเสนอครม. ตั้งคณะร่วมรัฐและผู้แทนประมง ศึกษาแก้กม. ผ่อนคลายทำประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์ ประสาน "สรรพสามิตร" แก้โครงการจำหน่ายน้ำมันดีเซล พร้อมเจรจา ก.แรงงานแก้ปัญหา
วันนี้(18 ธ.ค.) มีรายงานจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในเวลา 18.00 น.ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ ได้นำผลหารือ ระหว่างนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับสมาคมประมงแห่งประเทศไทยและสมาคมประมง 22 จังหวัดชายทะเล ที่หารือมาตลอด 5 ชม.เข้าที่ประชุม โดยคาดว่าจะมีมติในช่วงค่ำวันนี้
อย่างไรก็ตาม ภายหลังหารือกว่า 5 ชม. นายเฉลิมชัย เปิดเผยว่า การหารือร่วมสามารถหาข้อสรุปได้ในหลายประเด็น ทั้ง 11 ข้อ ได้แก่
การจ่ายค่าชดเชยการนำเรือประมงออกนอกระบบ ทั้งเรือประมงขาว-แดง และเรือของชาวประมงที่ประสงค์จะประกอบอาชีพอื่น ซึ่งตนชี้แจงว่า รัฐบาลตั้งงบประมาณปี 2563 ขณะนี้รอให้ร่างพ.ร.บ. งบประมาณ พ.ศ. 2563 ผ่านก่อนจึงจะจ่ายค่าชดเชยได้
การเพิ่มวันทำการประมงนั้น กรมประมงกำลังรวบรวมวันที่เหลือจากเรือที่ไม่ได้ออกทำประมงระหว่างปีมาออกมาหาค่าเฉลี่ยเพื่อเพิ่มวันทำประมงให้ เบื้องต้นเรื่ออวนลากจะได้เพิ่ม 30 วัน
กรณี เรือทั่วไปจะไม่จำกัดวันทำการประมง การติด VMS ในเรือที่มีอัตราต่ำกว่า 30 ตันกรอสนั้น กรมประมงยืนยันว่า ยังไม่มีนโยบายให้ติด VMS สำหรับเรือที่ติด VMS รุ่นเดิมแล้วให้สามารถใช้ต่อได้เพื่อไม่ให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
"ขณะนี้นำเสนอโครงการเงินกู้เป็นทุนหมุนเวียนแก่ชาวประมงไปยังเลขาธิการครม. แล้วเพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุมครม. พิจารณาต่อไป"
สำหรับ ข้อกังวลของชาวประมงเกี่ยวกับการแก้ไขพ.ร.ก. ประมงนั้น จะตั้งคณะกรรมการร่วมกันระหว่างภาครัฐและผู้แทนชาวประมงเพื่อศึกษาว่า มีข้อใดเป็นอุปสรรคในการประกอบอาชีพและจำเป็นต้องแก้ไข แต่ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามกรอบของการทำประมงที่ปราศจากการกระทำผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน
กรณี "ไร้การควบคุม (IUU)" ยืนยันว่า ขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ และกรมประมงออกกฎหมายที่ผ่อนคลายให้การทำประมงนั้นสะดวกขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งต่อประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์ โดยคณะกรรมการศึกษาจะศึกษาผลกระทบจากกฎหมายปัจจุบันและวางแนวทางแก้ไขให้เสร็จสิ้นใน 45 วัน
ประเด็น "โครงการจำหน่ายน้ำมันดีเซลสำหรับชาวประมงในเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักร" ซึ่งกรมสรรพสามิต จะให้บริษัทจำหน่ายน้ำมันบังคับให้ชาวประมง ต้องจ่ายเงินผ่านบัตรฟรีทการ์ด (Fleet Card) ซึ่งจะทำให้สร้างความเดือดร้อนให้ชาวประมงเพิ่มขึ้น
"ได้ประสานงานกับอธิบดีกรมสรรพสามิตแล้ว ซึ่งได้รับการชี้แจงว่า เป็นเพียงแนวคิด ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ทั้งสิ้น"
ส่วนประเด็นการการจ่ายเงินแก่แรงงานประมงผ่านบัญชีธนาคารและปัญหาการขาดแคลนแรงงานนั้น ทางกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานรับไปพิจารณา
"โดยวันนี้คณะอนุกรรมการแรงงานจะพิจารณา มาตรา 83 จากนั้นจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการแรงงานชุดใหญ่ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเป็นประธานในวันที่ 25 ธันวาคมนี้"
สรุปได้ว่า การหารือในวันนี้เป็นไปด้วยความราบรื่น ขอยืนยันว่า กระทรวงเกษตรฯ ดำเนินการโดยไม่ละเมิดกรอง IUU Fishing
"ทั้งนี้นายกรัฐมนตรี ห่วงใยปัญหาชาวประมงอย่างยิ่ง จึงสั่งการด่วนที่สุดให้ประชุมคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติในเวลา 18.00 น. มอบหมาย รมว. เกษตรฯ เป็นประธาน โดยย้ำให้พิจารณาผ่อนคลายกฎหมาย ประกาศ และระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการทำประมงเพื่อให้ชาวประมงสามารถประกอบอาชีพต่อไปได้” นายเฉลิมชัยกล่าว
มีรายงานว่า ขณะที่ ตัวแทนสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ที่ร่วมหารือแสดงความพึงพอใจในการหารือร่วมกับรมว. เกษตรฯ คาดโดยว่า จะสลายการชุมนุมในค่ำวันนี้
โดย เมื่อช่วงสายที่ผ่านมานายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯ ได้อนุญาติให้ สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย นำโดยนายมงคล เจริญสุขคณา ปธ.สมาคมฯ ที่ชุมนุมอยู่บนบาทวิถี ด้านหน้ากระทรวงคมนาคม (คค.) เข้าหารือ ภายหลัง ยื่น 11 ข้อเรียกร้อง ของสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เมื่อวานนี้( 17 ธ.ค.) ประกอบไปด้วย
1. ขอให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการประมงทั้งหมดหยุดออกกฎหมายกฎระเบียบประกาศคำสั่งต่างๆที่จะส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพของชาวประมงมาเพิ่มเติมขึ้นอีก ยกเว้นการออกกฎ ระเบียบ ประกาศ คำสั่งที่ผ่อนคลายปัญหาให้กับชาวประมง
2.ขอให้มีการเสนอแก้ไขกฎหมาย พ.ร.ก.ประมง พ.ศ.2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยเร่งด่วนในช่วงที่มีการประชุมสภานิติบัญญัตินี้
3.ขอให้รัฐบาลเร่งซื้อเรือประมงออกนอกระบบคืนโดยเร็ว โดยขอให้รัฐบาลมีการตั้งงบประมาณจำนวน 1 หมื่นล้านบาทในปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ในการนำเรือประมงออกนอกระบบ
4.ขอให้รัฐบาลเร่งรัดการช่วยเหลือชาวประมงในโครงการสินเชื่อเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับชาวประมงโดยเร่งด่วนภายในเดือนธันวาคม พ.ศ.2562
5.ขอให้กรมประมง กรมการจัดหางานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการอนุญาตให้ใช้กฎหมายมาตรา 83 แห่ง พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558 ในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานประมงโดยเร่งด่วนภายในเดือนธันวาคม พ.ศ.2562
6.ขอให้ยกเลิก แก้ไข กฎ ระเบียบต่างๆ ที่เป็นปัญหาในทางปฏิบัติของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานที่ส่งผลกระทบให้กับชาวประมงที่เป็นอยู่โดยเร็ว
7.เรือประมงที่มีขนาดไม่เกิน 30 ตันกรอสไม่ควรมีนโยบายให้ติด VMS
8.ขอให้หยุดการนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำจากต่างประเทศโดยทันที ด้วยเหตุผลไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของ พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558 มาตรา 92 ซึ่งการนำเข้าสัตว์น้ำจะต้องมีการตรวจสอบว่าสัตว์น้ำเหล่านั้นได้มาชอบโดยกฎหมายหรือไม่ ตามมาตรา 92 วรรคสองและวรรคสาม) จึงทำให้สินค้าประมงจากต่างประเทศมาถล่มตลาดสินค้าสัตว์น้ำของชาวประมงไทยที่ทำตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดมีต้นทุนสูงกว่า ราคาจึงตกต่ำ ดังนั้นจึงต้องแก้ไขกฎระเบียบกรมประมงเดิมที่อนุญาตให้บุคคลธรรมดาสามารถนำเข้าสัตว์น้ำได้เสรีมีมาตรการปกป้องสินค้าระดับน้ำภายในประเทศ
9.ขอให้พิจารณาเพิ่มวันทำประมงให้กับชาวประมงทั่วประเทศโดยเร่งด่วนเพราะทำให้เกิดปัญหาประกอบอาชีพขาดทุนมา 4-5 ปีแล้ว เนื่องจากมีการกำหนดให้ทำการประมงได้ไม่ทั้งปีแต่ต้องมีรายจ่ายค่าจ้างแรงงานตลอดทั้งปี
10.ขอให้คณะกรรมการกำกับดูแลโครงการจำหน่ายน้ำมันดีเซลสำหรับชาวประมงในเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักรทบทวนแนวทางที่จะบังคับให้บริษัทจำหน่ายน้ำมัน บังคับให้ชาวประมงต้องจ่ายเงินผ่านบัตรฟรีทการ์ด (Fleet Card) ซึ่งจะทำให้สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวประมงเพิ่มขึ้นทันที
11.ขอให้มีการทบทวนผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชาวประมงกรณีที่ถูกบังคับใช้กฎหมายประมงที่ไม่เป็นธรรมโดยตั้งคณะกรรมการพิจารณาผู้ได้รับผลกระทบด้วย.