สวทช. เปิดตัว 3 นักวิจัยแกนนำ ปี 62 พร้อมงบสนับสนุนรวม 50 ล้านบาท แก่นักวิจัยการแพทย์ด้านหัวใจ จาก มช. และนักวิจัยวิศวกรรมก่อสร้าง จาก มธ. และ มทส.
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ประกาศผู้ได้รับเป็นนักวิจัยแกนนำ ประจำปี 2562 เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 62 จำนวน 3 ท่าน ได้แก่ ศาสตราจารย์ (เชี่ยวชาญพิเศษ) ดร.นพ.นิพนธ์ ฉัตรทิพากร นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านสรีวิทยาทางไฟฟ้าและพยาธิสรีรวิทยาของหัวใจ ม.เชียงใหม่ ในงานวิจัยเกี่ยวกับการป้องกันผลกระทบจากเคมีบำบัดต่อหัวใจและสมอง ศ.ดร.สมนึก ตั้งเติมสิริกุล ม.ธรรมศาสตร์ นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านคอนกรีตเทคโนโลยี ในงานวิจัยเกี่ยวกับเทคโนโลยีวัสดุและนวัตกรรมคอนกรีตก่อสร้าง และ ศ.ดร.สุขสันติ์ หอพิบูลสุข ม.เทคโนโลยีสุรนารี นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมถนน ในงานวิจัยที่เกี่ยวกับนวัตกรรมออกแบบถนน เพื่อให้นักวิจัยแกนนำที่มีศักยภาพสูง เกิดการรวมกลุ่มทำวิจัยที่เข้มแข็งในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สร้างสรรค์งานวิจัยใหม่หรือต่อยอดงานวิจัย ที่ส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมและเชื่อมโยงระหว่างภาคความรู้ ภาคการผลิตและบริการ และภาคสังคม พร้อมยกระดับการวิจัยและพัฒนาของประเทศไทย
ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ปรึกษาอาวุโสผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า นักวิจัยมีส่วนสำคัญในการผลิตผลงานวิจัยเพื่อออกมาขับเคลื่อนการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัย และนวัตกรรมของประเทศ นักวิจัยแกนนำ นับเป็นนักวิจัยที่เป็นแกนนำในทุกด้านของการวิจัยและพัฒนา ทั้งแกนนำการวิจัย และแกนนำในการสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ ๆ ซึ่งจะเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในประชาคมวิจัยของประเทศ ท่ามกลางความท้าทายที่หลากหลาย ซึ่งคาดหวังให้ผลงานของนักวิจัยแกนนำ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริงในบริบทที่เกี่ยวข้อง สร้างรากฐานที่เข้มแข็งทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของประเทศ รวมถึงกลุ่มผู้ใช้ประโยชน์จะได้มีการส่งเสริมให้เกิดการใช้งานจากเทคโนโลยี งานวิจัย และนวัตกรรมที่จะเกิดขึ้นจากโครงการของนักวิจัยแกนนำ
ศ.นพ.ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ รักษาการรองผู้อำนวยการ สวทช. และเลขานุการคณะกรรมการด้านการส่งเสริมกลุ่มนักวิจัยแกนนำ กล่าวว่า โครงการนักวิจัยแกนนำ เป็นหนึ่งในกลไกที่ สวทช. เล็งเห็นว่า สามารถสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นในประชาคมวิจัย ซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับนานาชาติ การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จนนำไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน จากการพิจารณาข้อเสนอโครงการวิจัย จำนวน 20 โครงการ ที่ส่งเข้ารับการพิจารณาภายใต้โครงการนักวิจัยแกนนำ ประจำปี 2562 ในปีนี้ คณะกรรมการมีมติเป็นเอกฉันท์สนับสนุนนักวิจัย จำนวน 3 ท่าน เป็นนักวิจัยแกนนำ ประจำปี 2562 ประกอบด้วย นักวิจัยด้านการแพทย์ 1 ท่าน และนักวิจัยด้านวิศวกรรมก่อสร้าง 2 ท่าน โดย สวทช. ให้การสนับสนุนงบประมาณโครงการวิจัยด้านการแพทย์รวม 20 ล้านบาท และสนับสนุนงบประมาณโครงการวิจัยด้านวิศวกรรมก่อสร้างรวม 30 ล้านบาท (โครงการละ 15 ล้านบาท)
"ทั้งสามโครงการจะดำเนินงานในระยะเวลา 5 ปี นับจากนี้ ซึ่งผลงานที่จะเกิดขึ้นภายใต้การดำเนินงานของนักวิจัยแกนนำทั้ง 3 ท่าน จะมุ่งเน้นทั้งงานวิจัยในเชิงคุณภาพ และเชิงปริมาณ เพื่อนำไปสู่การสร้างองค์ความรู้ใหม่ บทความวิชาการ ต้นแบบผลิตภัณฑ์ ต้นแบบเทคโนโลยี และสิทธิบัตร" ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าว
นักวิจัยแกนนำ ประจำปี 2562 จำนวน 3 ท่าน ได้แก่ ศาสตราจารย์ (เชี่ยวชาญพิเศษ) ดร.นพ.นิพนธ์ ฉัตรทิพากร คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จากโครงการวิจัยเรื่อง “การพัฒนาแนวทางการรักษาแบบใหม่ โดยใช้เครื่องมือทางการแพทย์และการใช้ยามุ่งเป้าไปที่ไมโตคอนเดรีย เพื่อป้องกันรักษาภาวะหัวใจล้มเหลวและสมองเสื่อมจากการใช้ยาเคมีบำบัดรักษามะเร็ง” ศ.ดร.สมนึก ตั้งเติมสิริกุล ภาควิชาวิศวกรรมและเทคโนโลยีโยธา สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากโครงการวิจัยเรื่อง “การพัฒนาเทคโนโลยีและมาตรฐานการปฏิบัติงานก่อสร้างอย่างยั่งยืน” และ ศ.ดร.สุขสันติ์ หอพิบูลสุข ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จากโครงการวิจัยเรื่อง “นวัตกรรมการออกแบบถนนเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศอย่างยั่งยืน”
ศาสตราจารย์ (เชี่ยวชาญพิเศษ) ดร.นพ.นิพนธ์ ฉัตรทิพากร (หัวหน้าโครงการ) คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญทางด้านสรีวิทยาทางไฟฟ้าและพยาธิสรีรวิทยาของหัวใจ เปิดเผยถึงโครงการวิจัยว่า เคมีบำบัดถือเป็นกลยุทธ์สำคัญในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ยาเคมีบำบัด ได้แก่ doxorubicin และ trastuzumab จัดเป็นยาที่มีประสิทธิภาพสูงในการฆ่าเซลล์มะเร็ง แต่ผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์คือ การเกิดภาวะความเป็นพิษต่อหัวใจทำให้หัวใจล้มเหลว (chemotherapy-induced cardiotoxicity) และความเป็นพิษต่อระบบประสาทส่วนกลางที่ทำให้การเรียนรู้และความจำเสีย (chemobrain) ผลข้างเคียงจากการใช้ยาเคมีบำบัดเหล่านี้จะยิ่งเพิ่มอันตรายต่อสุขภาพของผู้ป่วย รวมทั้งเพิ่มภาระทางการเงินแก่ผู้ป่วยและครอบครัว ก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจระดับประเทศและระดับโลก
"ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการป้องกันผลเสียต่อหัวใจและสมองที่เกิดจากเคมีบำบัดได้ ดังนั้น การค้นหาวิธีการป้องกันความเป็นพิษต่อหัวใจและสมองซึ่งเกิดจากเคมีบำบัดที่มีประสิทธิภาพสูงจึงเป็นหัวใจสำคัญของข้อเสนอโครงการวิจัยนี้ เพื่อให้เป็นแนวทางใหม่ในการป้องกันผลข้างเคียงที่ร้ายแรงต่อหัวใจและสมองจากการใช้ยาเคมีบำบัด ซึ่งจะช่วยให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยที่ได้รับเคมีบำบัดดีขึ้นในอนาคต โดยเป้าหมายหลักคือ การค้นหาวิธีการป้องกันภาวะความเป็นพิษต่อหัวใจ (cardiotoxicity) และความเป็นพิษต่อระบบประสาทส่วนกลาง (chemobrain) ที่เกิดจากการให้เคมีบำบัด โดยอาศัยเครื่องมือทางการแพทย์ หรือการใช้ยาที่มีผลต่อไมโตคอนเดรีย เพื่อป้องกันความเป็นพิษต่อหัวใจและสมอง โดยจะศึกษาตั้งแต่ในระดับเซลล์ สัตว์ทดลอง จนถึงผู้ป่วยมะเร็งเต้านม เพื่อค้นหาวิธีการป้องกันที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้มั่นใจว่าผลที่ได้จากโครงการจะก่อให้เกิดการป้องกันรักษาแบบใหม่ นำไปสู่การพัฒนาแนวทางรักษาผู้ป่วยต่อไปในอนาคต" ดร.นพ.นิพนธ์ระบุ
ศ.ดร.สมนึก ตั้งเติมสิริกุล (หัวหน้าโครงการ) ภาควิชาวิศวกรรมและเทคโนโลยีโยธา สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านคอนกรีตเทคโนโลยี เปิดเผยถึงโครงการวิจัยว่า การจัดทำมาตรฐานและคู่มือปฏิบัติ โดยอาศัยผลการวิจัยศึกษาในประเทศไทยนับเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยให้มีศักยภาพและมีความสามารถในการแข่งขันได้ โครงการวิจัยนี้มีเป้าหมายในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อใช้ในการก่อสร้างโครงสร้างให้เกิดความยั่งยืน โดยทำการวิจัยพัฒนาใน 4 ด้านหลัก ครอบคลุมขั้นตอนการปฏิบัติงานก่อสร้างอย่างครบวงจรในการให้ได้มาซึ่งโครงสร้างที่ไม่เพียงแค่แข็งแรงแต่ยังมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน คือ
1.การวิเคราะห์โครงสร้างและการออกแบบ 2.วัสดุสำหรับการก่อสร้าง 3. เทคโนโลยีและการบริหารก่อสร้าง และ 4.การบำรุงรักษา โดยมุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดภาระต่อสิ่งแวดล้อม ลดการพึ่งพาแรงงาน และลดปัญหาด้านความปลอดภัยและสุขภาพของผู้ปฏิบัติงานก่อสร้าง รวมถึงการสร้างนวัตกรรม โดยเน้นไปที่โครงสร้างคอนกรีต ซึ่งเป็นโครงสร้างส่วนใหญ่ในประเทศไทยเป็นหลัก เพื่อให้สามารถนำผลงานวิจัยและพัฒนาไปสู่การประยุกต์ใช้งานจริง และการสร้างนวัตกรรม ได้แก่ การแก้ปัญหาและสร้างนวัตกรรมให้กับภาคอุตสาหกรรมและภาคปฏิบัติอื่น ๆ การจัดทำมาตรฐานและคู่มือในการปฏิบัติที่เหมาะสมกับประเทศไทย ตลอดจนผลักดันไปสู่การเป็นมาตรฐานนานาชาติ และการแสดงตัวอย่างการใช้งานจริงและผลักดันให้เกิดการใช้งานจริง สำหรับวัสดุหรือเทคโนโลยีการก่อสร้างใหม่ๆ ที่ได้พัฒนาขึ้น โดยร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม และภาคปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง
สุดท้าย ศ.ดร.สุขสันติ์ หอพิบูลสุข (หัวหน้าโครงการ) ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านนวัตกรรมเพื่อการพัฒนา โครงสร้างพื้นฐานอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมถนน เปิดเผยถึงโครงการวิจัยว่า ด้วยข้อจำกัดด้านปริมาณวัสดุทางธรรมชาติที่ลดลง และปริมาณจราจรที่เพิ่มขึ้น วิศวกรถนนและนักวิจัยทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย ได้พัฒนาวัสดุก่อสร้างถนนทางเลือกที่มีความแข็งแรง ต้นทุนต่ำ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อทดแทนการใช้วัสดุธรรมชาติ แต่วัสดุดังกล่าวไม่สามารถนำมาใช้งานในได้จริงในทางปฏิบัติ เนื่องจากมาตรฐานการออกแบบของประเทศไทยเป็นแบบประสบการณ์ ที่ใช้ได้กับเฉพาะดินเม็ดหยาบธรรมชาติ และจำกัดให้ใช้ค่า California Bearing Ratio (CBR) ซึ่งเป็นผลทดสอบแบบสถิต เป็นตัวแปรในการออกแบบ ซึ่งแตกต่างจากพฤติกรรมการรับน้ำหนักของถนนที่เป็นแบบพลวัต
"วิธีออกแบบเชิงกลศาสตร์-ประสบการณ์ เป็นวิธีการออกแบบที่สามารถตอบโจทย์ปัญหาข้างต้นได้ เนื่องจากใช้คุณสมบัติพื้นฐานทางกลศาสตร์และแบบจำลองเชิงทฤษฎี ในการวิเคราะห์หาหน่วยแรง ความเครียด และการเสียรูปที่เกิดขึ้นในวัสดุโครงสร้างทาง ภายใต้น้ำหนักล้อยานพาหนะที่กระทำแบบพลวัต แล้วจึงนำหน่วยแรงและความเครียดที่คำนวณได้ มาประเมินหาจำนวนเที่ยววิ่งของยานพาหนะที่จะสร้างความเสียหายต่อชั้นทางด้วยแบบจำลอง โครงการวิจัยนี้ เป็นโครงการวิจัยที่ต่อยอดงานวิจัยด้านวัสดุวิศวกรรมถนนของไทยให้สามารถประยุกต์ใช้จริงได้ รวมทั้งพัฒนาแนวทางการออกแบบเชิงกลศาสตร์-ประสบการณ์ ที่มีประสิทธิภาพและเป็นสากลเหมาะสำหรับวัสดุการทางและถนนทุกประเภท" ศ.ดร.สุขสันติ์ระบุ
ทั้งนี้ โครงการนักวิจัยแกนนำ ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา เพื่อสนับสนุนนักวิจัยศักยภาพสูงที่มีความเป็นผู้นำ ให้เกิดการรวมกลุ่มทำวิจัย โดยให้อิสระทางวิชาการพอสมควร ให้สามารถสร้างสรรค์ผลงานวิจัยคุณภาพสูงในหลากหลายรูปแบบ ซึ่งจะเป็นพลังขับเคลื่อนความเจริญก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศต่อไป ปัจจุบันนักวิจัยแกนนำ สวทช. มีจำนวนทั้งสิ้น 18 ท่าน จาก 20 โครงการวิจัย เป็นด้านการแพทย์ 11 ท่าน ด้านเกษตรและอาหาร 2 ท่าน ด้านอุตสาหกรรมการผลิตและบริการ 2 ท่าน และด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม 3 ท่าน นักวิจัยแกนนำและทีมวิจัยได้สร้างความก้าวหน้าทางวิชาการในสาขาที่เชี่ยวชาญ ผลิตผลงานที่มีคุณภาพระดับสูง ในรูปแบบผลงานวิชาการในวารสารระดับนานาชาติ ผลิตภัณฑ์ต้นแบบ สิทธิบัตร รวมถึงได้พัฒนากำลังคนด้านการวิจัยจำนวนมาก ทั้งนักศึกษาระดับปริญญาโท เอก และนักวิจัยหลังปริญญาเอก