xs
xsm
sm
md
lg

ใช้ถุงพลาสติก ลดขยะพลาสติก

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ถุงพลาสติกรีไซเคิล
นอกจากการลดใช้ถุงพลาสติก เพื่อลดขยะพลาสติกแล้ว การไม่ปล่อยให้พลาสติกกลายเป็นขยะด้วยวิธีรีไซเคิลเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ก็เป็นอีกวิธีเพื่อลดขยะพลาสติกได้

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) พร้อมด้วย บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพิ่งประกาศความร่วมมือในการบริหารจัดการขยะพลาสติกจากแหล่งกำเนิดอย่างยั่งยืน โดยไม่ปล่อยให้มีของเสียออกจากกระบวนการผลิต (Zero Plastic Waste in Production Process) เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.62 ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซา

ทั้งนี้ ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทแรกของประเทศไทยที่ได้รับการรับรองอุตสาหกรรมที่ลดการเกิดขยะพลาสติกได้อย่างเบ็ดเสร็จหรือขยะพลาสติกเป็นศูนย์ โดยมีโรงงานที่สร้างขึ้นเพื่อให้เกิดการรีไซเคิลอย่างถูกวิธี มีประสิทธิภาพ โดยเป็นการทำงานแบบปิด (Close Loop) ทำให้ไม่มีขยะพลาสติกที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตออกนอกระบบไปเป็นภาระแก่ชุมชนและสังคม

นายนพดล ปิ่นสุภา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ระบุว่า พลาสติกรีไซเคิลที่ได้มาตรฐานสากลเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก โดยเฉพาะในตลาดยุโรป ซึ่งจำนวนที่ผลิตยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ โดยสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการคือ ความมั่นว่าสินค้าจากพลาสติกรีไซเคิลนั้นมีประสิทธิภาพ มีความทนทาน และปลอดภัย

นายนพดลระบุว่า โรงงานของ IRPC จะเป็นโรงงานแรกที่จะขอรับการประเมินจากการตรวจสอบและให้คำแนะนำทางวิชาการจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมีเป้าหมายผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลที่ได้มาตรฐานสากล ให้ผู้ใช้มีความมั่นใจว่าได้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ ไออาร์พีซียังร่วมกับผู้ประกอบการคู่ค้า 15 ราย ในหลากหลายอุตสาหกรรม เพื่อประกาศเจตนารมย์เดียวกันที่จะทำให้ไม่มีขยะพลาสติกที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตออกนอกระบบ ได้แก่ ผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์รายใหญ่ของไทย ผู้ผลิตและออกแบบของใช้ของแต่งบ้านที่ได้รางวัลมาหลายเวที ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์บรรจุอาหารรายใหญ่ที่ส่งให้ร้านอาหารทั่วประเทศ ผู้ผลิตกระดาษเปียกหรือผ้าสปันบอนด์ (Spunbond) และ ผลิตถุงกระสอบส่งออกทั่วโลก, ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า และ บริษัทด้านพลาสติกคอมปาวด์ (compound plastic)

ทางด้าน บริษัท เอเชียโพลีแซคส์ จำกัด เป็นหนึ่งใน 15 บริษัทคู่ค้าของไออาร์พีซีที่ร่วมประกาศเจตนารมย์เดียวกันที่จะทำให้ไม่มีขยะพลาสติกที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตออกนอกระบบและร่วมแบ่งปันฐานข้อมูล Plastic Waste Platform เพื่อให้ง่ายต่อการจัดการขยะพลาสติก โดยทางบริษัทได้นำของเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตกระสอบบรรจุข้าวสารมารีไซเคิลเป็นเม็ดพลาสติกเพื่อขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยได้ผลิตเป็นถุงพลาสติกสำหรับชอปปิง

ณฤดี ระยามาศ ผู้อำนวยการฝ่ายขาย บริษัท เอเชียโพลีแซคส์ จำกัด อธิบายแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า ปกติในการผลิตกระสอบข้าว จะเหลือเศษเส้นเทปที่ใช้ทอกระสอบและนำไปใช้ต่อไม่ได้ ซึ่งปกติจะขายเป็นขยะพลาสติกกิโลกรัมละ 10 บาท แต่ด้วยราคาที่ถูกมากจึงได้นำเศษเส้นเทปเหล่านั้นมารีไซเคิลกลับเป็นเม็ดพลาสติกเพื่อขึ้นรูปเป็นเส้นเทปสำหรับทอกระเป๋าพลาสติกตามความต้องการของลูกค้า โดยลูกค้าสามารถออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ทางบริษัทตามแบบที่ต้องการได้

ทางด้าน ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้สนับสนุนงานวิจัยภายใต้แผนงานวิจัยท้าทายไทย : ทะเลไทยไร้ขยะ ซึ่งการสนับสนุนครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ซึ่ง วช. ได้นำหลักการ Sharing as Beneficial Principle ซึ่งเป็นมาตรการที่สำคัญในการแก้ปัญหาขยะพลาสติก โดยสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์พัฒนาระบบการรับรอง Zero Plastic Waste สำหรับอุตสาหกรรมพลาสติกขึ้น เพื่อให้การรับรองอุตสาหกรรมที่ลดการเกิดขยะพลาสติกได้อย่างเบ็ดเสร็จหรือขยะพลาสติกเป็นศูนย์

ศ.นพ.สิริฤกษ์ ได้ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า ผู้ใช้พลาสติกรีไซเคิลนั้นต้องการความมั่นใจว่า พลาสติกรีไซเคิลจะมีประสิทธิภาพการใช้งานเหมือนพลาสติก ทั้งการขึ้นรูป ความทนทาน ทนความร้อน รวมถึงเรื่องความปลอดภัย ซึ่งข้อมูลและกระบวนการวิจัยจะตอบโจทย์ตรงนี้ได้ และมีกระบวนการผลิตที่มั่นใจได้ว่ามีการรีไซเคิลจริงตั้งแต่กระบวนการเก็บขยะพลาสติก คัดแยก ผลิตขึ้นรูป นำไปใช้แล้วเก็บกลับมารีไซเคิลใหม่ เป็นการหมุนวนการใช้ทรัพยากรต่อเนื่องไม่เหลือทิ้ง

"ยังต้องมีการวิจัยในเรื่องจำเพาะอื่นๆ เช่น พลาสติกรีไซเคิลที่ใช้กับอาหารนั้นมีความปลอดภัยไหม ก่อให้เกิดภูมิแพ้หรือไม่ ซึ่งความคาดหวังจากโครงการนี้มี 2 อย่าง คือ กระบวนการนี้จะเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม และคาดหวังว่าจะเกิดเศรษฐกิจอุตสาหกรรมที่เกิดการหมุนเวียน ซึ่งเป็นแนวโน้มเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)" ศ.นพ.สิริฤกษกล่าว

ณฤดี ระยามาศ ผู้อำนวยการฝ่ายขาย บริษัท เอเชียโพลีแซคส์ จำกัด

ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล

เส้นเทปสำหรับทอกระสอบข้าว

เม็ดพลาสติกรีไซเคิล


กำลังโหลดความคิดเห็น