xs
xsm
sm
md
lg

ความเท่าเทียมทางเพศในวงการวิทยาศาสตร์

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน


Katherine G. Johnson เมื่อครั้งทำงานเป็นนักฟิสิกส์ที่ NASA
เวลาอ่านประวัตินักวิทยาศาสตร์ เรามักไม่เห็นชื่อของผู้หญิง หรือถ้าเห็นก็แทบไม่รู้ว่า Sophie Germaine หรือ Mary Sommerville หรือ Maria Goeppert-Mayer คือใคร และสำคัญอย่างไร แม้แทบทุกคนจะรู้ว่า Marie Curie ได้รับรางวัลโนเบลเคมี และรางวัลโนเบลฟิสิกส์ แต่หลายคนก็คิดว่า ถ้าไม่มีสามี Pierre Curie ช่วย เธอก็คงเป็นสตรีที่โลกลืมเช่นเดียวกับนักวิทยาศาสตร์สตรีคนอื่นๆ

ทัศนคติที่ว่าวิทยาศาสตร์มิใช่วิชาที่ผู้หญิงจะเรียนได้ (ดี) หรือจะประสบความสำเร็จในอาชีพ มีส่วนทำให้โลกไม่ค่อยมีนักวิทยาศาสตร์สตรีที่เป็นที่ชื่นชมและภูมิใจ

ในหนังสือ Creative Couples in the Sciences ที่ H.M. Pycior, N.G.Slack และ P.G. Abir-Am เป็นบรรณาธิการเล่ม ซึ่งจัดพิมพ์โดย Rutgers University Press ในปี 1996 มีการกล่าวถึงบทบาทของสตรีที่ทำงานวิทยาศาสตร์ โดยได้แต่งงานกับนักวิทยาศาสตร์ชาย และมีบทบาทในการช่วยเสริมคุณภาพการทำงานของสามี จนทำให้เขาประสบความสำเร็จ โดยมีเธออยู่เบื้องหลัง และมีหลายคู่ที่เธอทำงานอยู่ข้างๆ สามี ในขณะที่โลกภายนอกแทบไม่รู้บทบาทของเธอในการทำงานร่วมกับสามีเลย และมักคิดไปว่าเธอเป็นเพียงผู้ช่วยของเขาเท่านั้นเอง

กรณีคลาสสิกของการทำงานร่วมกันและประสบความสำเร็จด้วยกัน คือ Marie กับ Pierre Curie ซึ่งได้ศึกษาธรรมชาติของปรากฏการณ์กัมมันตรังสี และสามี Pierre ได้ให้เครดิตแก่ภรรยา Marie ในการตีพิมพ์ผลงานโดยมีชื่อของเธอเพียงคนเดียวหลายครั้ง

เมื่อถึงยุคของ Irène Curie ซึ่งเป็นบุตรสาวของคนทั้งสองที่ได้เข้าพิธีสมรสกับ Frédéric Joliot ซึ่งเป็นนักฟิสิกส์หนุ่มชาวฝรั่งเศสที่มีความสามารถ คนทั้งสองมีความเก่งพอๆ กัน ความเท่าเทียมกันนี้ทำให้ Irene และ Frederic ได้รับรางวัลโนเบลเคมี ปี 1935 ร่วมกันจากการสร้างสารกัมมันตรังสีประดิษฐ์ (artificial radioactive material) โดยการระดมยิง aluminum ด้วยอนุภาคแอลฟา และพบว่า หลังจากที่ได้หยุดยิงอนุภาคแอลฟาหลายนาทีว่า aluminum ยังปล่อยอนุภาค positron ปฏิอนุภาคของอิเล็กตรอนออกมาเป็นเวลานาน ในการอธิบายเหตุการณ์นี้ สองสามี-ภรรยาได้ชี้แจงว่า นิวเคลียสของ aluminum ได้รับอนุภาคแอลฟาเข้าไป แล้วเปลี่ยนไปเป็นไอโซโทปของ silicon ซึ่งมีครึ่งชีวิตนาน 3.5 นาที และปล่อยอนุภาค positron ออกมา silicon จึงเป็นธาตุกัมมันตรังสีประดิษฐ์

ด้าน Carl กับ Gerty Cori ซึ่งเป็นชีวเคมีทั้งคู่ได้ทำงานร่วมกันตั้งแต่อยู่ในวัยหนุ่ม-สาว และได้อพยพหนีนาซีออกจากประเทศเชคโกสโลวาเกียไปอเมริกาโดยเข้าทำงานที่ New York State Institute for the Study of Malignant Discases แล้วย้ายไปทำวิจัยต่อที่ Washington Medical School โดย Mrs. Cori ยินยอมรับเงินเดือนน้อยกว่า Mr. Cori ผลงานของคนทั้งสองในการพบกลไกการสลายตัวของ glycogen และสังเคราะห์ขึ้นมาใหม่ทำให้ได้รับรางวัลโนเบลสรีรวิทยาและแพทย์ศาสตร์ ปี 1947 ร่วมกันกับ Bernardo Houssay

Karen Uhlenbeck นักคณิตศาสตร์หญิงคนแรกที่ได้รับรางวัลเอเบิลไพร์ซ (Andrea KANE / Norwegian Academy of Science and Letters / AFP)
ย้อนอดีตไปในอดีตกว่านั้นคือคริสต์ศตวรรษที่ 19 การทำงานวิจัยร่วมกันระหว่างสามี-ภรรยาที่ประสบความสำเร็จก็มีให้เห็นได้บ้าง เช่น ภรรยา Elizabeth Gould ซึ่งเป็นภรรยาของนักปักษีวิทยา John Gould โดยเธอได้วาดภาพนกประมาณ 650 สปีชีส์ที่อาศัยในออสเตรเลียเพื่อให้สามีศึกษา จนมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ต่อสังคมวิทยาศาสตร์

ด้าน Anna Comstock ก็ได้ช่วย John Henry Comstock ในการวาดภาพของแมลงนานาสปีชีส์ จนคนอเมริกันรู้จักสองสามีภรรยาดีในฐานะนักกีฏวิทยาที่มีชื่อเสียงพอๆ กัน ส่วน Kate กับ T.S. Brandegree ซึ่งเป็นนักพฤกษศาสตร์ทั้งคู่ที่เชี่ยวชาญเรื่องพืชที่ขึ้นในรัฐ California ได้เริ่มโครงการฉลองการดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ ด้านการเดินด้วยเท้าไกล 800 กิโลเมตรจาก San Diego จนถึง San Francisco และเก็บพืชตัวอย่างไปตลอดทาง เพื่อนำข้อมูลไปเรียบเรียงเป็นตำรา

เหล่านี้คือ ตัวอย่างของสามี-ภรรยาที่ทำงานร่วมกันจนประสบความสำเร็จ และมีชื่อเสียงด้วยกัน ตลอดชีวิตสมรส แต่ก็มีตัวอย่างของสามี-ภรรยาบางคู่ที่เริ่มต้นทำงานด้วยกัน แต่ต้องแยกทางกันเดิน เพราะสามีมีความสามารถมากกว่าภรรยามาก เช่น กรณี Albert Einstein กับ Mileva Maric และ Bertrand Russell กับ Dora Black เป็นต้น



กรณีศึกษาอีกคู่หนึ่งที่น่าสนใจ คือ Esther Lederberg กับ Joshua Lederberg ซึ่งชีวิตสมรสได้ล้มเหลว เพราะเขาได้รับรางวัลโนเบลสรีรวิทยาและแพทยศาสตร์ ปี 1958 แต่เธอไม่ได้ และเธออ้างว่าเธอสมควรได้ด้วย เพราะเขาคิด แต่เธอเป็นคนทำ

Joshua Lederberg เกิดเมื่อปี 1925 ที่ Montclair ในรัฐ New Jersey ประเทศสหรัฐอเมริกา เข้ารับการศึกษาขั้นต้นที่โรงเรียน Stuyvesant High School ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีศิษย์เก่าเป็นนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลถึง 4 คน แล้วได้ไปเรียนต่อด้านแพทยศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย Columbia จากนั้นได้ไปทำวิจัยที่มหาวิทยาลัย Yale และมหาวิทยาลัย Wisconsin ที่ Madison

ณ ที่นั่น Lederberg ได้พบกับ Esther Zimmer ซึ่งในเวลาต่อมาคนทั้งสองได้แต่งงานกัน



Esther Zimmer เกิดเมื่อปี 1922 ที่ New York City ในครอบครัวที่ยากจน พ่อเป็นพนักงานในโรงพิมพ์หนังสือ พี่น้องของเธอต้องไปทำงานที่โรงงานผลิตเสื้อผ้า ในวัยเด็ก Esther ชอบอ่านหนังสือมาก และเรียนเก่งจึงได้ทุนไปเรียนชีวเคมีที่ Hunter College ทั้งๆ ที่ได้รับคำแนะนำจากอาจารย์ว่า วิชานี้ยากเกินไปสำหรับเด็กผู้หญิง แต่เธอก็ไม่ฟัง และพยายามเรียนจนจบ แล้วไปเรียนต่อปริญญาโทด้านพันธุศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย Stanford ระหว่างเรียนเธอเล่าว่า ความยากจนทำให้เธอต้องนำขากบที่ใช้ในการทดลองไปปรุงอาหาร

เมื่อเธอพบ Joshua ซึ่งมีอายุน้อยกว่า 3 ปี คนทั้งสองทำงานเข้ากันได้ดี เพราะ Joshua มักมีความใหม่ๆ ที่สำคัญ และจะมอบให้ Esther ทำหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของความคิดเหล่านั้นในห้องปฏิบัติการ

ในเวลานั้นวงการชีววิทยามีความเชื่อว่า แบคทีเรียไม่มียีน (gene) ไม่มีเพศและไม่มี nucleus แต่ในปี 1946 Joshua Lederberg กับอาจารย์ที่ปรึกษาคือ Edward Tatum ได้แสดงให้เห็นว่า แบคทีเรีย Escherichia Coli มีเพศ มียีน มีนิวเคลียส และมีสารพันธุกรรม จึงเป็นสิ่งมีชีวิตประเภทจุลินทรีย์ที่สืบพันธุ์ได้ และคนทั้งสองยังได้พบอีกว่า ไวรัสที่ทำให้แบคทีเรียติดเชื้อสามารถถ่ายโอนสารพันธุกรรมได้ กระบวนการ transduction ที่มีการถ่ายโอนยีนนี้เป็นเรื่องที่ไม่มีใครรู้มาก่อนว่า สามารถเปลี่ยนสารพันธุกรรมในผู้ให้อาศัย (host) ได้ และสามารถถ่ายทอดไปสู่ลูกหลานได้ การพบ transduction จึงเปิดโลกใหม่ที่แสดงให้เห็นบทบาทของไวรัสในการทำให้เกิดโรค และกระบวนการวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต

ผลงานนี้ทำให้ Lederberg ได้รับรางวัลโนเบลสาขาแพทยศาสตร์และสรีรวิทยาประจำปี 1958 ร่วมกับ George Beadle และ Edward Tatum โดยในเวลานั้น Lederberg มีอายุเพียง 33 ปี

Pierre และ Marie Curie
เมื่อมีชื่อเสียง Joshua Lederberg ก็ได้เป็นบุคคลที่สังคมยอมรับในความสามารถ และได้รับเชิญให้เป็นที่ปรึกษาของ NASA ในโครงการส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์และนำกลับอย่างปลอดภัย ความเชี่ยวชาญเรื่องไวรัสและจุลินทรีย์ทำให้ Joshua เสนอ NASA ให้มีการกักบริเวณสำหรับมนุษย์อวกาศที่เดินทางกลับถึงโลกเป็นระยะเวลาหนึ่ง เพื่อตรวจสอบความปลอดภัยว่าไม่ได้นำเชื้อโรคจากต่างดาวมาแพร่ระบาดบนโลก J. Lederberg เป็นคนคิดคำ exobiology หรือชีววิทยานอกโลกเป็นคนแรก และเป็นบุคคลที่ทำให้ NASA สนใจนำวิชา astrobiology เข้ามาเสริมในโครงการสำรวจอวกาศของอเมริกาด้วย

ในเวลาต่อมา J. Lederberg ได้สนใจการใช้คอมพิวเตอร์ในการวิจัยชีววิทยา และแพทยศาสตร์ เพื่อพัฒนาความรู้ชีววิทยาเชิงระบบและแก้ปัญหาด้านสุขภาพ ด้วยผลงานที่สำคัญเหล่านี้ ทำให้ J. Lederberg ได้รับเหรียญ Presidential Medal of Freedom ในปี 2006 และได้เสียชีวิตเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ ค.ศ.2008

ก่อนจะได้รับรางวัลโนเบลสองปี คือ ในปี 1956 ทั้ง Esther และ Joshua Lederberg เคยได้รับรางวัล Pasteur Prize ของรัฐบาลฝรั่งเศสร่วมกัน และก่อนนั้น 3 ปี Joshua ก็ได้รับรางวัล Eli Lilly เพียงคนเดียวและได้กล่าวเสริมว่า Esther น่าจะได้รับรางวัลนี้ด้วย เพราะเธอได้พบไวรัส lambda phage และพบเทคนิค replica plating ซึ่งได้แผ้วทางให้เกิดวิทยาการสาขาชีววิทยาโมเลกุล และพันธุวิศวกรรมศาสตร์ (genetic engineering)

ในงานเลี้ยงฉลองรางวัลโนเบล Joshua ได้กล่าวถึงบทบาทของ Esther ในการทำให้เขาได้รับรางวัลแต่เพียงสั้นๆ ซึ่งได้ทำให้ Esther รู้สึกเสียใจเสมือนกับว่า เธอเป็นเพียงผู้ช่วยวิจัยของเขาเท่านั้น มิใช่นักวิจัยร่วมที่มีบทบาทพอๆ กัน

ตามปกติ Esther เป็นคนมีน้ำใจ ไม่ชอบการแข่งขัน แต่มีอารมณ์เสียง่าย เมื่อความสัมพันธ์ของคนทั้งสองแย่ลงๆ จึงได้หย่ากันในปี 1966 แล้ว Esther ได้ย้ายที่ทำงานไปสังกัดที่มหาวิทยาลัย Brandeis แล้วแต่งงานใหม่กับ Matthew Simon ซึ่งเป็นคนที่รักเธอมาก การร่วมทุกข์ร่วมสุขกับ Esther ทำให้ Simon รับรู้ความรู้สึกนึกคิดของ Esther ดี เมื่อ Esther เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจ เบาหวาน และไตวาย เขาได้เก็บเอกสารทุกชิ้นที่ Esther เขียนและบันทึก เพื่อรวบรวมสร้าง website ให้เธอ ใน web นั้นมีจดหมาย และรายงานความคิดเห็นของ Esther ในเรื่องต่างๆ เช่นว่า เธอพบอะไรใหม่บ้าง ใครสมควรได้รางวัล และใครไม่สมควรได้ ใครมีบทบาทมากน้อยเพียงใดในการค้นพบ replica plating เป็นต้น

Simon จึงคิดว่าเขาต้องรายงานเรื่องทั้งหมดให้โลกรู้บ้าง ทั้งๆ ที่รู้ว่า การเปลี่ยนประวัติศาสตร์นั้นเป็นเรื่องยาก แต่การพบหลักฐานใหม่ จะทำให้สังคมมีมุมมองใหม่ที่ทำให้มุมมองเดิมสมบูรณ์ขึ้น เพราะ Simon เชื่อในความเท่าเทียม ในความสามารถระหว่างสตรีกับบุรุษ และการได้เห็นปรากฏการณ์ Mathilda กับปรากฏการณ์ Matthew ว่าเกิดขึ้นบ่อยในวงการวิทยาศาสตร์

ปรากฏการณ์ Mathilda เป็นชื่อที่ตั้งโดย Mathilda J. Gage ซึ่งแถลงสั้นๆ ว่า วงการวิจัยวิทยาศาสตร์มีความลำเอียงเรื่องเพศ คือมักไม่ยอมรับความสามารถของเพศหญิง ด้วยเหตุนี้ นักวิทยาศาสตร์หญิงจึงไม่มีคนรู้จักมาก เช่น คนทั้งโลกรู้จัก Francis Crick, James Watson และ Maurice Wilkins ผู้พบโครงสร้างของ DNA และไม่รู้จัก Rosalind Franklin ผู้ถ่ายภาพ DNA โดยใช้เทคนิคการเลี้ยวเบนด้วยรังสีเอ็กซ์ ซึ่งช่วยให้ Crick กับ Watson แปลความหมายของภาพออกมาเป็นโครงสร้างของ DNA ถึงจะไม่มีคนรู้จัก Franklin มาก แต่องค์การอวกาศยุโรป (European Space Agency, ESA) ก็วางแผนจะส่งยานยนต์เคลื่อนที่ได้ไปลงบนดาวอังคาร โดยตั้งชื่อว่า Rosalind Franklin เพื่อเป็นเกียรติแก่เธอ

ในขณะที่รางวัล Abel มีนักคณิตศาสตร์ชายรับรางวัลไปหลายสิบคนแล้ว แต่นักคณิตศาสตร์สตรีชื่อ Karen Uhlenbeck เพิ่งรับรางวัลนี้เป็นคนแรกเมื่อปี 2019 นี้เอง ด้านเหรียญ Fields ก็มีนักคณิตศาสตร์สตรีเพียงคนเดียวที่เข้ารับรางวัล เธอชื่อ Maryam ในปี 2014 และการที่ John Glenn ได้ขึ้นยานอวกาศโคจรไปรอบโลก และกลับโลกได้อย่างปลอดภัย เขาต้องอาศัยผลการคำนวณของนักคณิตศาสตร์สตรีผิวดำชื่อ Katherine Johnson ที่แทบไม่มีใครรู้จักเลย

ส่วนปรากฏการณ์ Matthew มาจากคำสอนของนักบุญ Matthew ในคัมภีร์ไบเบิลที่แถลงว่า คนที่ได้มากก็จะได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่วนคนที่ได้น้อย อยู่ไปๆ ก็จะไม่ได้อะไรเลย คำว่า ได้ และไม่ได้ในที่นี้ หมายถึง ยศถาบรรดาศักดิ์ รางวัลและชื่อเสียง และในความหมายนี้ ผู้หญิงจะโดนมาก แต่ผู้ชายมักจะไม่โดน นั่นคือ Joshua Lederberg จะได้เอาๆ ส่วน Esther Lederberg อยู่ไปๆ จะไม่มีอะไรเหลือให้ได้เลย

ดังนั้น Simon จึงเชื่อว่า ถ้า Esther Ldeerberg เป็นผู้ชาย เธอก็คงจะได้รางวัล Nobel คู่กับสามี (คนแรก)

เราจะไม่รู้เหตุการณ์ความละเอียดอ่อนของการตัดสินใจเรื่องรางวัลนี้จนกระทั่งปี 2108


สุทัศน์ ยกส้าน

ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" จาก "ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน" ได้ทุกวันศุกร์


กำลังโหลดความคิดเห็น