xs
xsm
sm
md
lg

เตาปฏิกรณ์ฟิวชั่นอีก 40% จะเป็นจริง

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน



ขณะนี้การก่อสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิวชั่น (fusion) ในโครงการ ITER (จากคำเต็ม International Thermonuclear Experimental Reactor) ได้รุดหน้าไปประมาณ 60% แล้ว แต่ก็ยังต้องการความสามารถ และความคิดริเริ่มที่หลักแหลมอีกมากจากบรรดานักวิทยาศาสตร์และวิศวกร เพื่อให้ความฝันที่จะทำให้การผลิตพลังงานมหาศาลที่สะอาดเป็นความจริง ก่อนจะถึงปี 2060 โดยได้รับความร่วมมือจากนักวิทยาศาสตร์นานาชาติ 35 ประเทศ เช่น สหรัฐฯ รัสเซีย เกาหลีใต้ จีน ญี่ปุ่น อินเดีย และสหภาพยุโรป (EU) โดยรัฐบาลของบรรดาชาติสมาชิกสนับสนุนด้วยงบประมาณแปดแสนล้านบาท

เตาปฏิกรณ์นี้ถูกสร้างขึ้นบนเนื้อที่ 1,000 ไร่ที่หมู่บ้าน Saint-Paul-lès-Durance ที่อยู่ใกล้เมือง Cadarache ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส และเพื่อให้วิถีชีวิตของชาวบ้านแถบนั้นไม่ได้รับผลกระทบกระเทือนมาก การขนย้ายเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่างๆ ที่อาจจะหนักถึง 23,000 ตัน รวมถึงวัสดุก่อสร้างไปตามถนนที่มีความยาว 104 กิโลเมตรจากท่าเรือบนฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกไปยังสถานที่ตั้งของเตาปฏิกรณ์ จึงต้องกระทำใน เวลากลางคืนขณะผู้คนหลับ และการจราจรไม่คับคั่ง ถ้าทุกสิ่งทุกอย่างดำเนินไปอย่างราบรื่นและเรียบร้อย เตาปฏิกรณ์ฟิวชันที่มีขนาดใหญ่ที่สุด และมีประสิทธิภาพมากที่สุดในโลกก็จะถือกำเนิด แม้ปัจจุบันเตายังสร้างไม่เสร็จ แต่ทางการฝรั่งเศสก็ได้อนุญาตให้ผู้คนเข้าไปเยี่ยมชมดูโครงสร้างภายนอกของเตาได้ สถิติคนเข้าเยี่ยมชมเตาในปี 2018 คือ 14,000 คน

นักฟิสิกส์ได้ให้ความสนใจในเทคโนโลยีพลังงานฟิวชันมาเป็นเวลานานแล้ว ตั้งแต่ที่รู้ว่าดวงอาทิตย์ปล่อยพลังงานความร้อนและพลังงานแสงออกมา โดยใช้กระบวนการหลอมรวมนิวเคลียส (fusion) ที่บริเวณแก่นกลางของดวงอาทิตย์ ซึ่งมีอุณหภูมิสูงถึง 100 ล้านองศาเซลเซียส และมีพลังงานส่วนหนึ่งที่มีค่าน้อยนิดได้เดินทางมาถึงโลก ซึ่งอยู่ห่างออกไป 150 ล้านกิโลเมตร แต่ก็มากเพียงพอให้สิ่งมีชีวิตบนโลกสามารถดำรงชีพได้

ดังนั้นนักฟิสิกส์จึงตั้งเป้าว่าจะต้องทำให้ปฏิกิริยาฟิวชันบนดวงอาทิตย์ให้เกิดขึ้นบนโลกบ้าง และสามารถทำได้สำเร็จเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ.1952 เพราะในวันนั้นสหรัฐฯ ได้ทิ้งระเบิดไฮโดรเจนเหนือเกาะ Eniwetok ในหมู่เกาะ Marshall ของมหาสมุทรแปซิฟิก ความสำเร็จครั้งนั้นทำให้นักฟิสิกส์รู้ว่า ในการจะทำให้เกิดปฏิกิริยา fusion ได้ จำเป็นต้องใช้พลังงานที่มากมหาศาลเพื่อดำเนินการเบื้องต้น หรืออาจกล่าวสั้นๆ ได้ว่าในการสร้างระเบิดไฮโดรเจน เราจำเป็นต้องใช้ระเบิดปรมาณูเพื่อจุดชนวน และองค์ความรู้ประการที่สองคือ เมื่อระเบิดไฮโดรเจนจะสำแดงฤทธิ์แล้วไม่มีเทคโนโลยีใดที่จะทำให้มันหยุดได้ การคำนวณความคุ้มค่าในการสร้างพลังงาน ได้พบว่า ถ้าใช้เชื้อเพลิงฟิวชันที่มีมวล 1 กิโลกรัม จะได้พลังงานความร้อนมากเท่ากับพลังงานที่ได้จากถ่านหิน 10,000 ตัน และองค์ความรู้ที่น่ายินดีที่สุด คือ พลังงานฟิวชันเป็นพลังงานสะอาด ที่ไม่ทำให้เกิดเขม่า ควัน และฝุ่นกัมมันตรังสี เป็นมลสสารเหมือนการได้พลังงานจากถ่านหิน พลังงานปรมาณู และพลังงานฟอสซิลอื่นๆ นอกจากนี้เชื้อเพลิงที่ใช้ในปฏิกิริยาฟิวชันก็สามารถให้พลังงานแก่มนุษย์ได้ยืนนานเป็นล้านปี เพราะถ้าใช้ไอโซโทปของไฮโดรเจนอันได้แก่ deuterium กับ tritium (21H กับ 31H ) ที่โลกมีเช่น deuterium มีอย่างอุดมสมบูรณ์ในน้ำทะเล และนักวิทยาศาสตร์สามารถสร้าง tritium ได้ไม่ยาก โดยการยิงนิวตรอนเข้าทำปฏิกิริยากับ lithium ดังสมการ 10n + 73Li ---> 42He + 31H+10n แล้ว 10n ที่เกิดใหม่เข้าทำปฏิกิริยากับ 63Li ดังปฏิกิริยา 10n+63Li ---> 42He + 31H+พลังงาน เมื่อ “เชื้อเพลิง” ที่นักวิทยาศาสตร์ต้องการใช้เป็นทั้งสองไอโซโทปนี้ เราจึงเห็นได้ว่า ปฏิกิริยาฟิวชันจะเกิดและสามารถดำเนินการผลิตพลังงานได้อย่างไม่มีวันสิ้นสุด นั่นคือเมื่อน้ำทะเลหมดโลก

ทุกวันนี้นักฟิสิกส์ได้เห็นการเกิดปฏิกิริยาฟิวชันในอุปกรณ์ tokamak และ stellarator แล้ว แต่ภายในช่วงเวลาที่สั้นมาก จึงยังไม่สามารถนำพลังงานไปใช้งานได้ นอกจากนี้พลังงานที่เครื่องปล่อยออกมาก็มีค่าน้อยกว่าพลังงานที่เราป้อนเข้าไปหลายหมื่นเท่า ทุกคนจึงคาดหวังว่า ITER จะเป็นโรงไฟฟ้าที่ให้พลังงานได้ประมาณ 10 เท่าของพลังงานที่อุปกรณ์ได้รับ จากนั้นในขั้นตอนต่อไปของโครงการ คือ จะมีการพัฒนา อุปกรณ์ต้นแบบ prototype ขึ้น และพัฒนาต่อจนสามารถผลิตพลังงานได้ในระดับอุตสาหกรรม

ในการเข้าใจสาเหตุการเกิดปฏิกิริยาฟิวชันนั้น แม้จะมีนิวเคลียสของ deuterium (1 โปรตอน และ 1 นิวตรอน) กับ tritium (1 โปรตอน 2 นิวตรอน) การหลอมรวมระหว่างนิวเคลียสทั้งสองก็ไม่สามารถเกิดได้ในทันที เพราะนิวเคลียสของทั้งสองธาตุต่างก็มีโปรตอน ที่มีประจุบวก และนิวตรอนที่เป็นกลาง ดังนั้น แรงไฟฟ้าระหว่างประจุบวกจะผลักกัน แต่ถ้าเราสามารถนำนิวเคลียสทั้งสองให้เข้าใกล้กันได้จนกระทั่งอยู่ห่างกันประมาณ 10-13 เมตร (คือเกือบติดกัน) แรงนิวเคลียร์ระหว่างโปรตอนจะเริ่มทำงาน และจะดึงดูดนิวเคลียสทั้งสองให้หลอมรวมกัน ซึ่งเหตุการณ์หลอมรวมนี้จะเกิดขึ้นที่อุณหภูมิสูงถึง 150 ล้านองศาเซลเซียส คือ สูงประมาณ 10 เท่าของอุณหภูมิที่ใจกลางดวงอาทิตย์ นอกจากนี้สาเหตุที่ทำให้ปฏิกิริยาฟิวชันเกิดบนดวงอาทิตย์ได้ คือที่แก่นกลางของดวงอาทิตย์มีความดันมากเป็นล้านเท่าของบรรยากาศโลก ณ วันนี้อุปกรณ์ tokamak หรือ stellarator ที่นักฟิสิกส์ใช้ยังไม่สามารถสร้างความดันระดับนี้ได้

ดังนั้นขั้นตอนแรกของการสร้างปฏิกิริยาฟิวชันคือยิงธาตุ deuterium และ tritium เข้าไปในห้องทดลองที่เป็นสุญญากาศ แล้วใช้สนามไฟฟ้าที่มีความเข้มสูง แยกอิเล็กตรอนออกจากนิวเคลียสของอะตอมของธาตุทั้งสองชนิด ทำให้ได้เหล่าประจุลบของอิเล็กตรอน และเหล่าประจุบวก (ion) ของนิวเคลียสปะปนกันซึ่งเรียกพลาสมา (plasma) และถ้าพลาสมาที่ร้อนมากนี้ ลอยไปสัมผัสผนังของ tokamak ทั้งประจุลบของอิเล็กตรอนและประจุบวกของไออนก็จะจับคู่กับประจุตรงกันข้ามที่มีในผนังของ tokamak ทำให้ได้อะตอมของแก๊ส deuterium และ tritium เหมือนเดิม และปฏิกิริยาฟิวชันก็จะหยุดทำงาน

ด้วยเหตุนี้นักทดลองจึงต้องหาวิธีสร้างสนามแม่เหล็กที่มีความเข้มสูงมาก เพื่อกักประจุทั้งหลายไม่ให้ลอยไปกระทบผนังภาชนะ จากนั้นก็จะปล่อยคลื่นไมโครเวฟเข้าไปเพื่อทำให้พลาสมาร้อนจัด จนปฏิกิริยาฟิวชันเกิด ซึ่งจะให้ฮีเลียมกับนิวตรอนและพลังงาน ตามสมการ
21H + 31H ---> 42He + 10n + 17.6 MeV
(MeV คือ ล้านอิเล็กตรอนโวลท์)
อันเป็นพลังงานที่มากกว่าพลังงานเริ่มต้นที่มีธาตุ deuterium กับ tritium ครั้นเมื่อปฏิกิริยา fusion เกิดขึ้นแล้ว นักทดลองก็ต้องป้อน deuterium และ tritium เข้าไปใหม่เพื่อทำให้ได้พลังงานฟิวชันดำเนินต่อไป สำหรับอนุภาคนิวตรอนที่เกิดขึ้น จะหนีออกจากสนามแม่เหล็กเพราะไม่มีประจุ ไปกระทบผนังภาชนะ และจะคายพลังงานที่มีให้แก่ผนังภาชนะ tokamak ทำให้ผนังมีอุณหภูมิสูงขึ้นๆ เพราะได้รับพลังงานความร้อนที่เกิดขึ้น ซึ่งถ้าสามารถนำพลังงานนี้ไปให้น้ำ น้ำก็จะร้อนขึ้นๆ ทำให้เกิดไอน้ำไปขับเคลื่อนใบพัดของเครื่องยนต์เทอร์ไบน์ ทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าที่สามารถนำไปใช้ได้

ตามกำหนดการที่ได้วางแผนไว้ เมื่ออุปกรณ์ ITER อยู่ในสภาพสมบูรณ์พร้อม 100% เจ้าหน้าที่จะทดสอบการทำงานของเตาฟิวชันอย่างระมัดระวัง ก่อนจะเดินเครื่องจักรเต็มกำลัง โดยอุปกรณ์ tokamak จะได้รับกำลัง 50 MW (megawatt) และจะให้พลังงานฟิวชัน 500 MW เป็นเวลานาน 400-600 วินาที (สถิติการ gain ของอุปกรณ์ฟิวชันปัจจุบันอยู่ที่ 0.67 เพราะให้พลังงาน 16 MW จากพลังงานที่รับมา 24 MW

กรอบเวลาของการดำเนินการของ ITER จึงเป็นดังนี้

ในปี 2025 จะมีการทดสอบการทำงานของ plasma ใน tokamak ทีละขั้นตอน โดยเพิ่มอุณหภูมิ ความดัน สนามแม่เหล็กและคลื่นไมโครเวฟจนถึงปี 2035 เมื่อทุกอย่างได้รับการพิสูจน์ว่า อุปกรณ์ทำงานได้อย่างปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ ในปี 2040 จะมีการสร้างอุปกรณ์ต้นแบบ (prototype) ชื่อ DEMO เพื่อจ่ายไฟให้แก่ grid ต่างๆ ในประเทศฝรั่งเศส และในปี 2060 คือ อีก 40 ปีจากนี้ไป (เราหลายคนคงไม่ตระหนักว่า เมื่อครั้งที่มีการพบบ่อน้ำมันเป็นครั้งแรกนั้น โลกต้องใช้เวลานานร่วมศตวรรษในการติดตั้งอุตสาหกรรมน้ำมัน ทั้งๆ ที่ เทคโนโลยีน้ำมันสร้างไม่ยาก และมีราคาถูกกว่าเทคโนโลยีฟิวชันหลายล้านเท่า)

ที่ตั้งของเตาปฏิกรณ์ ITER ที่หมู่บ้าน Saint-Paul-l?s-Durance ที่อยู่ใกล้เมือง Cadarache ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส  (https://www.iter.org/)
โครงการ ITER เป็นโครงการนานาชาติที่มีหลายประเทศเข้าร่วม แม้จะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการประยุกต์วิทยาศาสตร์ เพื่อสร้างพลังงานรูปแบบใหม่ กระนั้นการพัฒนาโครงการนี้ก็จำเป็นต้องใช้ความรู้ฟิสิกส์มาก รวมทั้งการต้องรู้วิธีป้องกันภัยพิบัตินิวเคลียร์ที่อาจจะเกิดขึ้นขณะเครื่องทำงานด้วย เพราะวัสดุทั้งหลายที่ใช้ในการสร้างปฏิกิริยาฟิวชันจะกลายเป็นวัสดุกัมมันตรังสี หลังจากที่ได้รับอนุภาคนิวตรอนเป็นจำนวนมากและติดต่อกันเป็นเวลานาน ดังนั้นการทำลายพิษภัยของกากกัมมันตรังสีจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องทำในเวลาเดียวกันด้วย และได้พบว่าสามารถกำจัดได้ง่ายกว่ากากนิวเคลียร์ที่เกิดจากปฏิกิริยา fission

นอกจากจะมีปัญหาในการหาเชื้อเพลิงที่เหมาะสมแล้ว การค้นหาวัสดุที่เหมาะสมในการใช้ควบคุมและกำกับปฏิกิริยาฟิวชันก็เป็นปัญหาใหญ่มากเช่นกัน เพราะวัสดุที่ใช้ทำห้องปฏิบัติการฟิวชันจะต้องมีผนังที่สามารถเปลี่ยนพลังงานจลน์ของนิวตรอนที่มาตกกระทบเป็นพลังงานความร้อนได้อย่างดีเยี่ยม เมื่อผนังไม่ร้อนมาก ผนังก็ไม่ละลาย นอกจากนี้การเกิดอันตรกิริยาระหว่างนิวตรอนกับผนังก็จะทำให้ผนังของ tokamak เสื่อมจนอะตอมของธาตุที่ใช้ในการทำผนังกระเด็นหลุดจากผนัง กลายเป็นสารเจือเข้าไปปนอยู่ในพลาสมา คือเป็นอะตอมแปลกปลอมที่สามารถหยุดปฏิกิริยาฟิวชันมิให้ดำเนินต่อไปได้ การระวังภัยประเด็นนี้จึงเป็นเรื่องที่ต้องทำตลอดเวลา

อนึ่งในการทดสอบวัสดุที่ใช้ทำผนังห้องปฏิกิริยาฟิวชันนั้น นักวัสดุศาสตร์ได้พบว่า ใยคาร์บอนเป็นวัสดุที่ดี เพราะเวลาคาร์บอนทำปฏิกิริยากับ tritium จะได้ผงฝุ่นที่สามารถกำจัดออกได้ แต่ก็มีผลการทดลองในห้องปฏิบัติการบางแห่งที่แสดงให้เห็นว่า ธาตุ beryllium และ tungsten ก็มีประสิทธิภาพมาก โดยเฉพาะ beryllium นอกจากจะมีสมบัติการนำความร้อนได้ดีแล้ว ยังไม่ดูดซับ tritium ด้วย ด้าน tungsten ก็เป็นธาตุที่มีจุดหลอมเหลวสูงที่สุดในบรรดาโลหะทุกชนิด จึงไม่หลอมละลายง่าย เวลามีพลาสมาร้อนมาตกกระทบ แต่นักทดลองก็ต้องระมัดระวัง เพราะ tungsten เป็นธาตุที่เปราะ ดังนั้นจึงต้องเจือด้วยสารชนิดอื่นเพื่อเพิ่มความแกร่ง

เพราะการกักเก็บ plasma จำเป็นต้องใช้สนามแม่เหล็กที่มีความเข้มสูงมาก (ประมาณ 13 tesla) ดังนั้นโครงการ ITER จึงต้องพัฒนาระบบแม่เหล็กเพื่อตอบสนองความต้องการนี้ และแม่เหล็กที่ใช้จึงเป็นวัสดุที่สามารถเป็นตัวนำยวดยิ่งได้ที่อุณหภูมิต่ำกว่า -269 องศาเซลเซียส และพบว่าต้องใช้ลวดที่ทำด้วย niobium-tin (Nb3Sn) ที่หนัก 400 ตันและยาวประมาณ 100,000 กิโลเมตร (สองเท่าของความยาวเส้นรอบโลก) ซึ่งจะถูกนำมาพันรอบท่อรูปโดนัท 18 ท่อ โดยท่อโดนัทแต่ละท่อจะหนัก 360 ตัน สูง 17 เมตร และกว้าง 9 เมตร เพื่อสร้างสนามแม่เหล็กให้มีความเข้มตามที่ต้องการ

โครงการ ITER จึงเป็นโครงการระดับซูเปอร์ไฮเทคที่มีความซับซ้อนและมโหฬารจึงต้องอาศัยความสามารถระดับไฮเปอร์ของทุกคน ดังนั้นจึงต้องได้รับความร่วมมือจากนักวิจัยทั้งจากหลายมหาวิทยาลัย และจากวงการอุตสาหกรรม เพื่อทำงานด้านนวัตกรรมและด้านพัฒนาเทคโนโลยีเดิมเพื่อพลังงาน fusion จะได้เป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ

ดังนั้นบรรดาประเทศสมาชิกทั้ง 35 ประเทศจึงรับชิ้นงานแต่ละส่วนไปสร้างและพัฒนา เพื่อให้โครงการ ITER ลุล่วงอย่างดีที่สุด และพบว่าต้องใช้บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญหลายสาขา เช่น ด้านสุญญากาศ ด้านแม่เหล็ก และด้านการถ่ายเทความร้อน เช่น นักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่นรับงานสร้างสนามแม่เหล็ก และนักวิทยาศาสตร์เกาหลีใต้รับงานสร้างห้องสุญญากาศที่หนัก 440 ตัน เป็นต้น

ข้อโต้แย้งที่นักวิทยาศาสตร์หลายคนคิดว่าเป็นจุดด้อยของโครงการ คือ อนุภาคนิวตรอนที่เกิดจากปฏิกิริยาฟิวชันอาจทำลายผนังของวัสดุที่นำมาทำเตา เพราะมันทำให้เตาเสื่อมคุณภาพเร็ว คือไม่นานพอจะใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าได้เป็นเวลานาน เมื่อผนังถูกเหนี่ยวนำให้เป็นวัสดุกัมมันตรังสี นอกจากนี้แท่งแม่เหล็กตัวนำยวดยิ่งก็เช่นกัน ถ้าได้รับกระแสนิวตรอนมากมันก็จะเสื่อมคุณภาพ ดังนั้น การวิจัยเพื่อลดภัยอันตรายนี้ จึงต้องมีการจัดการให้เรียบร้อยก่อนเครื่อง ITER จะเริ่มทำงานได้จริง

ด้านองค์การเอกชนต่างๆ ที่ต่อต้านการสร้างเตาปฏิกรณ์ฟิวชันก็มักอ้างว่านักวิทยาศาสตร์ในโครงการ ITER ยังไม่มีความรู้ และความสามารถเพียงพอในการจัดการกากนิวเคลียร์ และเมื่อค่าก่อสร้าง ITER ได้เพิ่มตลอดเวลาจาก 175,000 ล้านบาทเป็น 800,000 ล้านบาท และจะเพิ่มอีก หลายคนจึงคิดว่า ITER เป็นของเล่นราคาแพงของนักวิทยาศาสตร์ และการทำงานยังไม่น่าไว้ใจว่าจะมีประสิทธิภาพดังที่กล่าวอ้าง ดังนั้นรัฐบาลน่าจะทุ่มเงินไปวิจัยพลังงานทางเลือกรูปแบบอื่นจะดีกว่าและคุ้มค่ากว่า

ในการตอบต่อข้อโต้แย้งเหล่านี้ โฆษกโครงการ ITER ได้อ้างว่า คำวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ เกิดจากการเข้าใจผิด เช่นเรื่องกากกัมมันตรังสี เพราะ ITER จะสร้างกากกัมมันตรังสีน้อยกว่าโครงการ fission ประมาณ 100 เท่า และกากเหล่านี้มีอายุสั้น คือนานไม่ถึงปี การควบคุมการระเบิดของเตาฟิวชันก็ดีกว่าเตาฟิชชันมาก และถ้าเมื่อใดที่มีสารเจือในพลาสมา แม้แต่เพียงเล็กน้อย เตาก็จะหยุดทำงานทันที หรือเวลาเตา fusion ถูกผู้ก่อการร้ายลอบเข้ามาวางระเบิด มลสสารที่เป็นกากกัมมันตรังสีก็จะน้อยกว่ามลภาวะในอากาศ อันได้แก่ CO2, SO2, NO และ NO2 ที่เกิดจากเตา fission และท้ายที่สุด เตา fusion ไม่สามารถให้นักวิทยาศาสตร์ของชาติใดนำไปพัฒนาจนสามารถผลิตระเบิดไฮโดรเจนได้

ยิ่งไปกว่านั้น อุปกรณ์ tokamak ที่ใช้ในโครงการ ITER ขณะนี้ ก็ได้รับการพิสูจน์และทดสอบแล้วว่า สามารถกักเก็บ plasma ได้ และกำลังได้รับการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และท้ายที่สุดฝ่ายที่สนับสนุนโครงการ ITER ก็อ้างว่า การใช้พลังงานทางเลือกอื่น เช่น แสงอาทิตย์ ลม และน้ำ ยังให้พลังงานน้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับพลังงานไฟฟ้าที่จะได้จาก fusion

อ่านเพิ่มเติมจาก Sun in a Bottle: The Strange History of Fusion and the Science of Wishful Thinking โดย Charles Sife จัดพิมพ์โดย Viking ปี 2008


สุทัศน์ ยกส้าน

ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" จาก "ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน" ได้ทุกวันศุกร์


กำลังโหลดความคิดเห็น