เอเอฟพี – หน่วยงานรัฐบาลญี่ปุ่นเสนอปล่อยน้ำกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะลงสู่ธรรมชาติ เนื่องจากพื้นที่กักเก็บไม่เพียงพอ
โรงงานแห่งนี้ประสบปัญหาการรั่วไหลเมื่อประมาณ 9 ปีที่แล้วหลังจากมันถูกโจมตีโดยคลื่นสึนามิที่เกิดจากแผ่นดินไหว ทำให้เกิดน้ำปนเปื้อนประมาณหนึ่งล้านตันและแท้งค์ที่เก็บมันไว้ใกล้จะเต็มแล้ว
ในวันจันทร์ (23) สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและพลังงานของรัฐบาลเสนอ 3 วิธีการจัดการกับน้ำเหล่านี้ ได้แก่ การปล่อยลงสู่ทะเล การปล่อยลงสู่อากาศด้วยการทำให้เป็นไอ หรือการใช้ทั้งสองวิธี
“ไม่มีทางที่จะเก็บน้ำเหล่านี้เป็นเวลานานได้อีกต่อไปแล้ว” เจ้าหน้าที่หน่วยงาน บอกเอเอฟพีในวันอังคาร (24)
ระบบสูบและกรองน้ำขนาดใหญ่ถูกติดตั้งที่โรงงานนี้อยู่แล้ว ซึ่งในแต่ละวันสามารถสูบน้ำปนปื้อนหลายตันและกรองเอาสารกัมมันตรังสีออกมาได้เกือบทั้งหมด
กระบวนการดังกล่าวจะทำให้เหลือแต่ไอโซโทปกัมมันตรังสี ซึ่งผู้เชี่ยวชาญหลายคนกล่าวว่าจะเป็นอันตรายต่อมนุษย์เมื่อสัมผัสใสปริมาณมากจริงๆ เท่านั้น
ยังไม่มีการตัดสินใจในการประชุมเมื่อวันจันทร์ (23) แต่ “ไม่มีสมาชิกคนไหนคัดค้านมุมมองที่ว่าวิธีปฏิบัติจริงในทางเทคนิคคือการปล่อยน้ำลงสู่ทะเลหรืออากาศ” อ้างจากเจ้าหน้าที่หน่วยงานนี้
หน่วยงานนี้หารือถึงวิธีการปล่อยน้ำเหล่านี้ออกไปมานานหลายปีและไม่มีการกำหนดเส้นตายที่จะต้องส่งรายงานถึงรัฐบาล
น้ำกัมมันตรังสีมาจากหลายแหล่งที่มา รวมถึงน้ำที่ใช้เพื่อการหล่อเย็นที่น้ำใต้ดินโรงงานที่ซึมเข้าสู่โรงงานทุกวันและน้ำฝน
น้ำฟุกุชิมะที่ผ่านการกรองอย่างถูกต้องอาจถูกเจือจางด้วยน้ำทะเลและถูกปล่อยลงสู่มหาสมุทรโดยไม่สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อม องค์การพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency) อธิบาย
อย่างไรก็ตาม การปล่อยมันลงสู่ธรรมชาติอาจทำให้เกิดการประท้วง ไม่ใช่แต่จากชาวประมงและเกษตรกรท้องถิ่น แต่จากประเทศเพื่อนบ้านด้วย
ตอนนี้น้ำปรับคุณภาพถูกเก็บอยู่ในแท้งค์ขนาดใหญ่หลายพันใบที่โรงไฟฟ้าฟุกุชิมะไดอิชิ ผู้จัดการโรงงาน บริษัท TEPCO กำลังสร้างแท้งค์เพิ่มเติม แต่แท้งทั้งหมดจะเต็มภายในช่วงฤดูร้อนปี 2022