xs
xsm
sm
md
lg

F. Willughby: นักปักษีวิทยาคนแรกของโลก

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน


ภาพเหมือน Francis Willughby โดย Gerard Soest
โลกระลึกถึง Francis Willughby ในฐานะนักชีววิทยาคนแรก ที่ได้บุกเบิกการจำแนกจัดแบ่งชนิดของนก แต่สาเหตุสำคัญที่ทำให้คนปัจจุบันไม่รู้จัก Willughby เพราะเขาได้เสียชีวิตไปเมื่อมีวัยเพียง 36 ปี

หนังสือ “The Wonderful Mr. Willughby: The First True Ornithologist” ที่เรียบเรียงโดย Tim Birkhead และจัดพิมพ์โดย Bloombury ในปี 2018 ได้กล่าวถึงนักธรรมชาติวิทยาคนนี้ว่านอกจากจะสนใจเรื่องนกแล้ว เขายังรอบรู้เรื่องแมลง ปลา พฤกษศาสตร์ ภาษาศาสตร์ สถิติ อีกทั้งมีพรสวรรค์ในการทำงานร่วมกับนักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ ได้ดีด้วย เช่น John Ray และ Rene Reaumur เพื่อแสวงหาความรู้ชีววิทยา

Willughby เกิดเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน ค.ศ.1635 (ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง) ที่เมือง Middleton ในมณฑล Warwickshire ของประเทศอังกฤษ การเกิดในครอบครัวที่มีฐานะมั่นคง ทำให้ Willughby ได้รับการศึกษาดีจาก Trinity College แห่งมหาวิทยาลัย Cambridge

เมื่อสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี Willughby ได้ไปทำงานร่วมกับอาจารย์ John Ray ที่เคยสอนตน และเริ่มปฏิรูปการวิจัยสัตว์วิทยาว่าต้องอาศัยการสังเกตอย่างละเอียด แล้วจำแนกแบ่งกลุ่มตามตามสิ่งต่างๆ ที่เห็น หลังจากที่ได้ศึกษางานของ Galileo Galilei, Francis Galton และ Rene Descartes อย่างรอบคอบ Willughby ก็มีข้อมูลชีววิทยาของสัตว์ในยุคนั้นค่อนข้างมาก จึงปฏิเสธไม่เชื่อคำสอนของ Aristotle อีกทั้งไม่ยอมรับถ้อยคำที่อยู่ในคัมภีร์ไบเบิลว่าคือความจริง จากนั้นได้ออกเดินทางกับอาจารย์ Ray และเพื่อนๆ ไปเก็บข้อมูลชีววิทยาในยุโรป โดยเริ่มต้นที่อังกฤษและเวลส์ก่อน แล้วตระเวนไปยุโรป เพื่อเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ในมหาวิทยาลัยต่างๆ และห้องสมุดที่มีชื่อเสียง เพราะสถานที่ดังกล่าวได้เก็บสะสมพืชและสัตว์ตัวอย่างเป็นจำนวนมาก เช่น หางช้าง กะโหลกศีรษะของคนยุคก่อนประวัติศาสตร์ และนกนานาชนิด เป็นต้น

ตามปกติ Willughby เป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ ดังนั้นเมื่อมี Ray เป็นคนคอยกระตุ้น Willughby ให้สนใจสิ่งต่างๆ ที่เป็นวิทยาศาสตร์และสัตวศาสตร์ เขาก็จะมีความผูกพันทันที เช่น เมื่อ Willughby ได้เห็นหนอนมีขั้นตอนในการเปลี่ยนรูปร่างเป็นผีเสื้อเป็นครั้งแรก เขาก็ตกหลุมรักแมลงตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

เมื่อ Willughby มีอายุ 25 ปี เขากับ Ray ได้เริ่มสนใจเคมี หลังจากได้พบว่า Robert Boyle ได้พัฒนาวิทยาการเล่นแร่แปรธาตุที่ผู้คนยุคกลางได้พยายามแปรธาตุที่ไม่มีค่าให้เป็นทองคำ โดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ อีก 2 ปีต่อมา คนทั้งสองก็ได้ตั้งเป้าหมายสูงสุดในการทำงานร่วมกันว่าจะพยายามสังเกต ศึกษา และจำแนกสิ่งมีชีวิตทุกชนิด เพราะรู้สึกว่าตำราที่มีในสมัยนั้น ให้ข้อมูลและเรียกชื่อสิ่งต่างๆ อย่างสับสนและมั่วไปหมด เช่น ตำรา History of Animals ของนักธรรมชาติวิทยาชาวสวิสชื่อ Conrad Geisner ได้นำความรู้โบราณ (ถูกบ้าง ผิดบ้าง) มาเขียนบรรยายสิ่งที่เห็นอย่างหยาบๆ Ray กับ Willughby จึงกำหนดเกณฑ์การจำแนกในรูปแบบใหม่ว่า ต้องใช้ข้อมูลสรีรวิทยาที่ถูกต้อง เพื่อจัดแบ่ง และจำแนกชนิดของสิ่งมีชีวิตที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน เป็นพวก เป็นเหล่า ตามลักษณะและความสัมพันธ์ระหว่างกัน โดยได้เริ่มศึกษานกที่มีในอังกฤษก่อน จากนั้นก็ได้ขยายขอบเขตไปศึกษานกในยุโรปต่อ และได้แบ่งนกเป็นสัตว์ปีกที่อาศัยบนบกและในน้ำ รวมถึงได้ตั้งเกณฑ์การพิจารณารูปทรงของจะงอยปาก ปีก และเท้าด้วย เพื่อใช้ในการแบ่งหมวดหมู่

การมีฐานะมั่งคั่งและร่ำรวยทำให้ Willughby ไม่มีปัญหาใดๆ ในการเดินทางไปสำรวจในที่ไกลๆ และไม่มีอุปสรรคในการหาคนมาร่วมงาน ครั้นเมื่อ Ray ลาออกจากตำแหน่งอาจารย์ที่มหาวิทยาลัย Cambridge เพราะได้แถลงว่าตนไม่สนับสนุนสมเด็จพระเจ้า Charles ที่ 2 ให้เสด็จขึ้นครองราชย์ Willughby จึงได้เชื้อเชิญอาจารย์ให้มาพักที่คฤหาสน์ ซึ่งตนพำนักอยู่กับภริยาและลูกสามคน อีกหนึ่งปีต่อมา Willughby ได้รับเลือกเป็นสมาชิกของสมาคม Royal Society (F.R.S.)

ในการเดินทางท่องเที่ยวและสำรวจนกในยุโรป ทั้งสองได้พยายามเก็บรวบรวมไข่นกหลายชนิด ได้เก็บตัวอย่างปลาและนก โดยได้กว้านซื้อจากตลาดที่ Venice อีกทั้งยังได้ซื้อหนังสือภาพวาดของนกและปลาที่ Leonard Baldner ซึ่งเป็นนักอนุรักษ์ป่าแห่งเมือง Strasbourg ในฝรั่งเศสเขียน สำหรับนกและปลาที่ซื้อมานั้น Willughby ได้นำไปผ่าตัดดูอวัยวะภายใน โดยให้คนใช้ผ่าชำแหละ แล้วตนนั่งสังเกต ทั้งสองยังได้แวะเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ที่ Venice และ Bologna ซึ่งเป็นสถานที่เก็บตัวอย่างของสิ่งมีชีวิตที่นักชีววิทยาชื่อ Ulisse Aldrovandi ในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ได้เก็บสะสมไว้ และได้ไปดูการผ่าศพที่เมือง Padua ในอิตาลี เมื่อเดินทางไปเบลเยียม และเนเธอร์แลนด์ก็ได้เห็นธรรมชาติและได้ติดตามดูความเป็นอยู่ของนก cormorant, heron และนก spoonbill จากนั้นได้เดินทางไป Cologne และ Nuremburg ในเยอรมนี แล้วเข้าพักที่ Vienna ในประเทศออสเตรีย ก่อนเดินทางกลับอังกฤษ

ในปี 1628 เมื่อ William Harvey พบระบบการไหลเวียนของโลหิตในร่างกายเป็นครั้งแรก Willughby ได้ต่อยอดความคิดเรื่องนี้ว่าในต้นไม้ก็ต้องมีการไหลของน้ำเลี้ยง (sap) ด้วย นี่คือแนวคิดของ Willughby ก่อนที่จะมีคนพูดถึงเรื่องนี้ในโลกชีววิทยาในอีกหลายปีต่อมา

หลังจากที่ได้เห็นขั้นตอนการแปลงรูปร่างของหนอนเป็นผีเสื้อแล้ว Willughby ได้พยายามจำแนกชนิดของแมลงตามกระบวนการแปรสภาพ (metamorphism) เป็นครั้งแรก เช่น จากหนอน เป็นดักแด้ (pupa) แล้วเป็นผีเสื้อ และได้อธิบายว่านี่คือสามขั้นตอนชีวิตของแมลง ซึ่งได้แก่ หนอน ดักแด้ และผีเสื้อ มันจึงเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวกัน Willughbyยังเป็นคนที่ชอบตั้งคำถามที่หาคนตอบได้ยาก เช่น นกชนิดใดสามารถมีชีวิตรอดได้ในฤดูหนาว โดยการบินอพยพไปอยู่ในดินแดนไกลๆ และนกสร้างรังได้อย่างไร การได้ศึกษาวัฏจักรชีวิตของมดที่ตัดใบไม้ด้วยจะงอยปากเป็นคนแรกทำให้มดสปีชีส์นี้มีชื่อ Megarhile willughbiella ตามชื่อของ Willughby

ตามปกติ Willughby เป็นคนมีสุขภาพไม่ค่อยดี ทำให้ล้มป่วยบ่อย เป็นมาลาเรีย และโรคเครียดเรื้อรัง เพราะถูกบรรดาญาติฟ้องร้องเรื่องมรดกที่ได้รับจากบิดา ทั้งๆ ที่ตนเป็นลูกคนเดียวของครอบครัว

เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน ค.ศ.1672 Willughby ล้มป่วยหนัก และเริ่มเขียนพินัยกรรม โดยระบุว่า ไม่ให้มรดกใดๆ แก่ญาติที่นับถือคริสต์ศาสนานิกายโรมันแคทอลิก แล้วเสียชีวิตเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม ในวัย 36 ปี ด้วยโรคเยื่อหุ้มปอดอักเสบ (pleurisy) ซึ่งมีสาเหตุจากโรคปอดบวม (pneumonia)

สวน Ray ในฐานะเพื่อนร่วมงานตลอดชีวิต ได้รับมรดกปีละ 60 ปอนด์ ซึ่งจะมอบให้จนกระทั่ง Ray เสียชีวิต และได้กำหนดให้ Ray เป็น 1 ใน 5 ของผู้จัดการมรดก ซึ่ง Ray ก็ได้ตอบแทนความมีน้ำใจของ Willughby โดยการเก็บรวบรวมผลงานทั้งหมดของผู้เป็นทั้งศิษย์และเพื่อนมาตีพิมพ์เผยแพร่ในเวลาต่อมา

ในส่วนที่เกี่ยวกับการจำแนกนก ในเบื้องต้นคนทั้งสองตั้งใจจะจัดแบ่งนกทุกชนิด โดยอาศัยหลักการที่เป็นความคิดนวัตกรรมค่อนข้างมาก คือ รูปร่าง เช่น ลักษณะของเท้า จะงอยปาก ปีก ขนาดตัว ฯลฯ แล้วใช้เครื่องหมายดอกจันทน์กำกับชื่อทุกแห่ง ในกรณีที่ความรู้นั้นเป็นความรู้ทุติยภูมิ (คือ ได้จากผู้อื่น มิใช่ได้จากการเห็นด้วยตนเอง) จึงมีนัยว่า ข้อมูลนั้นมิได้รับการตรวจสอบด้านความถูกต้อง Willughby ยังได้พยายามหาเอกลักษณ์ที่โดดเด่นพิเศษของนกแต่ละสายพันธุ์ และไม่ใช้ข้อมูลของนักชีววิทยาเยอรมันชื่อ Conrad Gessner ตำรา 3 เล่มของ Willughby ชื่อ Ornithologiae Libre Tres ได้รับการตีพิมพ์เป็นภาษาละติน ในปี 1676 และถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษในอีก 2 ปีต่อมา โดยใช้ชื่อว่า The Ornithology of Francis Willughby of Middleton แต่ประวัติศาสตร์มิได้บันทึกว่า มีคนซื้อหนังสือเล่มนี้กี่คน แต่ ณ วันนี้ทุกคนก็รู้ว่า นี่เป็นตำรานกระดับคลาสสิก

นก  black-winged stilt ที่ Francis Willughby ได้พบที่ South Wales
ในส่วนที่เกี่ยวกับปลา เพราะภรรยาหม้ายของ Willughby แต่งงานใหม่ และสามีใหม่ของเธอได้ห้ามมิให้ Ray เข้ามาเกี่ยวข้องกับเอกสารต่างๆ ที่ Willughby เขียน ดังนั้นการเก็บรวบรวมข้อมูลโดย Ray จึงต้องใช้เวลานาน นอกจากนี้ จำนวนสายพันธุ์ของปลาก็มีมากกว่านก แต่ในที่สุดเมื่อถึงปี 1686 ตำราปลา The Historia Piscium ก็ถูกนำออกเผยแพร่เป็นภาษาละติน โดย Ray ได้เขียนอุทิศคุณความดีของหนังสือแก่ Samuel Pepys ซึ่งในเวลานั้นดำรงตำแหน่งเป็นนายกของสมาคม Royal Society ในฐานะที่เป็นผู้อุปถัมภ์โครงการ บทแรกของหนังสือกล่าวถึงชีววิทยาของปลา, สัตว์ cetacean (สัตว์ทะเลที่เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม) ปลา carlilaginous (ฉลามและปลากระเบน) ในเล่มมีภาพประกอบ 187 ภาพ และสมาคม Royal Society ต้องใช้เงินงบประมาณมากในการจัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้ จนเงินสะสมที่สมาคมมีถูกนำไปใช้เกือบหมด

สำหรับหนังสือที่เกี่ยวกับแมลงนั้น ในช่วงเวลาที่ Willughby ยังมีชีวิต คำว่า แมลง มิได้มีความหมายเหมือนที่ใช้ในปัจจุบัน ดังนั้น ในปี 1704 ตำรา Historia Insectorum จึงกล่าวถึงสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังด้วยหลายชนิด เช่น หนอน แมงมุม และกิ้งกือ แต่ไม่มีหอย ปัญหาของ Ray ในการจัดพิมพ์ตำราเล่มนี้ก็เหมือนๆ กับเล่มปลา และ Ray สามารถเก็บรวบรวมข้อมูลมาเรียบเรียงได้ เพราะลูกชายของ Willughby ได้อนุญาตให้ Ray เข้าไปสะสางข้อมูลที่พ่อได้เก็บสะสมมาเป็นเวลานาน

ในเดือนมกราคม ปี 1705 Ray ได้เสียชีวิต และตำรา Historia Insectorum ถูกนำออกเผยแพร่เป็นภาษาละตินในปี 1710 แต่ Ray ได้เขียนไว้อย่างชัดเจนว่า ผลงานส่วนที่เกี่ยวกับด้วง ผีเสื้อ และหนอนมีขา ส่วนใหญ่เป็นของ Willughby

Willughby ยังมีผลงานคณิตศาสตร์เรื่องเกมส์และโอกาสความเป็นไปได้ด้วย แต่หนังสือ Book of Games ของเขาเพิ่งปรากฏในบรรณโลกเมื่อปี 2003 นี้เอง โดยได้กล่าวถึงเทคนิคการเล่นไพ่ การพนันชนไก่ และการพยากรณ์การเล่นฟุตบอล ซึ่ง Willughby ได้กล่าวถึงกฎเกณฑ์ที่ใช้ในการเล่น อุปกรณ์ และมารยาทในการเล่น รวมถึงเกมส์ต่างๆ ที่เด็กชอบเล่นด้วย

ข้อสังเกตหนึ่งเกี่ยวกับหนังสือที่ Willughby เรียบเรียง คือทุกเล่มจะมีภาพประกอบมากมายเป็นภาพวาดที่ได้จากหนังสือที่เขาซื้อเมื่อครั้งที่เดินทางท่องยุโรป และบ้างก็คัดลอกจากตำราของนักชีววิทยาคนอื่น

ปัจจุบันตำรานกของ Willughby ได้มีอิทธิพลต่อนักปักษีวิทยารุ่นหลัง มาก เช่น Rene A.F. Reaumur กับ Mathurin Brisson ส่วน Georges Cuvier ได้กล่าวชื่นชมผลงาน Historia Piscium ของ Willughby และตั้งแต่ปี 1735 Carl Linnaeus ก็ได้พึ่งพาตำราของ Willughby กับ Ray ในการเรียบเรียงตำราอนุกรมวิธาน Systema Naturae ของเขาเอง เพื่อตั้งชื่อสิ่งมีชีวิตแบบทวินาม

เพราะเหตุว่า Willughby เสียชีวิตตั้งแต่อายุยังน้อย และผลงานบางเล่มก็เพิ่งนำออกเผยแพร่ อีกทั้งในระยะหลังๆ เป็นงานที่ Ray ทำเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น ในระยะต้น ชื่อเสียงของ Willughby จึงโด่งดังมาก แต่เมื่อเวลาผ่านไป ชื่อของ Ray ก็ดังขึ้นๆ แทน

ในปี 1942 Charles E. Raven ซึ่งได้ศึกษาชีวประวัติของ John Ray ได้กล่าวสรุปว่า Willughby มีความรู้น้อยกว่า Ray แต่เอกสารของ Willughby ที่ถูกเก็บอยู่ที่หอจดหมายเหตุของมหาวิทยาลัย Nottingham ได้แสดงให้เห็นว่าคนทั้งสองสามารถทำงานร่วมกันได้ดีคือ เป็นส่วนเติมเต็มให้กันและกัน เมื่อฝ่ายหนึ่งมีความอ่อนด้อย อีกฝ่ายหนึ่งก็จะเสริมจนได้ภาพรวมที่สมบูรณ์แบบ โดยสรุป Willughby กับ Ray จำแนกสายพันธุ์ของนกที่พบในอังกฤษและเวลส์ได้ประมาณ 90% จาก 200 สายพันธุ์ที่มี

ข้อคิดหนึ่งที่เห็นได้จากการศึกษาการทำงานร่วมกันของคนทั้งสอง ซึ่งมีความแตกต่างกันทั้งในด้านฐานะ อายุและสภาพสังคม ก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจ Willughby นั้นเป็นคุณชาย ส่วน Ray เป็นลูกของช่างตีเหล็ก หลังจากที่ Willughby เสียชีวิต ครอบครัวได้คาดหวังให้ Ray สอนหนังสือให้บรรดาลูกๆ ของ Willughby ซึ่งทำให้ Ray รู้สึกไม่สบายใจ เพราะคิดว่าตนไม่ใช่คนใช้ นอกจากนี้ครอบครัวของ Willughby ก็ไม่ยินดีให้ Ray เข้ามาดูแลเอกสารที่เขาเขียนร่วมกับ Willughby โดยไม่รู้เลยว่า ถ้าคนทั้งสองทำงานแยกกัน ความมีชื่อเสียงของใครคนหนึ่งคงไม่ปรากฏ แต่เมื่อได้ช่วยกัน ชีวิตของทั้งสองคนก็มีคุณค่า เพราะได้ทิ้งมรดกทางความรู้ไว้เบื้องหลังจนทุกวันนี้


สุทัศน์ ยกส้าน

ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" จาก "ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน" ได้ทุกวันศุกร์


กำลังโหลดความคิดเห็น