xs
xsm
sm
md
lg

สุขภาพของเด็กที่หายจากมะเร็งเมื่อเติบใหญ่

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน


(ภาพประกอบข่าว) นางแบบในงานเดินแบบที่บอสตัน สหรัฐฯ ซึ่งนางแบบทุกคนอยู่ระหว่างการรักษามะเร็ง (Joseph Prezioso / AFP)
ใครก็ตามเวลาได้ยินแพทย์บอกว่าตนกำลังเป็นมะเร็ง ทุกคนจะสะอึก คงเพราะรู้สึกเสมือนว่า นั่นคือ คำพิพากษาตัดสินประหารชีวิต ถ้าเขามีอายุ “มาก” แล้ว ความกังวลก็คงมีไม่มาก เพราะได้ใช้ชีวิตมานานพอสมควร แต่ถ้ายังเป็นเด็กที่ยังไม่ได้ใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่า คำบอกดังกล่าวจากแพทย์อาจทำให้รู้สึกว่า นี่เป็นการลงโทษที่ไม่ยุติธรรม อีกทั้งต้องผ่านประสบการณ์ที่ไม่ต้องการ เพราะในขั้นตอนของการรักษา ผมจะร่วง เรียนก็ยังไม่จบ งานก็ยังไม่ได้ทำ ครอบครัวก็ยังไม่มี ทว่าในช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมานี้ เด็กที่ป่วยเป็นมะเร็งในประเทศที่พัฒนาแล้วกว่า 80% มีโอกาสหาย แต่ในประเทศที่ด้อยพัฒนาและกำลังพัฒนาโอกาสการรักษาให้หายมีน้อยกว่า 30%

มาบัดนี้คำถามที่ตามมาจากการสำรวจสุขภาพของเด็กอเมริกันที่รอดชีวิตเมื่อเติบใหญ่แสดงว่า เขาเหล่านั้นส่วนใหญ่มีสุขภาพไม่แข็งแรง และมีปัญหาในการดำรงชีวิต ดังนั้น สถานการณ์จึงมีสภาพเสมือนว่า เทคนิคการรักษามะเร็งที่ใช้ได้ผลในวัยเด็กได้ทำลายระบบภูมิคุ้มกัน จนทำให้เด็กต้องเสียชีวิตด้วยโรคอื่นๆ หลายรูปแบบ เมื่อเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่

สถิติที่ได้จากการสำรวจชาวอเมริกันวัย 18-60 ปี ที่เคยป่วยเป็นมะเร็งในวัยเด็กจากจำนวน 1,700 คนเพื่อนำมาวิเคราะห์ว่าการรักษาได้ทำร้ายระบบการทำงานของอวัยวะต่างๆ เพียงใด (การรักษาในที่นี้ใช้เทคนิคเคมีบำบัด หรือรังสีบำบัด หรือใช้ทั้งสองเทคนิคร่วมกัน) ผลปรากฏว่า

ระบบประสาทของร่างกายที่ได้รับความกระทบกระเทือน มีคน
62% ที่มีปัญหาในการได้ยิน
25% มีปัญหาในการจำ
และ 21% มีตาเป็นต้อ

ด้านระบบการทำงานของหัวใจที่ถูกกระทบกระเทือนข้อมูล ก็มีดังนี้คือ
61% มีระดับ cholesterol สูงผิดปกติ
57% มีความผิดปกติในการทำงานของลิ้นหัวใจ
และ 6% มีกล้ามเนื้อหัวใจเป็นโรค

สำหรับสถิติของระบบต่อมไร้ท่อที่ถูกกระทบกระเทือน ก็มีดังนี้คือ
66% ของผู้ชายเป็นหมัน
61% มีระบบฮอร์โมนที่ทำงานผิดปกติ
และ 12% ของผู้หญิงจะเป็นหมัน

ส่วนสถิติของระบบการทำงานของปอดได้แสดงให้เห็นว่า
65% มีการทำงานที่ผิดปกติ

นี่เป็นสถิติที่ทำให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องกังวล หลังจากที่เจ้าตัว ครอบครัวและคนใกล้ชิดคิดว่าร่างกายคงหายดีและปลอดภัย 100% จากการเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งปอด ฯลฯ เพราะมีคนหลายคนที่ได้เรียนต่อจนจบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย และคนเหล่านี้แทบทุกคนไม่รู้สึกเครียดหรือกลัวว่ามะเร็งจะหวนกลับมาอีก

แต่เมื่อได้พบว่า แม้จะไม่ได้เป็นมะเร็งแล้ว ก็ตามสุขภาพของร่างกายในภาพรวมก็ยังไม่ดี เช่น คนที่ในวัยเด็กเคยเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองมักจะรู้สึกว่าหลังการรักษามะเร็ง หัวใจก็ยังทำงานไม่เต็มที่ และมักรู้สึกอ่อนเพลียจนบางครั้งหายใจติดขัด คนเหล่านี้อาจจะมีอาการหัวใจวาย หรือมีจังหวะการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติ อีกทั้งมีปัญหาในการเรียนรู้ มีต่อม thyroid ที่ทำงานผิดปกติ มีโรคไต และเป็นหมัน ข้อมูลเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า แม้จะรอดตายจากนรกขุมแรกมาได้ แต่ก็จะต้องตายอย่างทารุณในนรกขุมที่สอง ดังที่ Lisa Diller ซึ่งเป็นกุมารแพทย์แห่งสถาบันมะเร็ง Dana-Farber ในเมือง Boston ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้รายงานว่า เธอมีคนไข้เป็นชายอายุ 30 ปีที่กำลังเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร หลังจากที่เคยเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง และได้รับการศึกษาจนหายด้วยเทคนิครังสีบำบัด ซึ่งทำให้เธอรู้สึกแปลกใจมาก และคิดว่าการรักษาด้วยรังสีบำบัดได้ทำให้เขาป่วยเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร ทั้งที่อยู่ในวัยหนุ่ม

ณ วันนี้โรคมะเร็งที่เด็กอเมริกันมักเป็นมากคือ มะเร็งเม็ดเลือดขาว (Hodgkin lymphoma) และมะเร็งต่อมน้ำเหลือง (lymphoblastic leukemia) ประมาณ 90% ของเด็กที่เป็นมะเร็งจะมีอาการของโรคทั้งสองชนิดนี้ และ 83% ได้รับการรักษาจนหายขาด ในปี 2014 การสำรวจสุขภาพของคนที่หายแสดงให้เห็นว่า 80% ของคนกลุ่มนี้ก่อนจะมีอายุ 45 ปีล้วนมีสุขภาพทั่วไปไม่ดีเลย

เมื่อข้อมูลเป็นเช่นนี้ นักวิจัยและแพทย์จึงหันมาสนใจปัญหาในประเด็นที่ว่า กระบวนการรักษาที่แพทย์ใช้ ได้ทำให้ร่างกายของคนไข้มีขั้นตอนวิวัฒนาการต่อไปอย่างไร เพราะความรู้ที่ได้จะเป็นประโยชน์ต่อคนอเมริกันอีกประมาณ 500,000 คนที่ในวัยเด็กเคยเป็นมะเร็ง เพื่อจะได้เตรียมตัวหาทางป้องกัน และหาวิธีลดภัยชีวิตที่จะเกิดกับตนเอง

ด้านนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ก็กำลังค้นหาตัวยาที่คาดว่ามีในสัตว์ เช่น ปลา zebra และบ้างได้ใช้หนูที่เป็นมะเร็งเป็นสัตว์ทดลองตัวยาใหม่ๆ รวมถึงได้ศึกษาเซลล์ในร่างกายของคนที่หายจากมะเร็งว่าได้เปลี่ยนแปลงไปมากน้อยเพียงใด โดยการตรวจสอบและเปรียบเทียบกับ DNA ของเด็กที่กำลังเป็นมะเร็งด้วย

แพทย์อีกหลายคนก็กำลังวิจัยว่า เทคนิคเคมีบำบัดได้ทำร้ายระบบการทำงานของหัวใจอย่างไร เพราะคนที่เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองอาจมีน้ำหนักตัวลดถึง 30 กิโลกรัมตลอดเวลาที่เข้ารับการรักษาแบบเคมีบำบัด และในเวลาต่อมาก็มีปัญหาเรื่องต่อม thyroid ทำงานผิดปกติจนอายุ 35 ปี ก็ได้เข้ารับการผ่าตัดหัวใจ แม้บางคนจะเป็นหมัน แต่คนไข้ก็สามารถมีทายาทเป็นแฝดได้ โดยใช้เชื้ออสุจิที่ถูกนำไปเก็บสะสมในธนาคารอสุจิ ก่อนคนไข้จะเข้ารับการรักษาแบบเคมีบำบัด

ด้านแพทย์ Kiri Ness แห่งโรงพยาบาลเด็ก St. Jude Children’s Research Hospital ที่เมือง Memphis ในรัฐ Tennessee ก็ได้รายงานว่า จากคนที่ “หาย” มีประมาณ 30% ได้กลับมาเป็นมะเร็งอีก (แต่เป็นชนิดอื่น) ก่อนจะมีอายุครบ 50 ปี สาเหตุคงเป็นเพราะ DNA ในเซลล์ได้ถูกทำลายไป ขณะเข้ารับการรักษา และ 10% จะมีอาการต่อม thyroid ทำงานในอัตราที่ต่ำกว่าปกติ อีก 15% มีอาการหัวใจทำงานผิดปกติ ด้านคนที่ได้รับการฉายรังสีที่สมอง เมื่อเติบใหญ่โอกาสการได้งานทำจะมีน้อยกว่าคนที่ไม่ได้รับรังสีบำบัด และเด็กที่ต้องเข้ารับการเปลี่ยนไขกระดูกก็อาจจะมีอาการไตวาย และเป็นหมันเวลาเป็นผู้ใหญ่

Ness ยังได้รายงานอีกว่า คนเหล่านี้แม้มีอายุน้อยคือ 20, 30 และ 40 ปี แต่สภาพร่างกายก็ดูชราเกินวัย หลายคนเดินช้า มีผิวหนังเหี่ยวย่น ร่างกายอ่อนแอ หลังโก่ง ซึ่งเป็นลักษณะอาการและท่าทางของคนสูงวัย ครั้นเมื่อมีการสำรวจสภาพการทำงานของอวัยวะภายในร่างกายก็ได้พบว่า แม้อายุจริงจะไม่ถึง 40 ปี แต่ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อก็มีสภาพเหมือนคนอายุ 70 หรือ 80 ปี

การวิเคราะห์ของ Ness ยังแสดงให้เห็นอีกว่า เด็กที่เข้ารับการรักษามะเร็งได้สูญเสียมวลกล้ามเนื้อไปมาก จนร่างกายไม่สามารถคืนสู่สภาพเดิมได้ ระบบประสาทก็ทำงานช้าลง ปฏิกิริยาตอบสนองต่อการกระตุ้นก็ช้าลง หลายคนได้สูญเสียความสามารถในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เมื่อ 6 ปีก่อนนี้ การสำรวจเด็กที่รอดชีวิตจากมะเร็งจำนวน 1,922 คน ได้พบว่า คนกลุ่มนี้ที่มีอายุเฉลี่ย 33 ปีมี 10% ที่อาจจัดได้ว่าเป็นพวก “อ่อนแอ” อีก 30% ยังไม่อ่อนแอ แต่ก็ได้สูญเสียมวลกล้ามเนื้อไปบ้าง ซึ่งตัวเลขดังกล่าว เป็นสถิติในคนที่มีอายุเกิน 65 ปี

ตัวเลขเหล่านี้จึงชี้บอกว่า อาการชราเร็วเป็นผลที่เกิดจากเทคนิคการรักษามะเร็งโดยตรง เพราะเทคนิคเคมีบำบัด และรังสีบำบัดที่แพทย์ใช้ในการฆ่าเซลล์มะเร็งได้ทำลายเซลล์ดีในร่างกายไป เซลล์ที่ถูกทำร้ายจึงชักนำเซลล์อื่นๆ ในร่างกายให้เข้าสู่ความชราก่อนวัยอันควร โดยจะชักจูงและเหนี่ยวนำเซลล์ดีที่อยู่รอบตัวมันให้ใช้พลังงานน้อยลง และปล่อยโมเลกุลที่สามารถทำให้กล้ามเนื้อ และข้อต่อต่างๆ ในร่างกายมีอาการอักเสบ อันเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่า คนๆ นั้นกำลังแก่ตัว โดยเฉพาะโมเลกุลชื่อ p16 ที่ไม่พบในร่างกายคนหนุ่ม-สาวสุขภาพดี แต่จะพบในเลือดของเด็กที่ได้รับการรักษามะเร็ง

ด้าน Kristopher Sarosick ซึ่งเป็นนักชีววิทยามะเร็งที่โรงเรียนแพทย์ Harvard T.H. Chan School of Public Health ในเมือง Boston ก็กำลังศึกษาหาความสัมพันธ์ระหว่างความเสียหายที่เกิดขึ้นในเซลล์จากการรักษามะเร็งกับภาวะเหนื่อยล้า และอ่อนแรงของร่างกายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยได้ศึกษากระบวนการกินตัวเอง (autophagy) ของเซลล์ในคนที่มีสุขภาพดี กระบวนการกินตัวเองนี้จะถูกต่อต้านไม่ให้เกิด แม้เซลล์นั้นจะถูกทำร้ายก็ตาม แต่ในตัวของหนูที่มีสุขภาพดี กระบวนการกินตัวเองมักจะเกิดขึ้นเร็ว และมากอย่างแทบไม่น่าเชื่อ เวลาเซลล์ในร่างกายหนูแบ่งตัว

ซึ่งเหตุผลสำหรับเรื่องนี้ Sarosick คิดว่า คงเป็นเพราะหนูที่มีอายุน้อยและเด็กที่อายุยังน้อยต่างก็กำลังเติบโต ร่างกายของหนูและเด็กจึงต้องกำจัดเซลล์ใหม่ที่ไม่ทำงานออกจากร่างกาย โดยใช้กระบวนการ autophagy และตามปกติเทคนิคการรักษามะเร็งที่แพทย์ใช้จะกระตุ้นให้เซลล์มะเร็งทำลายตัวมันเอง และในเวลาเดียวกันก็ต้องการให้ช่วยสร้างเนื้อเยื่อในร่างกายให้มีสุขภาพสมบูรณ์ด้วย แต่เนื้อเยื่อในร่างกายเด็กที่เป็นมะเร็งมีโอกาสถูกทำลายมาก เช่นเวลาฉายแสงที่สมองของผู้ใหญ่ ถ้าใช้รังสีปริมาณมาก คนไข้จะสูญเสียความสามารถในการรับรู้ไปบ้าง แต่ถ้าฉายรังสีในปริมาณเดียวกันไปที่สมองของเด็กที่เป็นมะเร็ง รังสีก็อาจทำลายความสามารถในการเรียนรู้ของเด็กไปอย่างถาวร ดังนั้นการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการรักษามะเร็งในเด็กกับการเกิดเหตุการณ์ autophagy ในเนื้อเยื่อที่สุขภาพสมบูรณ์จึงเป็นเรื่องที่แพทย์ทุกคนกำลังต้องการความเข้าใจ

การสูญเสียเซลล์ดีๆ มีผลกระทบต่อร่างกายในระยะยาวอย่างแน่นอน ดังที่ Steven Lipshultz แห่งโรงพยาบาลเด็ก Children’s Hospital ที่เมือง Boston ได้พบว่า เวลาเด็กที่เป็นมะเร็งได้รับยา anthracycline หัวใจของเด็กจะสูญเสียเซลล์กล้ามเนื้อไปทีละน้อยๆ จนในที่สุดกล้ามเนื้อหัวใจจะอ่อนแอลงๆ และไม่ยืดหยุ่นอีกต่อไป หัวใจจึงไม่เติบโต ครั้นเมื่อเด็กคนนั้นเติบโตเป็นผู้ใหญ่ หัวใจของเขาจะมีขนาดเล็กจนไม่สามารถทำงานในร่างกายของผู้ใหญ่ได้ดี นอกจากนี้ผนังกล้ามเนื้อของหัวใจก็อาจบางลงๆ จนทำให้มีอาการเจ็บหน้าอก เวลาหัวใจสูบฉีดโลหิต

ตามปกติความมุ่งหวังของแพทย์ในการรักษาคนที่รอดชีวิตจากมะเร็ง คือ หาวิธีที่จะทำให้รู้ว่า การรักษารูปแบบใดมีผลกระทบน้อยที่สุดต่อคนที่รอดชีวิตในระยะยาว และได้พบว่าที่โรงพยาบาลเมือง Carleton ในประเทศแคนาดา เด็กที่เข้ารับการรักษามะเร็ง 37% จะมีอาการหูหนวก จึงมีผลทำให้เด็กเหล่านั้นมีปัญหาในการสื่อสารกับโลกภายนอก ดังนั้นทางโรงพยาบาลจึงได้จัดตั้งโครงการค้นหา DNA ของ gene ที่เกี่ยวข้องกับการได้ยิน ส่วนการเป็นโรคหัวใจจากการทำเคมีบำบัด เช่น ในกรณีเด็กเป็นมะเร็งแบบ neuroblastoma ซึ่งเป็นก้อนเนื้อร้ายที่บริเวณใกล้กระดูกสันหลัง และอยู่เบื้องหลังของหัวใจ ทำให้ต้องเข้ารับการรักษาแบบรังสีบำบัด ซึ่งจะมีผลกระทบต่อหัวใจของเด็ก จนต้องใช้ยา anthracycline เข้าช่วยด้วย แล้วแพทย์ก็ได้วิเคราะห์พบว่า เด็กคนนั้นมียีน 2 ยีนที่ทำให้การฉายรังสีสามารถทำร้ายหัวใจของเขาได้อย่างรุนแรง จนถึงตายได้ ดังนั้นจึงหาทางออกโดยได้ปรึกษากับแพทย์ในยุโรป ซึ่งได้แนะนำให้ใช้ยา anthracycline กับสารเคมีอื่นๆ ร่วมกับการรักษาแบบรังสีบำบัด เพราะไม่มีใครต้องการให้เด็กต้องเสียชีวิต แต่ในที่สุดแพทย์ได้ตัดสินใจยุติการใช้ anthracycline และใช้เทคนิครังสีบำบัดพร้อมทั้งให้กินยาอื่นและเปลี่ยนถ่าย stem cell

อีก 4 ปีต่อมา เด็กคนนั้นเริ่มเรียนหนังสือในชั้นอนุบาลและมีหัวใจที่แข็งแรง ซึ่งหมอที่รักษาคนไข้คนนี้ได้กล่าวสรุปว่า ในเบื้องต้นครอบครัวทุกคนต้องการการรักษาแบบเคมีบำบัด แต่บัดนี้การตรวจหายีนในร่างกายที่เกี่ยวข้องกับยากำลังเป็นเทคนิคที่จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในอนาคต

อ่านเพิ่มเติมจาก Cancer: The Evolutionary Legacy โดย Mel Greaves จัดพิมพ์โดย Oxford University Press ปี 2000

(ภาพประกอบข่าว) นักกีฬาและเชียร์ลีดเดอร์เยี่ยมผู้ป่วยเด็กในโรงพยาบาลที่บอสตัน (DARREN MCCOLLESTER / GETTY IMAGES NORTH AMERICA / AFP)

(ภาพประกอบข่าว) นักกีฬาและเชียร์ลีดเดอร์เยี่ยมผู้ป่วยเด็กในโรงพยาบาลที่บอสตัน (DARREN MCCOLLESTER / GETTY IMAGES NORTH AMERICA / AFP)


สุทัศน์ ยกส้าน

ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" จาก "ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน" ได้ทุกวันศุกร์


กำลังโหลดความคิดเห็น