โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ มีความพร้อมของทีมแพทย์และสหสาขาวิชาชีพ ในการส่งมอบการดูแลรักษาโรคลิ้นหัวใจ ด้วยเทคโนโลยีการแพทย์ TAVI หรือ Transcatheter Aortic Valve Implantation ทางเลือกของการรักษาโดยการเปลี่ยนลิ้นหัวใจผ่านสายสวนแทนการผ่าตัดเปิดช่องอก แผลมีขนาดเล็ก ผู้ป่วยเจ็บน้อยและฟื้นตัวเร็ว
จากข้อมูลของ United Nations World Population Ageing พบว่า ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ซึ่งสหประชาชาติระบุว่า ประเทศใดมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป ในสัดส่วนเกินร้อยละ 10 ของประชากรทั้งประเทศ ถือว่าประเทศนั้นก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ หรือ Aging Society และจะเป็น "สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ" เมื่อสัดส่วนประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20 โดยตัวเลขของประเทศไทย คาดการณ์ว่าในปี 2564 ไทยจะเข้าสู่สังคมประชากรสูงวัยแบบสมบูรณ์ โดยมีผู้ที่อายุมากกว่า 60 ปี เกิน 20 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนประชากรทั้งหมด
วันนี้ (15 พ.ย.) นายแพทย์วิญญู รัตนไชย ผู้อำนวยการด้านการแพทย์ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เปิดเผยว่า โรงพยาบาลได้เล็งเห็นแนวโน้มของสังคมผู้สูงอายุในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง จึงมีการเตรียมพร้อมรองรับปัญหาสุขภาพที่เกิดในกลุ่มผู้สูงวัย โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งถือเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตในผู้สูงวัยในลำดับต้นๆ ทั้งนี้ โรงพยาบาลมีความพร้อมทั้งในส่วนของแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ สหสาขาวิชาชีพ ความพร้อมในด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ ความพร้อมของศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ รวมถึงศูนย์ลิ้นหัวใจ ที่จะให้การดูแลรักษาโรคเฉพาะทางได้อย่างครอบคลุมทุกมิติ ตั้งแต่การป้องกัน การวินิจฉัยในระยะเริ่มต้น การรักษา ตลอดจนถึงการฟื้นฟูสมรรถภาพโดยแพทย์เฉพาะทางที่มีประสบการณ์และความชำนาญการขั้นสูง ด้วยคุณภาพมาตรฐานระดับสากลและความปลอดภัยสูงสุด
นายแพทย์วิญญู เผยอีกว่า สถิติของกระทรวงสาธารณสุข ปี 2561 พบว่ามีจำนวนคนไทยที่ป่วยด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด 432,943 คน มีอัตราการเสียชีวิตถึง 20,855 คน ต่อปี คิดเป็นจำนวนผู้เสียชีวิตถึง 48 คนต่อวัน หรือ ชั่วโมงละ 2 คน และด้วยจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาที่มีจำนวนมาก ก่อให้เกิดปัญหาสถานการณ์ความแออัดของห้องฉุกเฉิน ซึ่งเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขที่ต้องเร่งช่วยกันป้องกันและแก้ไขให้ได้อย่างเร็วที่สุดเพื่อลดอัตราการเสียชีวิตของคนไทยจากโรคหัวใจที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี
ด้าน นายแพทย์วิสุทธิ์ วิเวกาภิรัต แพทย์ที่ปรึกษาผู้อำนวยการปฏิบัติการทางการแพทย์ และแพทย์ผู้ชำนาญการด้านโรคหัวใจ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า โรคหัวใจนับเป็นภัยเงียบที่อาจไม่มีอาการหรือสัญญาณบ่งชี้ชัดเจน ผู้ป่วยจึงอาจไม่ได้ให้ความสำคัญกับการตรวจสุขภาพหัวใจ ซึ่งถ้าหากผู้ป่วยไม่ได้รับการดูแลรักษาทางการแพทย์ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก บางครั้งอาจนำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลวได้ ดังนั้นการตรวจสุขภาพหัวใจเป็นประจำ จึงเป็นสิ่งที่ควรใส่ใจ ก่อนที่จะเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น โดยโรคหัวใจที่พบบ่อยในผู้สูงวัย ได้แก่ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรืออุดตัน โรคลิ้นหัวใจเอเออร์ติกตีบ โรคหัวใจสั่นพริ้ว ภาวะหัวใจเต้นช้า และหัวใจล้มเหลว
"ปัจจุบันโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์มีศูนย์รักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับหัวใจที่สำคัญ ได้แก่ ศูนย์หัวใจ ศูนย์หัวใจเต้นผิดจังหวะ และล่าสุด ศูนย์ลิ้นหัวใจ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าผู้ป่วยจะได้รับการตรวจวินิจฉัย และการรักษาจากแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทางที่ตรงจุดและด้วยวิธีการที่เหมาะสมกับอาการของโรคในแต่ละบุคคล"
นายแพทย์วิสุทธิ์ กล่าวอีกว่า สังคมผู้สูงวัยกับภัยเงียบของโรคลิ้นหัวใจ รู้จัก รีบรักษาก่อนจะสาย หากอยู่ๆ ท่านหรือคนใกล้ชิดที่อยู่ในวัยสูงอายุของท่าน เริ่มมีอาการเหนื่อยง่าย เป็นลมหมดสติ หรือแน่นหน้าอก นี่อาจเป็นสิ่งบ่งบอกว่ากำลังมีปัญหาเกี่ยวกับลิ้นหัวใจตีบ และควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจอย่างละเอียด อาการลิ้นหัวใจตีบมีชนิดหนึ่งที่เกิดจากการตีบของลิ้นหัวใจที่กั้นระหว่างหัวใจห้องล่างซ้ายและหลอดเลือดแดงใหญ่ ซึ่งในทางการแพทย์เรียกว่าลิ้นหัวใจเอออร์ติก โดยส่วนใหญ่พบในผู้สูงอายุ และหากปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้เสียชีวิตในระยะเวลา 2-5 ปี
ขณะที่ นายแพทย์วัธนพล พิพัฒนนันท์ ผู้อำนวยการศูนย์ลิ้นหัวใจ ให้ข้อมูลระบบการทำงานของหัวใจ ว่า โดยปกติแล้ว หัวใจฝั่งขวาจะรับเลือดจากเส้นเลือดดำแล้วส่งไปฟอกที่ปอด จากนั้นเลือดดีจากปอดก็จะถูกส่งมาที่หัวใจฝั่งซ้าย โดยหัวใจห้องล่างซ้ายจะเป็นห้องสุดท้ายที่สูบฉีดเลือดไปยังหลอดเลือดแดงใหญ่แล้วกระจายไปยังทั่วร่างกาย ซึ่งลิ้นหัวใจเอออร์ติกก็เปรียบเหมือนวาล์วน้ำที่กั้นปั๊มน้ำกับท่อเมน และเมื่อสูงอายุขึ้น ลิ้นหัวใจเอออร์ติก ก็มีโอกาสตีบจากการมีหินปูนเกาะสะสมหรือเกิดจากการเสื่อมถอยของอายุ ที่สำคัญอาการลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ มีปัจจัยจากความชราของร่างกาย ดังนั้นจึงมีโอกาสเกิดขึ้นได้กับทุกคนทั้งชายและหญิง หรือไม่ว่าจะมีรูปแบบการใช้ชีวิตที่ระมัดระวังสุขภาพเพียงใดก็ตาม โรคลิ้นหัวใจตีบชนิดนี้ ผู้ป่วยจะไม่ทราบจนกว่าจะมีการตรวจร่างกายอย่างละเอียด แต่สามารถสังเกตอาการได้ เช่น มีอาการเหนื่อยง่าย อันเนื่องมาจากภาวะหัวใจวาย ซึ่งไม่ได้หมายถึงหัวใจหยุดเต้น แต่เป็นอาการที่หัวใจไม่สามารถสูบฉีดไปเลี้ยงร่างกายได้อย่างพอเพียง ซึ่งหากเกิดกับหัวใจฝั่งซ้ายก็จะทำให้เกิดอาการน้ำท่วมปอด รวมถึงอาการแน่นหน้าอก เป็นลมหมดสติ อาจเป็นอาการที่เกิดจากลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบก็ได้ ดังนั้นการตรวจคัดกรองโรคหัวใจ จึงเป็นสิ่งสำคัญ ที่ไม่ควรรอ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีโรคประจำตัว อย่างเช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน หรือ ผู้ที่สูบบุหรี่ และผู้ที่มีประวัติโรคหัวใจในครอบครัว ควรได้รับการตรวจร่างกายทั่วไปและตรวจหัวใจโดยเฉพาะ เช่น ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ
นายแพทย์วัธนพล ระบุว่า โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ได้สั่งสมประสบการณ์และพัฒนาทีมแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทาง และจัดตั้งศูนย์ลิ้นหัวใจซึ่งมีความพร้อมในด้านบุคลากรที่จะให้บริการอย่างครอบคลุม ตั้งแต่การป้องกัน การวินิจฉัยในระยะเริ่มต้น การรักษา ตลอดจนถึงการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจ โดยศัลยแพทย์โรคหัวใจ อายุรแพทย์โรคหัวใจ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านการทำหัตถการรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด อายุรแพทย์หัวใจด้านเอคโคคาร์ดิโอแกรม วิสัญญีแพทย์ด้านหัวใจโดยตรงและทีมพยาบาลที่มีประสบการณ์การดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจ การตรวจระบบหัวใจ หน่วยอภิบาลโรคหัวใจ หรือ ซีซียู ตลอดจนกระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจ ซึ่งทีมแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ได้ผ่านการอบรมหัตถการดังกล่าวจากต่างประเทศมาโดยเฉพาะ อาทิ ประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศออสเตรเลีย เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับโรค ขั้นตอนและทางเลือกในการรักษากับผู้ป่วยและญาติได้อย่างถูกต้องชัดเจน นอกจากนี้ ผู้ป่วยยังมั่นใจได้ว่า อุปกรณ์ที่โรงพยาบาลฯ เลือกใช้เพื่อการรักษา เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพผ่านการรับรองตามมาตรฐานสากล
แนวทางการรักษาโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบปัจจุบัน การรักษาโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบสามารถทำได้ 3 วิธีคือ 1.การรักษาตามอาการด้วยการให้ยา 2.การเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบโดยการผ่าตัด เป็นวิธีมาตรฐานในการรักษาโดยเป็นการผ่าตัดเปิดหน้าอกเพื่อตัดลิ้นหัวใจเก่าออกและเย็บลิ้นหัวใจเทียมเข้าไปแทนที่ 3.การเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบผ่านสายสวน โดยไม่ต้องผ่าตัด (Transcatheter Aortic Valve Implantation หรือ TAVI) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีล่าสุด โดยการใส่ลิ้นหัวใจเทียมผ่านสายสวนเข้าไปทางหลอดเลือดแดงใหญ่บริเวณขาหนีบ หรือเจาะผ่านผิวหนังส่วนยอดหัวใจ เมื่อสายสวนไปถึงตำแหน่งของลิ้นหัวใจเอออร์ติก แพทย์จะทำการปล่อยลิ้นหัวใจที่ม้วนพับอยู่ออกจากระบบนำส่งเพื่อให้กางออกกลายเป็นลิ้นหัวใจใหม่แทนของเดิมที่เสื่อมสภาพ
“แม้การผ่าตัดจะเป็นมาตรฐานในการรักษาโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบที่ให้ผลดีมาก แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้ป่วยทุกรายจะสามารถผ่าตัดได้ เนื่องจากเป็นการผ่าตัดใหญ่ที่ต้องดมยาสลบ มีการใช้เครื่องปอดหัวใจเทียมและใช้เวลาในการผ่าตัดนาน 4 ชั่วโมง ซึ่งผู้ป่วยบางรายอาจทนกับการผ่าตัดไม่ได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอายุมาก ผู้ที่เคยได้รับการผ่าตัดในช่องอกมาก่อน และผู้ที่มีโรคประจำตัวหลายโรค ถ้าทีมแพทย์พิจารณาแล้วว่าผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อการผ่าตัดแบบเปิดหน้าอก แพทย์จะแนะนำวิธีการเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบผ่านสายสวนโดยไม่ต้องผ่าตัด (TAVI) แทนเพื่อลดภาวะแทรกซ้อน” นพ. วัธนพล กล่าวเสริม
เทคนิค TAVI เปลี่ยนลิ้นหัวใจไม่ต้องผ่าตัดช่องอก “สำหรับวิธีการรักษาด้วยเทคนิค TAVI จะต้องอยู่ภายใต้การประเมินและดำเนินการโดยแพทย์ผู้ชำนาญการในโรงพยาบาลที่มีความพร้อม โดยเทคนิค TAVI เหมาะกับผู้ป่วยที่มีภาวะโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบรุนแรง ผู้มีปัจจัยเสี่ยงสูงจากการผ่าตัด ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคปอด หรือเคยผ่าตัดหัวใจมาก่อน ผู้ป่วยสูงอายุโดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไป หากผู้ป่วยถึงขั้นตีบระดับ 3 คือ ตีบรุนแรง หมายถึง ลิ้นหัวใจแทบไม่เปิดเลย เปรียบเหมือนวาล์วน้ำ ถ้าไม่เปิด เลือดก็สูบฉีดไม่ได้ โดยขั้นตอนการใส่ลิ้นหัวใจเทียมผ่านสายสวนเข้าไปทางหลอดเลือดแดงใหญ่บริเวณขาหนีบ จะใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมงเศษ ซึ่งใช้เวลาน้อยกว่าการผ่าตัดแบบเปิดอกซึ่งใช้เวลาประมาณ 4 ชม. การรักษาด้วยเทคนิค TAVI จึงทำให้แผลมีขนาดเล็กตรงบริเวณที่เจาะผ่านเท่านั้น ผู้ป่วยเจ็บน้อย และฟื้นตัวเร็ว ใช้เวลาพักฟื้นประมาณ 5-7 วันก็สามารถกลับบ้านได้ ขณะที่การผ่าตัดต้องใช้เวลาพักฟื้นนาน 2-3 เดือน ซึ่งจากการติดตามผลการรักษาของผู้ป่วยที่รับการรักษาด้วยเทคนิค TAVI ที่ผ่านมา พบว่าได้ผลดี เป็นที่น่าพอใจเป็นอย่างมาก ผู้ป่วยไม่มีอาการแทรกซ้อน และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” นพ. วัธนพล กล่าวทิ้งท้าย
โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ให้ความสำคัญกับคุณภาพและมาตรฐานการดูแลผู้ป่วย โดยผู้ป่วยจะได้รับการดูแลจากทีมเจ้าหน้าที่นับตั้งแต่วินิจฉัยพบโรค มีการประชุมร่วมกันกับครอบครัวทั้งก่อนและหลังการรักษา และมีการติดตามผลอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ป่วยจะได้รับการดูแลรักษาตามมาตรฐานความปลอดภัยสูงสุดและกลับมามีสุขภาพแข็งแรงต่อไป