xs
xsm
sm
md
lg

“การจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว” ทางลัดรักษาโลก แต่กฎระเบียบไม่เอื้ออำนวย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


จริณทร์ภร ติพพะมงคล นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการ กรมควบคุมมลพิษ

ในฐานะผู้บริโภคเรามีส่วนช่วยลดการพลาญทรัพยากรได้จากการเลือกใช้ แต่การเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคในระดับปัจเจก อาจทำให้การเปลี่ยนแปลงไม่เด่นชัดเท่า “การจัดซื้อจัดจ้าง” ขององค์กร ซึ่งมีการใช้ทรัพยากรอย่างมหาศาล หากรู้จัดเลือกสรรครุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือใช้อย่างคุ้มค่า ก็จะเป็นอีกแนวทางที่เราช่วยรักษาทรัพยากรของโลกได้


สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีเป็นประเทศที่นำ “การจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว” (Green Procurement หรือ Green Purchasing) มาใช้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและประหยัดทรัพยากร และมีความร่วมมือกับหน่วยงานในประเทศไทย เพื่อส่งเสริมการจัดซื้อสินค้าและจัดจ้างบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนี้ ผ่านองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ)


จริณทร์ภร ติพพะมงคล นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการ กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า โครงการการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียวเป็นการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าสินค้าและบริการทั่วไป และใช้วิธีการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบขั้นตอนของรัฐ ที่กำหนดโดยกระทรวงการคลังเช่นเดียวกับการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าขององค์กรต่างๆ โดยทั่วไป


ความแตกต่างของการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียวกับการจัดซื้อจัดจ้างทั่วไป คือ การจัดซื้อจัดจ้างสีเขียวจะพิจารณาถึงปัจจัยในด้านสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งสำคัญ เช่น การซื้อผลิตภัณฑ์ที่สามารถใช้แล้วนำกลับมารีเคิลได้อีก หรือสินค้าที่ผลิตด้วยวัสดุจากธรรมชาติ และการจ้างงานบริการที่ทำร้ายสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ทว่าสิ่งที่เป็นอุปสรรคของการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว คือ มีผู้ประกอบการน้อยรายที่สนใจผลิตสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม




ตัวอย่างความร่วมมือไทย – เยอรมัน ในการรักษาสิ่งแวดล้อมตลอด 10 ปี
“การผลิตสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนั้น มีการใช้วัตถุดิบที่มีความจำเพาะเจาะจง จึงทำให้สินค้ามีราคาที่ค่อนข้างสูง หรือผลิตออกมาแล้ว แต่ไม่ได้รับความนิยมและไม่ได้รับการจัดซื้อจัดจ้าง ผู้ประกอบการจึงยกเลิกการผลิต อีกทั้งการจ้างงานบริการที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด ยังต้องใช้เครื่องมืออุปกรณ์มากกว่าการดำเนินงานทั่วๆ ไป จึงทำให้มีต้นทุนสูง และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การจัดซื้อจัดจ้างสีเขียวในประเทศไทย ยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร” จริณทร์ภรอธิบาย

เยอรมนีซึ่งเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว จึงมีความร่วมมือกับหน่วยงานของภาครัฐต่างๆ ในไทย ผลักดันการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือในการดำเนินงานที่มุ่งเน้นลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ และสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อปรับตัวต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ พร้อมกับผลักดันโครงการต่างๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยให้สำเร็จ โดยได้เสนอให้กระทรวงการคลังออกระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและงานบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่ปฏิบัติตามได้ง่าย

“เนื่องจากในหนึ่งปี หน่วยงานต่างๆ จะได้รับเงินงบประมาณ โดยมีวงเงินที่ถูกกำหนดไว้ตามแผนการดำเนินงาน หากซื้อสิ้นค้าที่มีราคาสูง ก็จะไม่เหลือเงินงบประมาณสำหรับใช้ในงานด้านอื่นๆ อีกทั้งระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างที่มีวงเงินสูง ก็มีการกำหนดให้มีผู้ประกอบการ 3 ราย เพื่อแข่งกันประกวดราคา ซึ่งปัจจุบันผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนั้นมีน้อยราย การจะหานั้นก็ทำได้ยาก” จริณทร์ภรกล่าวเสริม

ตอนนี้หลายประเทศในภูมิภาคอาเซียน เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ได้เริ่มดำเนินโครงการการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียวแล้ว แต่ปัจจุบันก็ไม่สามารถดำเนินงานได้ เนื่องจากติดกฎระเบียบต่างๆ การปรับระเบียบใหม่ที่เอื้อประโยชน์ และทำให้การดำเนินงานง่ายขึ้น จึงเป็นอีกหนึ่งทางออกที่จะทำให้โครงการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียวของประเทศไทยประสบความ และเป็นรูปธรรมสำเร็จมากยิ่งขึ้น

นิทรรศการตัวอย่างความร่วมมือไทย – เยอรมัน ในการรักษาสิ่งแวดล้อมตลอด 10 ปี


กำลังโหลดความคิดเห็น