xs
xsm
sm
md
lg

“โดรนปัญญา” เทคโนโลยีบินได้โดยคนไทย แก้โจทย์แรงงานและลดต้นทุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ใกล้ไกลแค่ไหน โดรนก็บินไปพ่นยา-พ่นปุ๋ยได้

การใส่ปุ๋ยเพื่อบำรุงรักษาพืชผลทางการเกษตร เป็นอีกหนึ่งขั้นตอนที่สำคัญ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่สมบูรณ์ตามที่ตลาดต้องการ แต่ด้วยในยุคสมัยปัจจุบันแรงงานในด้านนี้เริ่มลดน้อยลง และคนรุ่นใหม่ก็ไม่สนใจทำอาชีพนี้ อีกทั้งอัตราค่าจ้างยังสูงขึ้น จึงเป็นปัญหาทั้งในด้านขาดแรงงาน และเรื่องต้นทุนแก่เกษตรกรในปัจจุบัน


ทว่าวิทยาศาสตร์นั้นไม่เคยหยุดพัฒนา จึงเกิดเทคโนโลยีมากมาย ที่ช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ในเรื่องการเกษตรได้มากขึ้น เช่น “เทคโนโลยีโดรนเพื่อการเกษตร” ที่ถูกนำมาแก้ไขปัญหาการขาดแรงงานในการหวานปุ๋ย เพื่อบำรุงรักษาพืชผลทางการเกษตร


นางปณิศการ บุญศิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ใส่ใจ อะกริคัลเจอร์ จำกัด บริษัทด้านการให้บริการโดรนเพื่อการเกษตร เล่าให้ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ฟังว่า คนรุ่นใหม่กันมาทำอาชีพเป็นเกษตรกรกันมากขึ้น และทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ให้เป็น “สมาร์ทฟาร์มเมอร์”


“ทว่าด้วยวิธีทำงานแบบเดิมๆ นั้น เช่น การหวานเมล็ด หวานปุ๋ย พ่นยากำจัดศัตรูพืชนั้น ต้องใช้แรงงานคนจำนวนมากในการทำขั้นตอนนี้ ปัจจุบันคนรุ่นใหม่ไม่ให้ความสนใจในการทำอาชีพนี้ แรงงานในด้านนี้จึงเริ่มลดน้อยลง จึงมีการนำเทคโนโลยีโดรนเพื่อการเกษตรมาใช้”


โดรนที่บริษัท ใส่ใจ อะกริคัลเจอร์ นำมาใช้คือ “โดรนปัญญา” โดรนที่ผลิตโดยฝีมือคนไทย บริษัท เอส.เอ.ที.ไอ. แพลตฟอร์ม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทพันมิตรทางธุรกิจ และเป็นผลงานของ นายจตุพงศ์ โตวรรธกวณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เอส.เอ.ที.ไอ. แพลตฟอร์ม ที่ได้ประดิษฐ์โดรนเพื่อการเกษตรขึ้น เพื่อแก้ปัญหาในด้านแรงงานที่ใช้ทำการเกษตร


“โดรนปัญญานั้นยังผลิตในประเทศไทย ซึ่งมีราคาถูกกว่าโดรนนำเข้าจากต่างประเทศ ช่วยลดต้นทุนให้กับเกษตรได้อย่างมาก การใช้โดรนจึงตอบโจทย์ปัญหาการขาดแรงงานด้านการเกษตรได้อย่างตรงจุด เพราะการทำงานของโดรนนั้นมีรัศมีการทำงานที่กว้างขวาง ใช้คนในการทำงานเพียงแค่ 1 – 2 คน”




โดรนสามารถบินทำงานได้ทุกพื้นที่เพาะปลูก

สำหรับขั้นตอนในการบินโดรนเพื่อทำงานนั้น เริ่มต้นจากสำรวจวัสดุอุปกรณ์โดรนที่จะใช้บิน ตรวจสอบใบพัด ตรวจสอบแบตเตอรี จากนั้นก็ขึ้นบินตามวัตถุประสงค์ที่เราจะใช้งาน เช่น การใช้โดรนสำหรับพ่นปุ๋ย ก็นำปุ๋ยเติมใส่ภาชนะสำหรับบรรจุที่ติดตั้งอยู่ใต้โดรน หลังจากนั้นก็ออกคำสั่งบินจากรีโมทบังคับ เพื่อให้โดรนบินไปพ่นปุ๋ยในพื้นที่เพาะปลูกที่ต้องการที่มีการกำหนดพิกัดไว้


นางปณิศการอธิบายว่า การพ่นปุ๋ยจากโดรนนั้นจะให้ความสม่ำเสมอ มากกว่าเครื่องพ่นที่ใช้แรงงานคนในการเดินพ่น และยังสามารถใช้ในแปลงเพาะปลูกที่มีขนาดใหญ่ได้อย่างสบาย ไม่ต้องใช้คนเดินไปไกลๆ เพื่อไปใส่ปุ๋ย จากเมื่อก่อนการพ่นยา 100 ไร่ใช้เวลาหลายวัน แต่หากใช้โดรน 1 วันก็สามารถทำเสร็จได้ และยังไม่ต้องเสียเวลาในการไปเฝ้าคนงาน


“นอกจากการพ่นปุ๋ยแล้ว ก็ยังนำโดรนมาใช้พ่นสารอื่นๆ ที่ใช้ในการเกษตรได้อีกด้วย เดี๋ยวนี้เราจะเห็นข่าวผลข้างเคียงจากสารเคมี จึงทำให้แรงงานรับจ้างพ่นปุ๋ย พ่นสารกำจัดศัตรูพืช พ่นฮอร์โมน หรือสารอื่นๆ ด้านการเกษตรนั้นมีน้อยลง เพราะกลัวจะได้รับอันตรายจากสารเคมี การทำการเกษตรที่ยังต้องใช้แรงงานคนเลยได้รับผลกระทบในเรื่องนี้”


นางปณิศการกล่าวว่า หากนำโดรนมาใช้งาน ก็จะไม่ต้องพบกับปัญหาในเรื่องนี้ เพราะโดรนช่วยลดการสัมผัสกับสารเคมีของเกษตรกรในระหว่างการพ่น อีกทั้งยังสามารถทำได้ทุกช่วงเวลา เพราะเทคโนโลยีโดรนสมัยนี้ก้าวล้ำมาก บางรุ่นมีการติดตั้งไฟส่องสว่างและกล้อง สามารถบินได้แม้ในเวลากลางคืน


“อย่างการพ่นยากำจัดศัตรูพืชที่จะทำกันในช่วงโพล้เพล้ เนื่องจากแมลงจะออกบินในช่วงเวลานั้น เราก็ใช้โดรนบินได้เลย ไม่ต้องให้คนมาเดินในช่วงมืดๆ ซึ่งอาจเกิดอันตรายได้ และยังสามารถดูภาพจากกล้องที่ติดตั้งบนโดรน ในโทรศัพท์มือถือที่เชื่อมต่อไว้ได้อีกด้วย” นางปณิศการ กล่าวเสริม ในเรื่องข้อดีในการใช้โดรนเพื่อการเกษตร


ด้วยรัศมีการทำงานที่กว้างขวาง ช่วยลดค่าใช้จ่ายในด้านแรงงาน และประหยัดเวลาในการทำงาน “โดรนเพื่อการเกษตร” จึงเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่น่าสนใจสำหรับเกษตรกรยุคใหม่ ที่ช่วยควบคุมปัจจัยการผลิต ทำให้บรรดาเกษตรกรใช้ต้นทุนทรัพยากรน้อยที่สุด แต่ได้ผลผลิตทั้งปริมาณและคุณภาพมากที่สุด จนกลายเป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ เกษตรแบบอัจฉริยะที่ตอบโจทย์ด้านการเกษตรได้ทุกด้าน

การพ่นสม่ำเสมอ

นางปณิศการ บุญศิริ  (ซ้าย) หนึ่งในผู้ที่นำโดรนมาใช้ในการเกษตร

โดรนปัญญา โดรนเพื่อการเกษตรโดยฝีมือคนไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น