xs
xsm
sm
md
lg

เครื่องแจ๊คการ์ดทอผ้า “ลายยกดอก” ลดแรง ประหยัดเวลา

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ อริยะเครือ ผู้ประดิษฐ์ “เครื่องทอผ้าแบบยกดอกพิเศษด้วยเครื่องแจ๊คการ์ด”

“ผ้าทอมือ” เป็นภูมิปัญญาของไทยที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน นอกจากคุณภาพของเนื้อผ้าที่นำมาทอแล้ว “ลายผ้า” ก็ถือเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ผ้าทอมีความงดงามยิ่งขึ้นไปอีก เช่น ผ้าทอลายยกดอก ผ้าทอลายเครือน้อย ผ้าทอลายลายน้ำอ่าง


ขั้นตอนการถักทอแต่ละลายผ้านั้นต้องใช้ความชำนาญเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะ “ผ้าลายยกดอก” ที่ใช้เวลาในการถักทอแต่ละผืนนั้นยาวนานมาก เพราะต้องใช้ทั้งความรู้ที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ผสมผสานกับความอดทนและกำลังคน จนได้ผ้าทอลายยกดอกอันงดงาม


ปัจจุบันมีผู้คนมากมายหันมาให้ความสนใจผ้าทอลายยกดอกมากขึ้น แต่การทอลายในรูปแบบเดิมนั้นต้องใช้กำลังคนมากและใช้ระยะเวลานาน ทำให้ทอผ้าได้ไม่ทันต่อความต้องการของตลาด ด้วยเหตุผลนี้จึงทำให้ ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ อริยะเครือ คณะอุตสาหกรรมสิ่งทอและออกแบบแฟชั่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร กรุงเทพฯ จึงพัฒนาเทคโนโลยีช่วยชาวบ้านทอผ้ายกดอกได้เร็วขึ้น และช่วยลดแรงงานในการทอผ้า


ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ได้ประดิษฐ์ “เครื่องทอผ้าแบบยกดอกพิเศษด้วยเครื่องแจ๊คการ์ด” ซึ่งเป็น 1 ใน 12 งานวิจัยที่ได้รางวัล “ผลงานวิจัยและนวัตกรรมดีเด่น 60 ปี” จาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในด้านผลงานวิจัยและนวัตกรรม ด้านการพัฒนาชุมชนและพื้นที่ และทำให้การทอผ้าลายยกดอกกลายเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น และช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้ประกอบอาชีพทอผ้า


ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ เล่าถึงแรงบันดาลใจในการประดิษฐ์เครื่องทอผ้าแบบยกดอกพิเศษด้วยเครื่องแจ๊คการ์ดว่า “ผ้าทอลายยกดอก” เป็นอีกหนึ่งลายผ้าไทยที่งดงามและได้รับความนิยมในทุกยุคทุกสมัย แต่น้อยคนนักจะรู้ว่าการทอผ้าลายยกดอกต้องใช้ความชำนาญเป็นอย่างมาก และยังต้องใช้กำลังคนจำนวนมากอีกด้วย


“การทอลายยกดอกในแต่ละผืนนั้น นอกจากจะใช้ความรู้ที่สืบทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น ยังต้องใช้คนทอผ้าร่วมกันถึง 5 คน โดยละด้านของกี่หรือเครื่องทอผ้า จะมี 2 คน คือคนยกไม้และคนพุ่งกระสวยด้ายไปให้คนอีกฝั่ง อีก 1 คนเตรียมใช้เท้าเหยียบเพื่อยกตะกอสลับไปมาและกระทบไม้เพื่อทอผ้า จึงทำให้ทอผ้าได้ประมาณ 15 เซ็นติเมตรต่อวันเท่านั้น” ผศ.ดร.กิตติศักดิ์กล่าว


ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ อธิบายว่าเครื่องทอผ้าแบบยกดอกพิเศษด้วยเครื่องแจ๊คการ์ดจึงเป็นเครื่องมือที่ช่วยลดทรัพยากรในเรื่องนี้ได้อย่างมาก เครื่องนี้สามารถนำไปติดตั้งกับกี่ทอผ้าเดิมที่ชาวบ้านมีอยู่แล้วได้ โดยระบบหัวยกตะกอเครื่องทอผ้าจะเป็นแบบอัตโนมัติ สร้างลายยกดอกด้วยชุดสร้างลวดลายที่บันทึกลงในการ์ด และจะใช้เข็มสอดผ่านรูการ์ดที่บันทึกลายเชื่อมกับสปริงเป็นตัวควบคุมการ์ดลายที่เจาะรูไว้


“เครื่องแจ๊คการ์ดจะอ่านคำสั่งจากการ์ดและเครื่องทอจะยกตะกอเพื่อยกด้ายขึ้นทำให้ทอได้เป็นหน้าตับ ไม่ต้องใช้คนในการยกไม้และพุ่งกระสวยด้ายไปมา จะเหลือเพียงแค่คนกระทบไม้ ทำให้สามารถทอผ้าได้ในปริมาณมากขึ้น ประมาณวันละ 1 เมตร และนอกจากจะเป็นเครื่องมือช่วยทุ่นกำลังคนและย่นเวลาในการทอผ้าแล้ว เครื่องทอผ้าแบบยกดอกพิเศษด้วยเครื่องแจ๊คการ์ด ก็ยังเป็นเครื่องบันทึกภูมิปัญญาลายผ้ายกดอกด้วยเช่นกัน”


ทั้งนี้ ในอดีตคนทอผ้าลายยกดอกจะใช้ความรู้ที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น หลายๆ ลายถูกบันทึกไว้แค่ในความทรงจำหรือการจดบันทึก เมื่อเวลาผ่านไปคนก็ให้ความสนใจอาชีพการทอผ้าน้อยลง ทำให้ความรู้ต่างๆ ในการทอผ้าและการทำลวดลายบนผ้าค่อยๆ เลือนหายไป


“การบันทึกลวดลายยกดอกลงในชุดการ์ดที่ใช้กับเครื่องทอผ้า เป็นการบันทึกความรู้เรื่องลวดลายผ้าไปด้วยในตัว และตัวการ์ดก็เป็นวัตถุดิบจากธรรมชาติผลิตมาจากกระดาษชานอ้อยซึ่งราคาถูก จึงทำให้ชาวบ้านประหยัดต้นทุนในเรื่องต่างๆ ไปได้มาก และได้อนุรักษ์ลายผ้าที่สืบต่อกันมาได้ด้วย” ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ กล่าวเสริม


ปัจจุบันเครื่องแจ๊คการ์ดถูกนำไปใช้ในหลายๆ พื้นที่ เช่น ศูนย์วิสาหกิจชุมชนจังหวัดอยุธยา, จังหวัดสกลนคร และล่าสุดที่สหกรณ์ศูนย์ศิลปาชีพทอผ้าไหมแพรวาบ้านโพน จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ในการเป็นตัวช่วยให้ชาวบ้านทอผ้าได้รวดเร็วขึ้น ผลิตผ้าทอลายยกดอกออกจำหน่ายได้มากขึ้น สร้างรายได้ให้กับประชาชนในท้องถิ่นได้อย่างมาก

แบบจำลอง “เครื่องทอผ้าแบบยกดอกพิเศษด้วยเครื่องแจ๊คการ์ด”

การ์ดที่บันทึกลวดลาย

ลายยกดอกอันงดงาม

ผ้าทอลายยกดอก

ลายผ้าละเอียดคมชัดไม่คลาดเคลื่อน

แบบจำลองการทอผ้าโดยใช้ “เครื่องทอผ้าแบบยกดอกพิเศษด้วยเครื่องแจ๊คการ์ด”
กำลังโหลดความคิดเห็น