ส่วนใหญ่เราจะรู้จัก "ฟอร์มาลิน” เป็นสารเคมีที่ถูกใช้ทางการแพทย์เพื่อใช้ในการดองศพไม่ให้เน่าเปื่อย เป็นยาดับกลิ่นฆ่าเชื้อโรค และยังมีการใช้สารชนิดนี้ ทางด้านอุตสาหกรรมสิ่งทอเพื่อเป็นน้ำยาอาบผ้าไม่ให้ย่น แต่หลังๆ มีข่าวเรื่องการแอบใช้ฟอร์มาลีนในอาหาร
การนำฟอร์มาลินมาใช้กับอาหาร เกิดจากความไม่ตระหนักถึงอันตรายของสารชนิดนี้ โดยพบว่ามีการใช้ฟอร์มาลินในผักสด เนื้อสด และอาหารทะเล โดยอ้างว่าใช้ฆ่าแมลงได้ดี รักษาความสดใหม่ให้ยาวนานขึ้น ไม่เน่าเสียเร็ว แต่การประทำดังกล่าวเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย และเป็นอันตรายต่อผู้ที่มาซื้ออาหารสด อีกทั้งยังเป็นอันตรายต่อตัวพ่อค้าแม่ค้าเองอีกด้วย
ฟอร์มาลินนั้นเป็นพิษต่อร่างกาย หากสูดดมจะทำให้มีผลต่อระบบหายใจ คือ แสบจมูก เจ็บคอ ไอ หายใจไม่ออก และมีผลต่อระบบผิวหนัง คือ ทำให้เกิดผื่นคันในบริเวณที่สัมผัส หากกินอาหารที่ปนเปื้อนฟอร์มาลินในปริมาณมากจะมีอาการปวดหัว ปวดท้อง คอแห้ง บางคนมีอาหารรุนแรง จนรู้สึกแน่นหน้าอก หัวใจจะเต้นเร็ว ทำให้เกิดอาการเพลีย
ด้วยความห่วงใยผู้บริโภค และได้เห็นถึงอันตรายใกล้ตัวในการนำฟอร์มาลินมาใช้กับอาหาร ผศ.ดร.วรวิทย์ วงศ์นิรามัยกุล อาจารย์ประจำ คณะเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต และทีมงาน จึงได้วิจัยและประดิษฐ์ “ชุดทดสอบฟอร์มาลินในอาหาร” เพื่อเป็นอุปกรณ์ในการทดสอบหาฟอร์มาลินในอาหาร
ผศ.ดร.วรวิทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันฟอร์มาลินกลายเป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้นเนื่องจากมีการนำมาใช้กับอาหาร หากได้รับในปริมาณที่มากก็จะเป็นอันตรายต่อร่างกาย และเมื่อมีข่าวการนำมาใช้ในอาหาร ทำให้ผู้บริโภคบางคนที่จับจ่ายซื้อของสดหวาดระแวงในเรื่องนี้ เขาและทีมงานจึงได้วิจัยและประดิษฐ์ชุดทดสอบฟอร์มาลินในอาหาร เพื่อเป็นอุปกรณ์ในการทดสอบหาฟอร์มาลินในอาหาร ที่บุคคลธรรมดาทั่วไปสามารถนำไปใช้ได้แบบไม่ยุ่งยาก
อุปกรณ์ทดสอบหาฟออร์มาลินประกอบด้วย คู่มือวิธีการทดสอบ หลอดสำหรับทดสอบและที่ดูดน้ำ ส่วนวิธีการใช้อุปกรณ์เริ่มจากการฉีกซองและนำอุปกรณ์ออกมา นำของสดที่ต้องการทดสอบมาหั่นให้ได้ขนาดประมาณ 100 กรัม แล้วใส่ในภาชนะที่รองรับน้ำได้ จากนั้นเติมน้ำด้วยการตวงจากซองที่บรรจุอุปกรณ์มา ประมาณ 4 ซอง แล้วแช่อาหารไว้ประมาณ 10 นาที จากนั้นดูดน้ำเติมลงในหลอดทดลองจนถึงขีดที่ระบุไว้ข้างหลอด และปิดฝาหลอดทดลอง แล้ววางคว่ำทิ้งไว้ประมาณ 3 นาที เพื่อให้น้ำสัมผัสกับแผ่นฟิล์มที่เป็นสารทดสอบที่ถูกติดไว้กับฝาหลอด เมื่อครบกำหนดเวลาให้นำหลอดมาเขย่า และให้สังเกตดูสีของน้ำ เพื่อเทียบกับสีที่ระบุไว้หลังซองบรรจุอุปกรณ์ หากไม่พบน้ำจะเป็นสีปกติ ถ้าหากพบน้ำจะเป็นสีเหลือง และถ้ายิ่งมีสารมากขึ้นสีก็จะเหลืองมากขึ้นตามลำดับ
“สำหรับสารทดสอบที่อยู่บริเวณฝาหลอดทดสอบนั้น เป็นสารอะซิโตนที่ถูกกักไว้ในแผ่นฟิล์มแป้งมันสัมปะหลัง เมื่อได้สัมผัสน้ำแล้วก็จะละลายออกมาจนเกิดปฏิกิริยากับฟอร์มาลินที่เจือปนอยู่ในน้ำ และเปลี่ยนโครงสร้างเป็นสารที่มีสี เราจึงสังเกตได้จากสีของน้ำเปลี่ยนไป หากมีฟอร์มาลินเจอปนมากสีก็จะเข้มขึ้นตามลำดับ และสารที่นำมาใช้นี้ได้มีการวิจัยแล้วว่าปลอดภัยต่อผู้ใช้ พร้อมคำนึงถึงการสลายของสารในธรรมชาติ ไม่ทำให้เกิดสารตกค้างในสิ่งแวดล้อม อุปกรณ์ชิ้นนี้จึงเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และยังได้มีการนำไปทดลองใช้ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พร้อมกับเปรียบเทียบกับวิธีมาตราฐานในปัจจุบัน ผลที่ได้นั้นก็ออกมาไม่แตกต่างกัน จึงเป็นสิ่งยืนยันว่าอุปกรณ์นั้นมีประสิทธิภาพ ” ผศ.ดร.วรวิทย์ กล่าวเสริม
“ชุดทดสอบฟอร์มาลินในอาหาร” ยังเป็น 1 ใน 177 ผลงาน ที่จัดแสดงใน “'งานประกวดผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปีงบประมาณ 2563” โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) นับเป็นอุปกรณ์ที่น่าสนใจ และเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยคลายกังวลในเรื่องการเจือปนของฟอร์มาลินในอาหารสด เพราะสามารถใช้ทดสอบได้ง่ายๆ ใช้เวลาไม่มาก ทำให้คนทั่วไปสามารถรู้ได้ว่าอาหารจากร้านไหนมีฟอร์มาลินเจอปนอยู่ เพื่อหลีกเลี่ยงการซื้อจากร้านนั้น เป็นการรักษาสุขภาพทางอ้อมไปในตัวได้อีกด้วย