กรมอนามัยแจงศูนย์อาหารใช้ หม้อหุงข้าวลวกช้อนส้อม ความร้อนไม่ถึง 80-90 องศาเซลเซียส เชื้อไม่ตาย ไม่เปลี่ยนน้ำยิ่งเสี่ยงรวมเชื้อโรค ไม่ควรใช้หม้อหุงข้าวเคลือบผิวด้วยเทฟลอน เซรามิก เสี่ยงรับสารโลหะหนัก
วันนี้ (14 พ.ย.) นพ.ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงกรณีกระแสข่าวน้ำร้อนในหม้อหุงข้าวตาม food court ซึ่งมีอุณหภูมิแค่ 40-50 องศา ไม่สามารถฆ่าเชื้อโรคได้ แถมเป็นการเพิ่มจำนวนเชื้อโรค เพราะไม่มีการเปลี่ยนน้ำ เชื้อโรคที่ทนต่อความร้อนก็จะยิ่งรวมตัว ว่า ความจริงแล้ว กระบวนการที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้ภาชนะสะอาดปลอดภัย คือ การล้างที่ถูกหลักสุขาภิบาล ซึ่งเป็นวิธีการที่ต้องให้ความสำคัญที่สุด โดยเฉพาะขั้นตอนการล้างทำความสะอาดและการผึ่งให้แห้งสนิท 3 ขั้นตอน คือ 1.ขจัดเศษอาหารและล้างด้วยน้ำผสมน้ำยาล้างจาน 2.ล้างด้วยน้ำสะอาดอย่างน้อย 2 ครั้ง และ 3.ฆ่าเชื้อโรคด้วยการทำให้แห้งโดยตากแดดหรืออบด้วยความร้อน
นพ.ดนัย กล่าวว่า สำหรับวิธีสังเกตความสะอาดของช้อน ส้อมและภาชนะต่างๆ ผู้บริโภคสามารถทำได้ ดังนี้ 1.ต้องทำจากวัสดุที่ไม่เป็นพิษ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รูปทรงทำความสะอาดง่าย ทนทานไม่แตกหักง่าย ใช้ถูกประเภทอาหาร 2.เมื่อล้างสะอาดแล้วเก็บคว่ำให้แห้ง และ 3.เก็บให้เป็นระเบียบ วางช้อนนอนเรียงเป็นทางเดียวในภาชนะโปร่งสะอาดหรือวางตั้งเอาด้ามขึ้นในภาชนะโปร่งสะอาดและมีการปกปิด เก็บสูงจากพื้นอย่างน้อย 60 เซนติเมตร
“หากจำเป็นต้องใช้หม้อสำหรับลวกช้อนส้อม ควรเลือกใช้อุปกรณ์หรือหม้อสำหรับลวกช้อนส้อม ที่มีปรับตั้งอุณหภูมิไม่น้อยกว่า 80-90 องศาเซลเซียส อย่างน้อย 4 นาที มีการดูแลเปลี่ยนถ่ายน้ำและให้ผู้ใช้หยิบแช่เอง ไม่ควรใช้หม้อหุงข้าวประเภทที่เคลือบผิวภาชนะด้วยเทฟลอน เซรามิก เพราะอาจเสี่ยงต่อสารโลหะจำพวกตะกั่วและโครเมียม อุปกรณ์ลวกช้อน ควรออกแบบมาโดยเฉพาะทำด้วยสแตนเลส สามารถตั้งอุณหภูมิได้ตามกำหนด และมีการป้องกันไฟฟ้ารั่ว ดูด ไม่ควรเลือกภาชนะที่มีลวดลายหรือมีสีทา เพราะอาจมีส่วนผสมของตะกั่ว ซึ่งสามารถสลายตัวได้เมื่อถูกความร้อน ส่วนเครื่องต้มน้ำไฟฟ้าแบบขั้วเปลือยซึ่งไม่ผ่านมาตรฐาน มอก. ไม่ควรนำมาใช้ เพราะเป็นอุปกรณ์ที่อันตรายตามคำสั่งของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 06/2529” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว