นักวิทยาศาสตร์พบอีก กุญแจไขปริศนาสัตว์ดึกดำบรรพ์ วิวัฒนาการจากปลาขึ้นบก เผยฟอสซิลสัตว์สี่ขายุคดีโวเนียนในอดีตที่ขุดพบจากแอฟริกาใต้ บ่งบอกสัตว์ดึกดำบรรพ์วิวัฒนาการจากปลาขึ้นสู่บกจากทั่วโลก ไม่จำกัดแค่พื้นที่ในแถบเส้นศูนย์สูตร
วิวัฒนาการของสัตว์ดึกดำบรรพ์จากปลามาเป็นสัตว์มีกระดูกสันหลังสี่ขา หรือเตตระพอด (tetrapods) นั้น เป็นเหตุการณ์สำคัญ เพราะสัตว์เตตระพอดน้ำ หรือสัตว์สะเทินสะเทินบกชุดแรกที่วิวัฒนาการขึ้นมาอยู่บนบกนั้นเป็นบรรพบุรุษของสัตว์มีกระดูกสันหลังทั้งหมด
นักวิทยาศาสตร์เชื่อมานานว่า วิวัฒนาการดังกล่าวเกิดขึ้นในทวีปลอราเซีย (Laurasia ซึ่งเป็นทวีปขนาดเล็กกว่า ในยุคดีโวเนียนเมื่อหลายร้อยล้านปีก่อนที่โลกแบ่งเป็น 2 ทวีปใหญ่) โดยปัจจุบันพื้นที่ของทวีปดังกล่าวคืออเมริกาเหนือ กรีนแลนด์ และยุโรป
เอเอฟพีรายงานว่า นักวิทยาศาสตร์ค้นพบฟอสซิลเตตระพอด 2 ชนิด คือ ตูตูเซียส อัมแลมโบ (Tutusius umlambo) และ อัมแทนเชีย อะเมซานา (Umzantsia amazana) ที่ชายฝั่งเมืองอีสเทิร์นเคป (Eastern Cape) ของประเทศแอฟริกาใต้ใกล้ๆ กับขั้วโลกใต้
การค้นพบล่าสุดบ่งบอกว่า สัตว์สี่ขานี้กระจายอยู่ทั่วโลกตั้งแต่เริ่มวิวัฒนาการแล้ว ขัดกับความเห็นเดิมที่ว่าเตตระพอดน้ำที่อพยพขึ้นมาสร้างอาณาจักรบนบกครั้งแรกนั้น มีวิวัฒนาการอยู่ในแถบศูนย์สูตรที่อบอุ่น
ดร.โรเบิร์ต เกสส์ (Dr Robert Gess) หนึ่งในหัวหน้าทีมวิจัยบอกเอเอฟพีว่า ตอนนี้เรามีหลักฐานของเตเตระพอดยุคดีโวเนียนที่พบแถวปลายทวีปกอนด์วานา (Gondwana) หรือเทียบกับปัจจุบันคือแถวๆ ขั้วโลกใต้ ในวงกลมแอนตาร์ติก (Antarctic Circle) ซึ่งฟอสซิลเหล่านั้นก็คือบรรพบุรุษของเรา
กอนด์วานาเป็นทวีปใหญ่กว่าลอราเซียในยุคนั้น พื้นที่ในปัจจุบันที่เคยเป็นทวีปกอนด์วานา คือ แอฟริกา อเมริกาใต้ ออสเตรเลีย แอนตาร์กติกาและอินเดีย
แม้ว่าฟอสซิลที่พบจะไม่สมบูรณ์ แต่นักวิทยาศาสตร์เผยว่าเมื่อครั้งมีชีวิตอยู่สิ่งมีชีวิตเหล่านี้มีลักษณะผสมผสานระหว่างจระเข้และปลา โดยมีหัวและแขนขาที่เทอะทะเหมือนจระเข้ แต่ก็มีครีบเหมือนปลา
ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์เคยพบและศึกษาฟอสซิลเตตระพอด 12 ตัวอย่าง ซึ่งทั้งหมดเป็นฟอสซิลในแถบศูนย์สูตรของยุคดีโวเนียน คือ พบในบริเวณ 30 องศาเหนือ และใต้จากเส้นศูนย์สูตร โดยเกือบทั้งหมดนั้น (ยกเว้นสองตัวอย่าง) พบในพื้นที่เคยเป็นทวีปลอราเซียมาก่อน และมีเพียงกรามเตตระพอด 1 กรามที่พบว่ามาจากกอนด์วานา โดยพบที่ออสเตรเลียตะวันออก หรือยุคนั้นคือตอนเหนือทางชายฝั่งแถบศูนย์สูตรของทวีปกอนด์วานา
หลักฐานที่พบก่อนหน้านั้นนำไปสู่ข้อสันนิษฐานว่า เตตระพอดวิวัฒนาการขึ้นแถวๆ แถบศูนย์สูตร หรือมีกำเนิดที่แถบศูนย์สูตร แล้วอพยพขึ้นบกสู่สิ่งแวดล้อมของเขตร้อน ด้วยปัจจัยของทะเลสาบเขตร้อนในยุคดีโวเนียนและสภาพน้ำกร่อยในยุคนั้น น่าจะเป็นกุญแจไขถึงสาเหตุให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่วิวัฒนาการครั้งใหญ่
“ตอนนี้เราก็ทราบว่าในช่วงปลายยุคดีโวเนียนนั้นเตตระพอดอาศัยอยู่ทั่วโลก ตั้งแต่แถบศูนย์สูตรไปจนถึงวงกลมแอนตาร์กติก ดังนั้น เป็นไปได้ว่าพวกเขาอาจจะมีจุดกำเนิดที่ส่วนไหนของโลกก็ได้ และยังอพยพย้ายขึ้นไปส่วนไหนของพื้นดินก็ได้ ซึ่งมีความเป็นไปได้ค่อนข้างหลากหลายมากจริงๆ” เกสส์ระบุ
ฟอสซิลที่ค้นพบหลังสุดนี้ สนับสนุนแนวคิดว่าการยกพลขึ้นของสัตว์ดึกดำบรรพ์ 4 ขานั้นเกิดขึ้นที่ใดบนโลกก็ได้
สำหรับฟอสซิล ตูตูเซียส อัมแลมโบ ที่ยาวประมาณเมตรนั้นตั้งชื่อตาม อัครมุขนายกกิตติคุณ เดสมุนด์ ตูตู (Archbishop Emeritus Desmond Tutu) ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ
เกสส์อธิบายว่า เมื่อต้องตั้งชื่อสัตว์ดึกดำบรรพ์ดังกล่าว ชื่อของอัครมุขนายกกิตติคุณ เดสมุนด์ ตูตู ก็ผุดขึ้นมาในใจ นั่นเป็นเพราะสัตว์ดึกดำบรรพ์ชนิดนี้ได้บุกเบิกเส้นทางให้แก่บรรพบุรุษของเรา โดยหันหลังให้โลกใต้น้ำที่ไม่อาจหายใจได้และเต็มไปด้วยอันตราย สู่ดินแดนที่อบอุ่นด้วยแสงแดดและอนาคตใหม่
สำหรับการศึกษาครั้งนี้นำโดยมหาวิทยาลัยแห่งวิทวอเตอร์สแรนด์ (University of the Witwatersrand) ของแอฟริกาใต้ และมหาวิทยาลัยอัปซาลา (Uppsala University) ของสวีเดน
รายงานระบุด้วยว่า แอฟริกาใต้นั้นเป็นแหล่งข้อมูลของวิวัฒนาการมนุษย์ที่ค่อนข้างครบมากที่สุดในโลก อีกทั้งยังเป็นดินแดนของ Cradle of Humankind ซึ่งเป็นแหล่งสำรวจมนุษย์โฮโม (hominin) ที่สมบูรณ์ที่สุดในโลก อีกทั้งยังเป็นถิ่นของฟอสซิลมนุษย์ที่โลกรู้จักมากถึง 40%