xs
xsm
sm
md
lg

กรมอุตุฯ ยันไทยไม่เกิด “ฮีตเวฟ” แม้อุณหภูมิสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมอุตุนิยมวิทยา ชี้แจงเรื่องการเกิดคลื่นความร้อน หรือ ฮีตเวฟ บริเวณประเทศไทย ในช่วงวันที่ 20 - 22 มี.ค. นี้ เนื่องจากเกิดปรากฏการณ์อีควิน็อกซ์ ทำให้อุณหภูมิจะสูงกว่า 40 องศาเซลเซียสต่อเนื่องหลายวัน ส่งผลให้เกิดโรค “ลมแดด หรือ ฮีตสโตรก” ซึ่งมีอันตรายต่อสุขภาพจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ นั้น ข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริง และไม่ได้มีที่มาจากกรมอุตุนิยมวิทยาของประเทศต่างๆ ข้างต้นแต่อย่างใด

วานนี้ (13 มี.ค.) สำนักพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ชี้แจงข่าวลือเรื่องคลื่นความร้อน หรือ ฮีตเวฟ (Heat Wave) บริเวณประเทศไทย ตามที่มีการส่งต่อข้อมูลผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ระบุว่า ในช่วงวันที่ 20 - 22 มีนาคมนี้ จะเกิดคลื่นความร้อน หรือ ฮีตเวฟ (Heat Wave) บริเวณประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ และ ประเทศไทย เนื่องจากเกิดปรากฏการณ์อีควิน็อกซ์ (Equinox) ทำให้อุณหภูมิจะสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส ต่อเนื่องหลายวัน ส่งผลให้เกิดโรค “ลมแดด หรือ ฮีตสโตรก” ซึ่งมีอันตรายต่อสุขภาพจนถึงขั้นเสียชีวิตได้”

กรมอุตุนิยมวิทยา ขอยืนยันว่า ข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริง และไม่ได้มีที่มาจากกรมอุตุนิยมวิทยาของประเทศต่างๆ ข้างต้นแต่อย่างใด

ส่วนข้อเท็จจริง คือ ปรากฏการณ์ “อีควิน็อกซ์” (Equinox) เป็นวันที่ดวงอาทิตย์อยู่ในตำแหน่งตั้งฉากกับบริเวณเส้นศูนย์สูตรพอดี ทำให้ช่วงเวลากลางวันเท่ากับกลางคืน และจะเกิดขึ้นวันที่ 20 หรือ 21 มีนาคม ของทุกๆ ปี และไม่ได้เป็นสาเหตุทำให้เกิดคลื่นความร้อน หรือ ฮีตเวฟ แต่อย่างใด และในช่วงวันดังกล่าวของปีนี้ บริเวณประเทศไทยไม่ได้มีอากาศร้อนจัด เนื่องจากคาดการณ์ว่า ระหว่างวันที่ 14 - 19 มีนาคมนี้ จะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น ส่งผลให้อากาศคลายความร้อนลง ส่วนช่วงที่ร้อนที่สุดของประเทศไทย คาดว่า จะเกิดขึ้นประมาณปลายเดือนเมษายน ถึงต้นเดือนพฤษภาคม เหมือนทุกๆ ปี และปีนี้จะไม่ร้อนมากกว่าปี พ.ศ. 2559 ที่ผ่านมา

กรมอุตุนิยมวิทยา ชี้แจงอีกว่า สำหรับคลื่นความร้อนนั้น จะเกิดขึ้นเมื่ออุณหภูมิสูงสุดประจำวันสูงกว่าค่าปกติ โดยเฉลี่ยมากกว่า 5 องศาเซลเซียส ติดต่อกันเกินกว่า 5 วันขึ้นไป ขณะที่ในส่วนของประเทศไทยจะไม่มีคลื่นความร้อนเกิดขึ้น แม้ว่าอุณหภูมิในตอนกลางวันจะสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส แต่โดยเฉลี่ยแล้วจะสูงไม่เกินค่าปกติมากนัก และในช่วงกลางคืนถึงช่วงเช้า อากาศจะคลายความร้อนลง ทำให้ไม่ร้อนอบอ้าวตลอดทั้งวัน

ส่วนกรณีของโรคลมแดด หรือ ฮีตสโตรกนั้น สามารถเกิดขึ้นได้ในช่วงที่มีอากาศร้อนจัด ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อผู้ป่วย ผู้สูงวัย เด็ก ผู้ที่ทำงานหรือประกอบกิจกรรมกลางแจ้ง จึงขอให้กลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ดูแลรักษาสุขภาพ รวมถึงประชาชนทั่วไป ควรหลีกเลี่ยงอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน และควรดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ

ทั้งนี้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนพยากรณ์อากาศ 1182 และหมายเลขโทรศัพท์ 0 2399 4012-3
กำลังโหลดความคิดเห็น