กระแส “ออเจ้า” มาแรงจนเกิดกระแสสนใจและขวนขวายประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะช่วงรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชมากขึ้น “ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์” ขอแนะนำหนังสือที่จะช่วยเติมเต็มประวัติศาสตร์ด้านดาราศาสตร์ใน “ยุคขุนหลวง” ที่คณะเยสุอิตเข้ามาอยุธยาไม่ใช่เพียงเพื่อแพร่ศาสนาเท่านั้น แต่ยังเข้ามาเก็บข้อมูลปรากฏการณ์บนท้องฟ้ากลับกรุงปารีสด้วย
หนังสือ “สมเด็จพระนารายณ์มหาราช : พระมหากษัตริย์ผู้สนพระทัยและองค์อุปถัมป์การศึกษาดาราศาสตร์ตะวันตกในสยามพระองค์แรก” เขียนโดย ภูธร ภูมะธน นักศึกษาประวัติศาสตร์สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เผยถึงความรุ่งเรืองของการศึกษาดาราศาสตร์ที่ได้ๆ รับความอุปถัมภ์จากสมเด็จพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 และได้แผ่มายังราชอาณาจักรสยามพร้อมๆ การเยือนของคณะเยสุอิต
สมเด็จพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงสนับสนุนการวิจัยดาราศาสตร์เพื่อวิทยาการใหม่ โดยเฉพาะการทำแผนที่โลกที่ถูกต้อง และการทำเส้นแวง หรือลองจิจูด (longitude) ของโลก ซึ่งปรากฏหลักฐานว่าคณะเยสุอิตได้เก็บรวบรวมข้อมูลอุปราคาในสยามหลายครั้งเพื่อทำแผนที่โลกที่ถูกต้องซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการเดินเรือที่สมบูรณ์และปลอดภัย
เมื่อ พ.ศ. 2225 บาทหลวงเยสุอิตชาวฝรั่งเศสได้สังเกตและรายงานปรากฏการณ์จันทรุปราคาที่เกิดขึ้นเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ โดยรายงานปรากฏการณ์ครั้งนั้น บาทหลวงโตมาส (le P.Thomas) ได้ตีพิมพ์เผยแพร่พร้อมกับสังเกตการณ์โดยนักดาราศาสตร์ยุโรปที่สำคัญหลายคน เช่น โรเมอร์ (Romer) จากกรุงโคเปนเฮเกน ฮัลเลย์ (Halley) และแคสสินี (Cassini) จากกรุงปารีส
ทั้งนี้ สันนิษฐานว่าสมเด็จพระนารายณ์มหาราชน่าจะเริ่มสนพระทัยในดาราศาสตร์ตะวันตกเมื่อ พ.ศ. 2228 เมื่อครั้งราชทูตฝรั่งเศส เชวาเลีย เดอ โชมอง (Chevalier de Chaumont) นำคณะเยสุอิตนักคณิตศาสตร์ 6 คนเข้าเฝ้าฯ พระองค์ ทั้งที่พระนครศรีอยุธยา และเมืองลพบุรี ซึ่งบาทหลวงเยสุอิตคณะนี้มาพักที่สยามก่อนเดินทางไปปฏิบัติงานต่อที่จีน
ระหว่างบาทหลวงเยสุอิตคณะนี้พักที่สยาม พวกเขาได้ใช้เวลาว่างศึกษาดาราศาสตร์ รวมถึงสังเกตปรากฏการณ์จันทรุปราคาเมื่อ 11 ธ.ค. 2228 ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์ฯ ได้เสด็จทอดพระเนตรที่พระตำหนัก ณ ทะเลชุบศร เมืองลพบุรี โดยมีผู้ศึกษาพบว่าคณะเยสุอิตสังเกตปรากฏการณ์นี้เพื่อกำหนดเส้นแวงของเมืองลพบุรี เทียบกับกรุงปารีสของฝรั่งเศส
สมเด็จพระนารายณ์ฯ ยังมีพระราชประสงค์ให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 โปรดส่งบาทหลวงเยสุอิตนักคณิตศาสตร์ 12 คน มาประจำที่สยาม เหมือนที่โปรดส่งบาทหลวงเยสุอิตนักคณิตศาสตร์ 6 คนไปจีน โดยทางสยามจะเตรียมก่อสร้างหอดูดาวแบบเดียวกับที่กรุงปารีส และปักกิ่ง พร้อมที่พักบาทหลวง และโบสถ์ฝรั่งที่เมืองลพบุรี และพระนครศรีอยุธยา
แนวคิดให้บาทหลวงนักคณิตศาสตร์มาประจำที่กรุงสยามนี้ มีออกญาวิไชเยนทร์เป็นคนสำคัญในการผลักดัน และได้รับการสนับสนุนจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราชอย่างเต็มที่ และราชสำนักสยามได้ขอให้บาทหลวงตาชารด์ (Pere Tachard) ไปเจรจากับราชสำนักฝรั่งเศส แทนการเดินทางต่อไปยังจีนพร้อมคณะเยสุอิตคนอื่นๆ
สมเด็จพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ได้แต่งตั้ง “นักคณิตศาสตร์ในพระบาทมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแห่งฝรั่งเศส” (Mathematician of the King of France) 12 คน ซึ่งเดินทางมาถึงสยามเมื่อเดือน ต.ค. 2230 พร้อมราชทูตพิเศษ ม.เดอ ลาลูแบร์ (Simon de la Loubere) และ ม.เดอ เซเบเรต์ (Ceberet)
สำหรับหอดูดาวที่สร้างไว้ต้อนรับคณะบาทหลวงนักคณิตศาสตร์ที่ลพบุรีนั้นมีชื่อว่าวิทยาลัยแห่งลพบุรี และหนึ่งในคณะบาทหลวงนักคณิตศาสตร์ได้นำกล้องโทรทรรศน์ความยาว 12 ฟุต มาติดที่หอดูดาวดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ “วัดสันเปาโล” โดยคาดว่าน่าจะเพี้ยนมาจาก “ซางโตเปาโล” ซึ่งเป็นชื่อที่ได้จากวัดของคณะเยสุอิตที่หมู่บ้านโปรตุเกสในพระนครศรีอยุธยา
คาดว่าหอดูดาวสันเปาโลนี้สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2230 และถูกทิ้งร้างหลังพระเพทราชายึดอำนาจสมเด็จพระนารายณ์ฯ เมื่อเดือน พ.ค. 2231 และก่อนที่สมเด็จพระนารายณ์ฯ จะสวรรคตเมื่อ 11 ก.ค. 2231
ก่อนสวรรคต สมเด็จพระนารายณ์ทรงสังเกตปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วนร่วมกับคณะเยสุอิตนักคณิตศาสตร์ เมื่อ 30 เม.ย. 2231 ที่พระราชวังเมืองลพบุรี โดยภาพประวัติศาสตร์ที่บันทึกเหตุการณ์ครั้งนั้นยังมีภาพพระเพทราชาที่ก้มสังเกตปรากฏการณ์ด้วยกล้องโทรทรรศน์ยาว 12 ฟุต
ภายในหนังสือสมเด็จพระนารายณ์ฯ ยังมีภาพเหตุการณ์ทางดาราศาสตร์ที่สำคัญต่อสยาม เช่น ภาพเหตุการณ์สำคัญทางการทูตเมื่อครั้งราชทูตฝรั่งเศส เชวาเลีย เดอ โชมง ทูลเกล้าฯ ถวายสาส์นของสมเด็จพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แด่สมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อ 18 ต.ค. 2228 ภาพแผนที่ในสมัยอยุธยา ภาพบาทหลวงที่มีบทบาทต่อดาราศาสตร์ตะวันตกในสยาม
หนังสือสมเด็จพระนารายณ์ฯ เป็นหนึ่งในหนังสือชุดพระมหากษัตริย์กับดาราศาสตร์ไทย ที่จัดพิมพ์โดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. โดยจำหน่ายเป็นชุด ชุดละ 750 บาท