"บุพเพสันนิวาส" ลาจอแล้วหนาออเจ้า แต่ฉาก "ขุนหลวง" มองฟ้าเห็นดาวระยิบระยับ แลกล้องโทรทรรศน์ที่วางคู่พระวรกายนั้น ติดตาตรึงใจแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ยิ่งนัก จึงรีบค้นข้อมูลปรากฏการณ์บนฟากฟ้าครั้งสำคัญมาบอกกล่าว
ในยุคสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้นมีปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่มีความหมายต่อประวัติศาสตร์ 2 ครั้ง ครั้งแรกคือปรากฏการณ์จันทรุปราคาเมื่อวันที่ 11 ธ.ค.2228 ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์ฯ ได้เสด็จทอดพระเนตรที่พระตำหนัก ณ ทะเลชุบศร เมืองลพบุรี
ปรากฏการณ์จันทรุปราคาครั้งนั้นคณะเยสุอิตนักคณิตศาสตร์จากฝรั่งเศสได้สังเกตและจดบันทึกเพื่อนำข้อมูลไปวิเคราะห์เพื่อกำหนดเส้นแวงของเมืองลพบุรี เทียบกับกรุงปารีสของฝรั่งเศส โดยมีเป้าหมายเพื่อการสร้างแผนที่ที่มีความแม่นยำ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการเดินเรือเพื่อการค้า
คณะเยสุอิตชุดดังกล่าวมี 6 คน และมีเป้าหมายเดินทางต่อไปประจำการที่เมืองจีน แต่ได้พักระหว่างทางที่สยาม และได้เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระนารายณ์ฯ ทั้งที่อยุธยาและลพบุรี โดยมีราชทูตฝรั่งเศส เชวาเลีย เดอ โชมอง (Chevalier de Chaumont) นำเข้าเฝ้า
อีกปรากฏการณ์ที่สำคัญคือปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วน เมื่อ 30 เม.ย.2231 ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์ทรงสังเกตพร้อมคณะเยสุอิตที่พระราชวังเมืองลพบุรี และภาพประวัติศาสตร์ที่บันทึกไว้นั้นมีพระเพทราชา และออกญาวิไชเยนทร์ร่วมสังเกตการณ์ด้วย
หลังเสด็จทอดพระเนตรสุริยุปราคาบางส่วนได้ประมาณ 2 เดือน สมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้สวรรคตเมื่อ 11 ก.ค.2231 และก่อนหน้านั้นในเดือน พ.ค.2231 พระเพทราชาได้ยึดพระราชอำนาจและปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ต่อจากพระองค์
ภาพปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่สมเด็จพระนารายณ์ฯ ได้ทรงร่วมสังเกตการณ์นั้นได้รับการบันทึกและเผยแพร่โดยชาวตะวันตก สำหรับต้นฉบับภาพเสด็จทอดพระเนตรจันทรุปราคานั้นเป็นสมบัติของหอสมุดแห่งชาติฝรั่งเศส และมีพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือ Ombres Siamoises ที่เขียนโดย Morgan Sportes และตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ.2537
ส่วนภาพสมเด็จพระนารายณ์ฯ เสด็จทอดพระเนตรสุริยุปราคาบางส่วนนั้น เป็นภาพวาดสีน้ำที่เข้าใจว่าน่าจะวาดในช่วงเวลาร่วมสมัยกับเหตุการณ์ และมีคำบรรยายภาพที่อธิบายถึงการทำงานของคณะเยสุอิตที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 โปรดส่งมายังดินแดนอินเดียตะวันออก สถานที่สังเกตการณ์ที่ลพบุรี ที่ประทับของพระมหากษัตริย์บนเก้าอี้ที่สีหบัญชรของท้องพระโรงใหญ่ของพระที่นั่ง
ภาพสีน้ำนี้ยังบันทึกว่ามีผู้ร่วมสังเกตอย่าง ม.กงสต็องส์ หรือออกญาวิไชเยนทร์ และพระเพทราชาซึ่งอยู่ใกล้กล้องโทรทรรศน์สำหรับสังเกตปรากฏการณ์รวมอยู่ด้วย โดยบาทหลวงปูโช (Pouchot) ได้มอบภาพดังกล่าวให้แก่หอสมุดแห่งชาติฝรั่งเศสเมื่อปี พ.ศ.2305
ติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับดาราศาสตร์ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ฯ ได้จากหนังสือชุด "พระมหากษัตริย์กับดาราศาสตร์ไทย" ที่จัดพิมพ์โดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. โดยจำหน่ายเป็นชุดๆ 750 บาท