ชมภาพสวยๆ 3 มนุษย์อวกาศแลนดิงกลับโลกปลอดภัย
3 มนุษย์อวกาศของรัสเซียและนาซากลับสู่พื้นโลกอย่างปลอดภัยเมื่อเช้าวันที่ 28 ก.พ.นี้ พร้อมการต้อนรับน่าประทับใจตามธรรมเนียมคาซัคสถาน
อเล็กซานเดอร์ มิซูร์กิน (Alexander Misurkin) มนุษย์อวกาศขององค์การอวกาศรอสคอสมอส (Roscosmos) จากรัสเซีย พร้อมด้วย มาร์ก วานเด ไฮ (Mark Vande Hei) และ โจ อะคาบา (Joe Acaba) 2 มนุษย์อวกาศจากองค์การบริหารการบินอวกาศกลับถึงโลกอย่างปลอดภัย โดยแลนดิงลงจอดที่เมืองดเซซกาซกานที่ตอนกลางของประเทศคาซัคสถานเมื่อเวลา 09.31 น.ของวันที่ 28 ก.พ.2018 ตามกำหนด
มนุษย์อวกาศทั้ง 3 คนกลับสู่โลกหลังปฏิบัติภารกิจอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาตินานกว่า 5 เดือน โดยเอเอฟพีรายงานคำแถลงของรอสคอสมอสว่า ปฏิบัติการลดระดับผ่านชั้นบรรยากาศและการลงจอดของแคปซูลขนส่งนั้นเป็นไปตามแผน และสมาชิกลูกเรือที่กลับสู่โลกก็เป็นไปด้วยดี
ในส่วนของมิซูร์กินวัย 40 ปีนั้นได้ส่งต่อหน้าผู้บังคับสถานีอวกาศนานาชาติให้แก่เพื่อนร่วมชาติ อันตอน ชกาปเลรอฟ (Anton Shkaplerov) เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา แล้วเข้าควบคุมแคปซูลโซยุซ (Soyuz) ของรัสเซีย เพื่อนำส่งเขาและเพื่อนร่วมทางอีก 2 คนกลับโลก โดยเขาได้ใช้เวลาอยู่ในอวกาศจากการเดินทางไปกลับ 2 เที่ยวบินรวมทั้งหมด 334 วัน
มิซูร์กินยังบอกศูนย์ควบคุมของรัสเซียว่าเขารู้สึกเป็นปกติดีกว่าเพื่อนร่วมทางทั้งสอง และเขายังเป็นคนแรกที่โผล่ออกมาจากแคปซูลอวกาศ เพื่อสัมผัสพื้นโลกที่ปกคลุมไปด้วยหิมะขาวโพลน ส่วนคนที่ตามเขาออกมาจากแคปซูลคืออะคาบาที่อายุ 50 ปี และใช้เวลาในอวกาศร่วม 10 เดือนจากภารกิจในวงโคจร 3 ครั้ง และตามมาด้วย วานเด ไฮ มนุษย์อวกาศวัย 51 ที่เดินทางสู่อวกาศเป็นครั้งแรก
รายงานจากเอเอฟพีระบุด้วยว่าขณะที่ 2 มนุษย์อวกาศของนาซาสื่สารผ่านทวิตเตอร์ระหว่างอยู่บนสถานีอวกาศ แต่มิซูร์กินมนุษย์ของรัสเซียกลับเลี่ยงการใช้ไมโครบล็อกดังกล่าว โดยอะคาบาซึ่งมีเชื้อชาติเปอร์โตริโกได้ทวีตเมื่อวันอาทิตย์ที่ 25 ก.พ.ที่ผ่านมา พร้อมภาพถ่ายของโลกที่มองเห็นจากบนสถานีอวกาศผ่านช่องมองวิวของโมดูลสังเกตการณ์ “คูโพลา” (Cupola)
“อนาคตของบ้านหลังนี้อยู่ในมือของพวกเราทุกคน ขอให้เราใส่ใจ #โลก และปฏิบัติตัวเป็นผู้อาศัยที่ดี” เป็นข้อความที่อะคาบาทวีตพร้อมภาพโลกจากบนสถานีอวกาศ
สำหรับลูกเรือที่ยังคงประจำอยู่บนสถานีอวกาศตอนนี้ได้แก่ ชกาปเลรอฟจากรอสคอสมอส สก็อตต์ ทิงเกิล (Scott Tingle) จากนาซา และ นอริชิเกะ คานาอิ (Norishige Kanai) จากองค์การสำรวจการบินอวกาศญี่ปุ่น (Japan Aerospace Exploration Agency) หรือแจกซา (JAXA)
จากนั้นปลายเดือน มี.ค.นี้จะมีลูกเรือขึ้นไปสมทบบนสถานีอวกาศอีก คือ 2 มนุษย์อวกาศอเมริกัน ริคกี อาร์โนลด์ (Ricky Arnold) และ แอนดรูว เฟียสเทล (Andrew Feustel) กับอีก 1 มนุษย์อวกาศรัสเซีย โอเล็ก อาร์เทมเยฟ (Oleg Artemyev) ซึ่งจะขึ้นสู่วงโคจรจากฐานปล่อยจรวดไบโคนัวร์คอสโมโดรม (Baikonur cosmodrome) ในคาซัคสถาน
ทั้งนี้ นาซาหยุดนำส่งมนุษย์ขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติเองมาตั้งแต่ปี 2011 แต่ได้เพิ่มจำนวนลูกเรือให้เต็มจำนวนบนสถานีอวกาศ ในขณะที่รัสเซียต้องลดจำนวนลูกเรือของตัวเองบนสถานีอวกาศลงเพื่อควบคุมรายจ่าย แต่รัสเซียจะกลับมาส่งเรือให้เต้มจำนวนอีกครั้งเมื่อโมดูลอวกาศเอนกประสงค์ที่ชื่อ “นัวกา” (Nauka) เชื่อมต่อกับสถานีอวกาศนานาชาติได้ แต่การส่งโมดูลรุ่นใหม่นี้ต้องเลื่อนกำหนดไปหลายครั้ง โดยคาดว่ารัสเซียจะไม่สามารถส่งโมดูลนี้ได้ก่อนปี 2019 อย่างแน่นอน
สำหรับสถานีอวกาศนานาชาตินี้นับเป็นตัวอย่างความร่วมมือระดับนานาชาติระหว่างอเมริกันและรัสเซียที่ไม่เกิดขึ้นบ่อย โดยห้องปฏิบัติการบนอวกาศนี้โคจรรอบโลกด้วยความเร็ว 28,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมงมาตั้งแต่ปี 1998
ทีมช่วยเหลือภาคพื้นเข้าช่วยเหลือโจ อะคาบาออกจากแคปซูล (ALEXANDER NEMENOV / POOL / AFP)
มนุษย์อวกาศทั้ง 3 คนภายในแคปซูลหลังเพิ่งลงจอด (ALEXANDER NEMENOV / POOL / AFP)