xs
xsm
sm
md
lg

ภารกิจลูกเรือใหม่บนสถานีอวกาศทดลองวิทย์ 250 เรื่องใน 4 เดือน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยานโซยุซขนส่ง 3 มนุษย์อวกาศสู่สถานีอวกาศนานาชาติ
ลูกเรือชุดใหม่ของสถานีอวกาศนานาชาติเพิ่งไปถึงเป้าหมายในวงโคจรอย่างปลอดภัย ทว่าภารกิจอีก 4 เดือนต่อจากนี้พวกเขาต้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่ครอบคลุมหลากหลายสาขาราวๆ 250 เรื่อง ทั้งการศึกษาพาร์กินสัน การศึกษาเซลล์ต้นกำเนิด รวมถึงการปล่อยดาวเทียมขนาดเล็กเพื่อติดตามสภาพอากาศรุนแรง

ยานโซยุซ (Soyuz) ขององค์การอวกาศรัสเซียได้นำลูกเรือ 3 คน คือ แรนดี เบรสนิก (Randy Bresnik) มนุษย์อวกาศจากองค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) เซอร์กีย์ รยาซานสกี (Sergey Ryazanskiy) มนุษย์อวกาศรัสเซีย (Roscosmos) และเปาโล เนสโปลี (Paolo Nespoli) องค์การอวกาศยุโรป (European Space Agency)ไปถึงสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station) เมื่อคืนวันที่ 29 ก.ค.2017 ที่ผ่านมา

ลูกเรือชุดใหม่นี้ขึ้นสมทบสมาชิกเดิมที่ประจำอยู่ก่อนแล้วคือ ฟโยดอร์ ยัวร์ชิคิน (Fyodor Yurchikhin) มนุษย์อวกาศรัสเซียผู้รับหน้าที่ผู้บัญชาการคณะประจำการชุดที่ 52 (Expedition 52) บนสถานีอวกาศ เปกกี วิตสัน (Peggy Whitson) มนุษย์อวกาศจากนาซาผู้รับหน้าที่วิศวกรประจำเที่ยวบิน และ แจ็ค ชิสเชอร์ (Jack Fischer) มนุษย์อวกาศจากนาซา ทำให้ตอนนี้บนสถานีอวกาศมีสมาชิกรวม 6 คน

สำหรับภารกิจของสมาชิกใหม่ต่อจากนี้อีก 4 เดือน คือการทดสอบทางวิทยาศาสตร์ราวๆ 250 การทดลอง ซึ่งครอบคลุมทางด้านชีววิทยา โลกศาสตร์ การวิจัยเกี่ยวกับมนุษย์ วิทยาศาสตร์กายภาพและการพัฒนาเทคโนโลยี โดยชุดการทดลองวิทยาศาสตร์เรื่องใหม่จะมาถึงสถานีอวกาศ โดยการขนส่งของแคปซูลขนส่งเอกชนของสเปซเอกซ์ (SpaceX) ในเดือน ส.ค.นี้

ตัวอย่างการทดลองมีทั้งการศึกษาด้านพยาธิวิทยาของโรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease) ที่พัฒนาโดยมูลนิธิไมเคิล เจ ฟอกซ์ (Michael J. Fox Foundation) เพื่อช่วยพัฒนาการบำบัดรักษาแก่ผู้ป่วยบนโลก หรือการอาศัยสภาพแรงโน้มต่ำศึกษาเนื้อเยื่อใหม่ของปอด เพื่อศึกษาว่าเซลล์ต้นกำเนิดนั้นทำงานอย่างไร และเป็นการปูทางใการใช้สภาพแรงโน้มถ่วงต่ำนี้เพื่องานวิจัยเซลล์ต้นกำเนิดหรือสเต็มเซลล์ในอนาคต

นอกจากนี้มนุษย์อวกาศบนสถานีอวกาศยังจะประกอบและปล่อยดาวเทียมขนาดเล็ก (microsatellite) เพื่อศึกษาแนวคิดในการใช้ดาวเทียมขนาดเล็กในวงคจรระดับต่ำของโลกเพื่อใช้ในงานวิกฤติ เช่น การถ่ายภาพในสถานการณ์ที่เร่งรัดเวลาอย่างการติดตามสภาพอากาศที่รุนแรงหรือติดตามภัยพิบัติทางธรรมชาติ

ระหว่างประจำการนี้จะมียานขนส่งเสบียง เชื้อเพลิง อุปกรณ์เพืิ่อการยังชีพและการทดลอง อีก 2 เที่ยว คือยานออร์บิทัลเอทีเคซิกัส (Orbital ATK Cygnus) ที่จะปล่อยจากฐานปล่อยจรวดของนาซา และยานขนส่งเสบียงโปรเกรส (Progress) ของรัสเซีย ซึ่งเอเอฟพีตั้งข้อสังเกตว่าท่ามกลางวิกฤตความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และรัสเซีย ดูเหมือนความร่วมมือทางด้านอวกาศยังไปได้ด้วยดีอยู่
ยานโซยุซเชื่อมต่อสถานีอวกาศนานาชาติ
กำลังโหลดความคิดเห็น