xs
xsm
sm
md
lg

ตั้งชื่อไดโนเสาร์ร่างสวยตามคนทุ่มเวลาขุดฟอสซิลนาน 7,000 ชั่วโมง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพไดโนเสาร์กินพืชที่มีรูปร่างสมบูรณ์ที่สุดซึ่งได้รับความอนุเคราะห์จากฝ่ายบรรพชีวินวิทยา พิพิธภัณฑ์รอยัลไทร์เรลล์  ซึ่งจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ (Royal Tyrrell Museum of Paleontology / AFP)
ซากฟอสซิลไดโนเสาร์อายุ 110 ล้านปีที่ถูกหุ้มห่อไว้อย่างดี ใต้ผิวโลกในอุโมงค์เหมืองในแคนาดา ได้รับการตั้งชื่อแล้วตามชื่อคนขุดที่ใช้เวลา 7,000 ชั่วโมงเอาร่างฟอสซิลขึ้นมา และยังพบร่องรอยการดิ้นรนของไดโนเสาร์ชนิดนี้ในอดีต

จากซากผิวหนังและเกร็ดของมันทำให้สัตว์ดึกดำบรรพ์คล้ายมังกรนี้กลายเป็นไดโนเสาร์วงศ์โนโดซอร์ชนิดใหม่ที่ได้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า “บอรีเอโลเพลตา มาร์กมิตชิลลิ” (Borealopelta markmitchelli) ซึ่งตั้งตามชื่อนักเทคนิคของพิพิธภัณฑ์ ผู้ทุ่มเทเวลา 7,000 ชั่วโมงในการค่อยๆ เซาะหินออกจากตัวอย่างฟอสซิสด้วยความอุตสาหะ อย่าง มาร์ก มิตเชลล์ (Mark Mitchell)

เอเอฟพีอ้างตามรายงานในวารสารเคอร์เรนต์ไบโอโลจี (Current Biology) ที่อธิบายว่า ฟอสซิลนี้เป็นไดโนเสารห์ที่มีเกราะหุ้มที่สมบูรณ์ที่สุดเท่าที่เคยค้นพบมา และยังเป็นหนึ่งในตัวอย่างฟอสซิสที่สมบูรณ์ที่สุดในโลกอีกด้วย

เจ้าสิ่งมีชีวิตยาว 5.5 เมตร นี้ถูกเมื่อปี ค.ศ. 2011 โดยผู้ควบคุมเครื่องจักรขุดเจาะเหมืองชื่อว่า ชอว์น ฟังก์ (Shawn Funk) ผู้ทำงานอยู่ที่เหมือง ซังคอร์มิลเลนเนียม (Suncor Millennium) ในรัฐแอลเบอร์ตา แคนาดา โดยส่วนที่ค้นพบนั้นเป็นตั้งแต่จมูกไปถึงสะโพก ซึ่งคาดว่าน้ำหนักของไดโนเสาร์ตัวนี้น่าจะหนักกว่า 2,800 ปอนด์ หรือ 1,300 กิโลกรัม

ขณะที่ฟอสซิลไดโนเสาร์ส่วนใหญ่เป็นโครงกระดูกหรือกระดูกที่แตกออกมา แต่ไดโนเสาร์ตัวนี้อยู่ในสภาพที่มีสัดส่วนเหมือนวัตถุสามมิติที่ปกคลุมไปด้วยหนังเป็นเกล็ด

“ถ้าคุณหรี่ตาดู คุณเกือบจะเชื่อเลยว่ามันกำลังหลับอยู่” ความเห็นของ คาร์เลบ บราวน์ (Caleb Brown) หัวหน้าทีมศึกษาและนักวิทยาศาสตร์ของพิพิธภัณฑ์รอยัลไทร์เรลล์ (Royal Tyrrell Museum) ที่จัดแสดงฟอสซิลไดโนเสาร์ตัวนี้ และให้ความเห็นว่า ฟอสซิลนี้จะถูกบันทึกลงประวัติศาสตร์ทางวิทยาศาสตร์ว่าเป็นหนึ่งในตัวอย่างไดโนเสาร์หุ้มเกราะที่สวยและสมบูรณ์ที่สุด และเปรียบเสมือน “โมนาลิซา” ของไดโนเสาร์ก็เป็นได้

จากการศึกษาผิวหนังของไดโนเสาร์กินพืชที่มีเกราะหุ้มเหมือนรถถังเดินได้นี้ นักวิจัยค้นพบว่า
มีความเป็นไปได้ว่าไดโนเสาร์หุ้มเกราะชนิดนี้จะถูกรุกรากอย่างหนักจากไดโนเสาร์กินเนื้อ ซึ่งข้อสรุปนี้ได้จากการที่นักวิจัยพบว่าไดโนเสาร์นี้ใช้เทคนิคการพลางตัวแบบหักล้างแสง (counter-shading) ซึ่งเป็นการพรางตัวแบบที่พบในสัตว์ปัจจุบันหลายชนิด

จากการวิเคราะห์ทางเคมีเพื่อหาองค์ประกอบอินทรีย์ในเกล็ดของไดโนเสาร์ตัวนี้ ได้เผยลักษณะการเกิดเม็ดสีของไดโนเสาร์ที่เป็นทั้งสกุลใหม่และสปีชีส์ใหม่ตัวนี้ว่า มีผิวหนังที่มีเม็ดสีน้ำตาลแดง และลักษณะการพราวตัวแบบหักล้างแสงทั่วทั้งตัว ซึ่งนักวิจัยกล่าวว่า อาจจะช่วยให้ไดโนเสาร์กลมกลืนไปกับสิ่งแวดล้อมเมื่อเผชิญกับนักล่าที่ตัวสูงกว่า

ทว่าสิ่งมีชีวิตในปัจจุบันส่วนใหญ่ที่มีการพรางตัวแบบหักล้างแสงอย่าง กวาง ม้าลาย หรือตัวอาร์มาดิลโล มักมีขนาดตัวที่เล็กกว่าและเสี่ยงต่อการเป็นเหยื่อของนักล่ามากขึ้น จึงเป็นสัญญาณบอกว่าโนโดซอรัสชนิดนี้อาจต้องดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอดอย่างยากลำบาก และบราวน์ยังให้ความเห็นอีกว่าการล่าอย่างดุเดือดโดยที่เหยื่อมีเกราะขนาดมหึมาและหนาทึบนั้น เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าไดโนเสาร์นักล่าในยุคคลีเตเชียสนั้นอันตรายขนาดไหน

นักวิทยาศาสตร์ยังคงศึกษาโนโดซอร์สกุลใหม่นี้เพื่อหาเบาะแสเกี่ยวกับชีวิตของไดโนเสาร์ชนิดนี้ รวมทั้งศึกษาเครื่องในที่ยังถูกรักษาไว้ เพื่อหาคำตอบว่าสิ่งที่ไดโนเสาร์ตัวนี้กินเป็นมื้อสุดท้ายคืออะไร และพวกเขาเชื่อว่าตอนไดโนเสาร์ตัวตายได้ตกลงไปในแม่น้ำ ก่อนถูกพัดพาออกไปยังทะเล แล้วหงายท้องจมลงสู่ก้นทะเล

ในช่วงเวลาที่ไดโนเสาร์ตัวนี้ตายลงนั้นบริเวณแอลเบอร์ตามีอากาศอบอุ่นเหมือนฟลอริดาใต้ในปัจจุบัน และทะเลกับแม่น้ำก็คงแผ่ขยายเข้ามาในผืนดินมากกว่าปัจจุบัน สำหรับการค้นพบไดโนเสาร์ตัวนี้ได้ถูกเผยแพร่ต่อสาธารณชนมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา แต่ตอนนั้นยังไม่ได้ตั้งชื่อให้ไดโนเสาร์ตัวนี้อย่างเป็นทางการ
ภาพหัวไดโนเสาร์กินพืชที่มีรูปร่างสมบูรณ์ที่สุดซึ่งได้รับความอนุเคราะห์จากฝ่ายบรรพชีวินวิทยา พิพิธภัณฑ์รอยัลไทร์เรลล์  ซึ่งจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ (Royal Tyrrell Museum of Paleontology / AFP)
ภาพวาดจำลองไดโนเสาร์กินพืชที่มีรูปร่างสมบูรณ์ที่สุดซึ่งได้รับความอนุเคราะห์จากฝ่ายบรรพชีวินวิทยา พิพิธภัณฑ์รอยัลไทร์เรลล์  ซึ่งจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ (Royal Tyrrell Museum of Paleontology / AFP)
กำลังโหลดความคิดเห็น