xs
xsm
sm
md
lg

เก็บ “กบตัวใส” ในโหลมา 20 ปี ศึกษาดีๆ พบเป็นสปีชีส์ใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 ดิเอโก ซิสเนอรอส (JUAN CEVALLOS / AFP)
เก็บ“กบตัวใส” ใส่โหลที่ห้องปฏิบัติการในเอกวาดอร์นาน 20 ปี แต่หลังจากนักชีววิทยานำมาศึกษาจึงได้ทราบว่ากบดังกล่าวเป็นสปีชีส์ใหม่

กบดังกล่าวมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า “ไฮยาลิโนบาแทรเชียม ยากุ” (hyalinobatrachium yaku) ซึ่งสามารถมองทะลุผิวหนังใต้ท้องจนเห็นอวัยวะด้านในรวมถึงหัวใจสีแดงได้ และเป็นสปีชีส์ใหม่ของ “กบกระจก” (glass frog)

ดิเอโก ซิสเนอรอส (Diego Cisneros) นักชีววิทยา และคณบดีคณะชีววิทยา มหาวิทยาลัยซานฟรานซิสโกในกีโต (Quito's San Francisco University) ในเอกวาดอร์ บอกเอเอฟพีว่า เขาพบกบกระจกตัวนี้ซึ่งมีขนาดเล็กไม่ถึง 1 นิ้วที่ป่าอะเมซอนเมื่อปี 1998 แต่เขาไม่ได้จำแนกชนิดกบดังกล่าวจนกระทั่งเขาเห็นภาพกบแบบเดียวกันในเฟซบุ๊กเมื่อปี 2015 ที่พบโดยนักวิทยาศาสตร์กลุ่มอื่น เขาจึงได้จำแนกชนิดกบนี้แล้วพบว่าเป็นสปีชีส์ใหม่

หลังจากกบชนิดใหม่นี้ถูกดองอยู่ในโหลเก็บไว้ที่ห้องปฏิบัติการของมหาวิทยาลัยนานเกือบ 2 ทศวรรษ ในที่สุดการค้นพบของซิสเนอรอสก็ได้ตีพิมพ์ลงวารสารวิชาการเมื่อเดือนที่ผ่านมา

แม้ว่าจะมีกบตัวใสที่มองทะลุตัวได้ แต่มีไม่กี่ชนิดที่สามารถมองทะลุจนเห็นหัวใจขณะเต้นอยู่ได้ โดย ฌอน มานูเอล กัวยาซามิน (Juan Manuel Guayasamin)
นักชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยซานฟรานซิสโกในกีโตบอกว่ามีสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกเพียง 0.2% เท่านั้นมีตัวใสจนมองเห็นหัวใจได้

ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าความใสของตัวนี้อาจใช้เพื่อหลบจากนักล่า ขณะที่กัวซายามินให้ความเห็นว่า เป็นไปได้ที่ลักษณะท้องใสของกบนั้นอาจเพื่อช่วยลดการใช้พลังงาน เพราะไม่ต้องมีกระบวนการสร้างสารให้ตัวทึบ

สำหรับกบในเอกวาดอร์นั้นค่อนข้างตกในอยู่ภาวะวิกฤตเนื่องจากการตัดไม้ทำลายป่า การก่อสร้าง การขุดเจาะน้ำมันและการทำเหมือง โดยซิสเนอรอสกล่าวว่า กบชนิดใหม่นี้เป็นตัวแทนของความสำคัญในการรักษาทรัพยากรน้ำ เนื่องจากกบไฮยาลิโนบาแทรเชียม ยากุนี้ต้องอาศัยอยู่ในแม่น้ำที่สะอาดเพื่อจะอยู่รอดและสืบเผ่าพันธุ์ต่อไป

“ผิวหนังของกบที่ไวต่อสัมผัสและหายใจได้นี้ จึงอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม ซึ่งเป็นเหตุให้สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกนี้สูญพันธุ์ได้ง่ายๆ” ซิสเนอรอสกล่าว
ตัวอย่างกบสปีชีส์ใหม่ที่ถูกเก็บไว้ในห้องปฏิบัติการนานถึง 20 ปี ก่อนจะได้รับการจำแนกชนิดในภายหลัง (JUAN CEVALLOS / AFP)
 ดิเอโก ซิสเนอรอส ถือโหลที่เก็บตัวอย่างกบสปีชีส์ใหม่ไว้ในห้องปฏิบัติการนานถึง 20 ปี  (JUAN CEVALLOS / AFP)
 ดิเอโก ซิสเนอรอส ถือโหลที่เก็บตัวอย่างกบสปีชีส์ใหม่ไว้ในห้องปฏิบัติการนานถึง 20 ปี  (JUAN CEVALLOS / AFP)
ตัวอย่างกบสปีชีส์ใหม่ที่ถูกเก็บไว้ในห้องปฏิบัติการนานถึง 20 ปี ก่อนจะได้รับการจำแนกชนิดในภายหลัง (JUAN CEVALLOS / AFP)
กำลังโหลดความคิดเห็น