xs
xsm
sm
md
lg

จุดประกายความหวัง “วัคซีนเอดส์” อีกตัวผ่านการทดสอบในคนระยะแรก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพยาต้านไวรัสที่ใช้รักษาการติดเชื้อเอชไอวีเมื่อปี 2006 (STUART PRICE / AFP)
จุดประกายความหวังในรอบ 3 ทศวรรษ นักวิจัยประกาศความสำเร็จกลางงานประชุมเอดส์โลกว่า “วัคซีนเอดส์” ผ่านการทดสอบในคนระยะแรก คาดจะได้รับการอนุมัติทดลองในคนระยะต่อไป

แดน บารอช (Dan Barouch) สมาชิกทีมวิจัยวัคซีนเอดส์แถลงต่อสื่อมวลชนระหว่างการประชุมวิชาการด้านเอชไอวี ณ กรุงปารีส ฝรั่งเศส ซึ่งจัดขึ้นระหว่าง 23-26 ก.ค.2017โดยสมาคมเอดส์นานาชาติ (International AIDS Society: IAS) ถึงความหวังของวัคซีนที่ได้ผ่านการทดสอบในมนุษย์ระยะแรก

บารอชเผยว่าการทดสอบในมนุษย์ 393 ราย ทั้งในสหรัฐฯ รวันดา อูกานดา แอฟริกาใต้และประเทศไทยว่า วัคซีนที่ได้รับการพัฒนานั้นเพิ่มการตอบสนองของแอนตีบอดี (antibody) หรือภูมิต้านทานทั้ง 100% ของผู้ที่ได้รับวัคซีน ข้อมูลที่ดูมีความหวังนี้บวกกับความก้าวหน้าของผู้เชี่ยวชาญอื่นๆ ในสาขานี้สนับสนุนความหวังว่า การพัฒนาวัคซีนเอดส์นั้นมีความเป็นไปได้

จากรายงานของเอเอฟพีรเชื่อว่าวัคซีนนั้นเป็นหนทางดีที่สุดที่จะหยุดยั้งการระบาดของไวรัสเอชไอวีที่มีผู้ได้รับเชื้อทั่วโลก 76.1 ล้านคนมานับตั้งแต่ยุคต้นๆ ของทศวรรษ 1980 และไวรัสดังกล่าวยังเป็นสาเหตุของโรคเอดส์ ซึ่งผู้เสียชีวิตจากโรคนี้แล้วประมาณ 35 ล้านคน

ข้อมูลจาก UNAIDS เผยว่าเมื่อปีที่ผ่านมาเพียงปีเดียวทั่วโลกมีคนติดเชื้อเอชไอวีเพิ่มขึ้นถึง 1.8 ล้านคน รวมแล้วมีคนที่ต้องใช้ชีวิตร่วมกับไวรัสเอชไอวี 36.7 ล้านคน ในจำนวนนั้นมี 19.5 ล้านคนที่เข้าถึงการรักษาเพื่อรับยาต้านไวรัส (anti-retroviral treatment: ART)

บารอชซึ่งเป็นผู้อำนวยการศูนย์ไวรัสวิทยาและวิจัยวัคซีน (Center for Virology and Vaccine Research) ของศูนย์การแพทย์เบธอิสราเอลดีโคเนส (Beth Israel Deaconess Medical Center) กล่าวที่สุดแล้วการควบคุมการระบาดของเชื้อเอชไอวีทั่วโลกต้องมีการพัฒนาวัคซีนที่ได้ผลและปลอดภัย ซึ่งตลอด 35 ปีของการระบาดมาถึงตอนนี้เพิ่งมีวัคซีนต้นแบบเพียง 4 ตัวที่ผ่านการทดสอบแล้วได้ผลในระบบคลีนิค

ทีมวิจัยของบารอชตั้งความหวังว่าวัคซีนต้นแบบของพวกเขาจะได้รับอนุมัติให้ทดสอบในการทดลองระยะถัดไป โดยวัคซีนของพวกเขาใช้ไวรัสหวัดเป็นตัวพา “แอนติเจน” (antigen) สารแปลกปลอมที่กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของผู้ได้รับให้ผลิตแอนติพอดีหรือภูมิต้านทานออกมาสู้ โดยวัคซีนนี้ถูกกระตุ้นด้วยโปรตีนที่เพิ่มระดับภูมิต้านทานของร่างกาย

การทดสอบวัคซีนนี้ในเบื้องต้นพบว่า วัคซีนต้นแบบป้องกันการติดเชื้อของลิงวอกในห้องปฏิบัติการได้ 66% ส่วนการทดสอบในมนุษย์พบว่า มีความปลอดภัยและกระตุ้นการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย แต่ทีมวิจัยก็ยังไม่ทราบแน่ชัดว่า วัคซีนนี้จะช่วยป้องกันการติดเชื้อในมนุษย์ได้หรือไม่ ทว่าข้อมูลจากการทดลองวัคซีนใหม่นี้สนับสนุนให้มีการทดสอบในวงกว้างขึ้น ซึ่งทีมวิจัยตั้งความหวังที่จะได้เริ่มทดสอบการสิ้นปีนี้ แต่ทั้งหมดนั้นขึ้นอยู่กับข้อมูลเพิ่มเติมที่ต้องรวบรวมภายในไม่กี่เดือนข้างหน้า

ด้าน ลินดา-เกล เบกเกอร์ (Linda-Gail Bekker) ประธานสมาคมเอดส์นานาชาติกล่าวถึงผลการทดสอบวัคซีนนี้ว่าเป็น “ข่าวใหญ่”

ขณะที่ตอนนี้ “ถุงยางอนามัย” นั้นเป็นด่านแรกที่จะช่วยป้องกันการติดเชื้อ ซึ่งส่วนใหญ่การติดเชื้อเกิดขึ้นผ่านการมีเพศสัมพันธ์และการสัมผัสเลือด

แอนโทนี เฟาชี (Anthony Fauci) ผู้อำนวยการสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อสหรัฐฯ (National Institute of Allergy and Infectious Diseases : NIAID) ในแมรีแลนด์ บอกเอเอฟพีว่าการพัฒนาวัคซีนนั้นเป็นเรื่องยากลำบากอย่างยิ่ง แต่หากทำสำเร็จก็จะพลิกกระดานอย่างสิ้นเชิง

ตอนนี้มีวัคซีนซึ่งเป็นความหวังอีกตัวในการป้องกันเชื้อเอชไอวี นั่นคือ HVTN 702 ซึ่งกำลังทดสอบในระดับคลีนิคขนาดใหญ่ที่แอฟริกาใต้ นอกจากนี้ภายในการประชุมยังมีงานวิจัยที่เผยว่าการฉีดยาชุดแบบคอกเทลเดือนละครั้งหรือ 2 เดือนต่อครั้งนั้นได้ผลใกล้เคียงกับการกินยารายวัน ซึ่งการกินยาที่ไม่ตรงเวลานั้นกระตุ้นให้เกิดการดื้อยาของเชื้อได้
การประชุมเอดส์โลกที่มีนักวิทยาศาสตร์จากทั่วโลกกว่า 6,000 คนเข้าร่วมที่กรุงปารีส ระหว่าง 23-26 ก.ค.นี้ (FRANCOIS GUILLOT / AFP)
กำลังโหลดความคิดเห็น