xs
xsm
sm
md
lg

คืบหน้าวิจัย “วัคซีนเอดส์” ฉีดกระตุ้นหลังเข็มแรก 15 เดือน ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันสูงสุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เริ่มคืบหน้า!! วิจัยวัคซีนป้องกันเอชไอวี พบฉีดวัควีนกระตุ้นหลังฉีดเข็มแรก 15 เดือน ช่วยภูมิคุ้มกันในเลือดและสารคัดหลั่งสูงกว่าการฉีดเข็มสองช่วงเวลาอื่น

วันนี้ (18 พ.ค.) ที่อาคารเฉลิมพระเกียรติ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล นพ.สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าว “วัคซีนเอชไอวี...หมากสำคัญในการป้องกัน” ว่า จากข้อมูลของโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) พบว่า ในปี 2558 ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีสะสม 36.7 ล้านคน เป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2.1 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตจากโรคเอดส์ 1.1 ล้านคน ส่วนสถานการณ์ในประเทศไทย แม้จะสามารถลดอัตราการติดเชื้อรายใหม่ในปี 2559 ลงเหลือแค่ 6,304 คน แต่เป็นอัตราที่ชะลอตัวลง นอกจากนี้ ใน 1 ชั่วโมงมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1 คน เสียชีวิต 2 คน โดยเสียชีวิตปีละ 1.5 หมื่นคน สะท้อนว่า มาตรการที่ดำเนินการอยู่อาจต้องเพิ่มอะไรเข้าไปด้วย และต้องดำเนินการอย่างเข้มข้น หากไม่ทำอะไรอนาคตเป็นปัญหาแน่ๆ อย่างการสวมถุงยางอนามัย พบว่า ลดลง สะท้อนจากการที่มีผู้ติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เพิ่มขึ้นทั้งหนองใน ซิฟิลิส และท้องในวัยรุ่น

“จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ พบว่า เป็นกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายร้อยละ 53 คู่สามีภรรยาที่มีคนหนึ่งติดเชื้อและนำมาติดต่อสู่คู่ของตนเกือบร้อยละ 30 ส่วนกลุ่มผู้ขายบริการทางเพศ ซึ่งอดีตเป็นกลุ่มที่มีปัญหามาก พบว่า มีไม่ถึงร้อยละ 10 และอีกประมาณร้อยละ 5 เป็นผู้ที่ใช้เข็มฉีดยาเสพติดร่วมกัน ซึ่งกลุ่มนี้มีความเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไป 5 เท่า และยังพบว่าคนที่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน เป็นผู้ที่มีเชื้อเอชไอวีอยู่แล้วเกือบร้อยละ 20 มากกว่าประชากรทั่วไป 20 เท่า จึงต้องมีมาตรการป้องกันการติดเชื้อรายใหม่อย่างเข้มข้นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายลดการติดเชื้อรายใหม่ไม่เกิน 1 พันคนต่อปี ภายในปี 2579 ซึ่งมีหลายวิธีการ โดยการวิจัยเกี่ยวกับวัคซีนก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่สำคัญ” นพ.สมาน กล่าว

ศ.พญ.พรรณี ปิติสุทธิธรรม หัวหน้าศูนย์วัคซีน (Vaccine Trial Center) คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า คณะเวชศาสตร์เขตร้อน ร่วมกับ สธ. และศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐอเมริกาในการผลิตวัคซีนป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีมานาน จนเมื่อปี 2546 มีการวิจัยในมนุษย์ระยะที่ 3 ในกลุ่มผู้ใหญ่ในชลบุรี และระยอง ทั้งที่ติดเชื้อและไม่ติดเชื้อจำนวน 1.6 หมื่นคน ผลคือสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้สูงขึ้น ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้ร้อยละ 31.2 เป็นเวลา 3 ปี ถือเป็นความสำเร็จครั้งแรกของโลกที่ทำให้มีความหวังว่า วัคซีนป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีสามารถเกิดขึ้นได้จริง แต่ต้องให้มีประสิทธิภาพในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันสูงกว่านี้และยาวนานกว่านี้ จึงได้มีการต่อยอดให้สามารถป้องกันได้ทุกสายพันธุ์ โดยทำการทดลองในแอฟริกาใต้ ซึ่งมีอุบัติการณ์สูง โดยใช้วัคซีนปูพื้นแอด 26 และกระตุ้นด้วยสารสังเคราะห์เลียนแบบเปลือกโปรตีนจีพี 140 ขณะนี้อยู่ในระยะที่ 2 จึงยังไม่ทราบผล

“ส่วนที่ต่อยอดในเมืองไทยในโครงการอาร์วี 306 เพื่อหาวัคซีนป้องกันเชื้อเอชไอวีสายพันธุ์อี ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีการระบาดมากในเมืองไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยทดลองในกลุ่มตัวอย่าง 360 คน และหาความแตกต่างของการฉีดวัคซีนกระตุ้นที่หลังจาก 12 เดือน 15 เดือน และ 18 เดือน หลังเข็มแรกพบว่า การฉีดกระตุ้นห่างกัน 15 เดือน ทำให้ภูมิคุ้มกันในเลือดและสารคัดหลั่งสูงกว่าช่วงอื่นอย่างมีนัยยะสำคัญ และคาดว่า ในปี 2560 - 2561 จะเห็นความคืบหน้า” ศ.พญ.พรรณี กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น