xs
xsm
sm
md
lg

กทม.ประกาศความพร้อมกวาดล้าง “เอดส์” ภายในปี 2573

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อม ผู้อำนวยการ โครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติแห่งภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ จัดบริการเชิงรุกเพื่อเข้าถึงกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อทุกๆ คน ให้มีโอกาสในการป้องกัน ด้วยการจัดบริการตรวจหาเชื้อเอชไอวีเคลื่อนที่ และบริการการเข้าถึงยาต้านไวรัสทันที ควบคู่ไปกับการดูแลรักษาสุขภาพอื่นๆ

เมื่อวันที่ 22 ก.ค. พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมกับ เอมอนน์ เมอร์ฟีย์ ผู้อำนวยการ โครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และคณะผู้บริหารจึงตระหนักถึงความสำคัญของการดำเนินงานที่เข้มแข็งของกรุงเทพมหานคร (กทม.) โดย กทม. ถือเป็นพื้นที่สำคัญซึ่งเป็นหัวใจหลักของการแก้ปัญหาเอดส์ของประเทศไทย เนื่องจากผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ใน กทม. มีมากถึงกว่าหนึ่งในสามของทั้งประเทศ ทั้งนี้ เพื่อคน กทม. เอง และเพื่อความสำเร็จในการยุติปัญหาเอดส์ของประเทศไทยในภาพรวม

กรุงเทพฯ ให้ความสำคัญกับนโยบายการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ โดยได้เพิ่มงบประมาณสนับสนุนการดำเนินการในปี 2560 และเป็น 1 ใน 26 เมืองจากทั่วโลกที่ประกาศปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมือในโครงการเร่งรัดมุ่งสู่เป้าหมาย 90-90-90 ภายในปี 2563 ในการประชุมครั้งประวัติศาสตร์ ณ กรุงปารีส เมื่อ 4 ปีก่อน ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญในความพยายามมุ่งสู่การยุติปัญหาเอดส์ภายในปี 2573 โดยตั้งเป้าหมายสำคัญคือ ร้อยละ 90 ของผู้ติดเชื้อเอชไอวีได้รับการวินิจฉัยโรคและทราบสถานะการติดเชื้อของตนเอง ร้อยละ 90 ของผู้ติดเชื้อฯ เข้าถึงยาต้านไวรัสและร้อยละ 90 ของผู้ติดเชื้อที่รับยาต้านไวรัส สามารถควบคุมไวรัสได้สำเร็จ

เพื่อที่จะผลักดันการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมาย 90-90-90 ดังกล่าว กทม. จึงได้ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) โครงการ President’s Emergency Plan for AIDS Relief (PEPFAR) โดยรัฐบาลสหรัฐอเมริกา กองทุนโลก ภาคประชาสังคม องค์กรชุมชน และภาคีต่างๆ ทำให้ในปัจจุบันมีจำนวนผู้ติดเชื้อ HIV ที่ได้รับการวินิจฉัยโรคและรับทราบสถานะการติดเชื้อของตนเองมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นจากร้อยละ 66 ในปี 2557 เป็นร้อยละ 79 ในปี 2559 ซึ่งใกล้เคียงกับเป้าหมายร้อยละ 90 แรกอย่างเป็นที่น่าพอใจ และส่งผลให้กรุงเทพมหานครได้รับการยอมรับถึงศักยภาพแห่งความเป็นผู้นำในการแก้ไขปัญหาโรคเอดส์ในระดับโลก โดยในวันที่ 23 - 26 กรกฎาคม 2560 นี้ กรุงเทพมหานครจะได้รับเกียรติให้ประกาศความสำเร็จของการดำเนินการดังกล่าวในเวทีการประชุม International AIDS Society Conference on HIV Science ครั้งที่ 9 ณ กรุงปารีส ซึ่งนับเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่ง

แม้ว่ากรุงเทพมหานครจะประสบความสำเร็จในการป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคเอดส์ แต่เราตระหนักดีว่ายังคงจำเป็นต้องมุ่งมั่นดำเนินการในเรื่องดังกล่าวต่อไปอย่างเข้มแข็ง เพื่อจัดการกับปัญหาการระบาดของเอชไอวีในมิติต่างๆ โดยเฉพาะในกลุ่มชายรักชาย ซึ่งคิดเป็นจำนวนมากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ติดเชื้อรายใหม่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เช่นเดียวกับกลุ่มวัยรุ่นที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูง

ทั้งนี้ ในเดือนมีนาคม 2560 กรุงเทพมหานคร ได้ริเริ่มโครงการนำร่องในการให้ยาป้องกันก่อนการติดเชื้อ หรือ PrEP แก่กลุ่มผู้มีความเสี่ยงสูง เช่น กลุ่มรักร่วมเพศ หรือกลุ่มผู้มีคู่รักที่ติดเชื้อ HIV ตามการแนะนำของ UNAIDS ซึ่งจากการศึกษาวิจัยพบว่า แม้การรับประทานยาจะไม่สามารถต้านการติดเชื้อได้เต็มร้อยแต่ก็สามารถลดความเสี่ยงได้มากกว่าร้อยละ 90

นอกจากนี้ กรุงเทพมหานคร ยังเป็นเมืองแรกๆ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่มีการให้บริการ PrEP ในสถานีอนามัยชุมชน กรณีตัวอย่างของโชค โชคดี ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มเสี่ยงที่ได้เข้าร่วมโครงการ PrEP เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ได้ให้ความเห็นว่าการรับยา PrEP เป็นเรื่องที่กระทำได้ง่าย ทำให้เกิดความสบายใจ และลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี โดยในปัจจุบันกรุงเทพมหานครเปิดให้บริการ PrEP แก่ประชาชนแล้ว 2 แห่ง และยังมีโครงการที่จะขยายการให้บริการดังกล่าว เพิ่มขึ้นเป็น 5 แห่งภายในปี 2560

กรุงเทพมหานครภูมิใจในความเป็นเมืองแห่งความหลากหลายและตระหนักดีว่าการติดเชื้อเอชไอวี สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกเชื้อชาติ และทุกสถานะ จึงได้ร่วมมือกับภาคีต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และชุมชนต่างๆ เพื่อเป็นพลังขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง ภายใต้นโยบาย การจัดบริการสำหรับทุกคนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” โดยสำนักอนามัย กรุงเทพมหานครได้ทำงานร่วมกับองค์กรภาคประชาสังคม ศูนย์บริการสาธารณสุขจำนวนเกือบ 50 แห่งจากทั้งหมด 70 แห่ง จัดบริการเชิงรุกเพื่อเข้าถึงกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อทุกๆ ให้มีโอกาสในการป้องกัน ด้วยการจัดบริการตรวจหาเชื้อเอชไอวีเคลื่อนที่ และบริการการเข้าถึงยาต้านไวรัสทันที ควบคู่ไปกับการดูแลรักษาสุขภาพอื่น ๆ อีกทั้งยังดำเนินโครงการนำร่องในการขยายบริการให้กับประชาชนทุกคนรวมถึงผู้ที่ไม่มีทะเบียนบ้านอยู่ในกรุงเทพมหานคร รวมทั้งแรงงานต่างด้าวด้วย ซึ่งหากประสบความสำเร็จก็จะมีการขยายการให้บริการเพิ่มมากขึ้นในอนาคตต่อไป

เราตระหนักดีว่าประชาชนในกรุงเทพมหานครทุกคนพร้อมรับมือกับความท้าทายนี้ และเราจะร่วมกันกล่าวลาโรคระบาดที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์นี้ไปด้วยกันในช่วงชีวิตของเรา
กำลังโหลดความคิดเห็น